xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “เห็ดเยื่อไผ่” ประโยชน์อื้อเป็นได้ทั้งยาโดปและเวชสำอาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิจัยพบ “เห็ดเยื่อไผ่” อุดมไปด้วยสารมีคุณประโยชน์สูงทุกส่วนประกอบ ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระยับยั้งมะเร็ง ป้องกันโรคสมองเสื่อม มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ลดริ้วรอย และเร่งผลิตเซลล์ผิวใหม่ อีกทั้งพบสารสำคัญที่สามารถนำมาผลิตยาโดปขนานเอกได้ เผยเร่งต่อยอดงานวิจัยผลิตอาหารเสริมและเวชสำอาง พร้อมส่งเสริมเกษตรกรเพาะเห็ดเยื่อไผ่ คาด 1 ปี คนไทยได้ใช้แน่

ดร.วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา มี ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา หัวหน้าโครงการวิจัยต้นแบบการผลิตเห็ดเยื่อไผ่ในสวนไผ่ครบวงจร ภายใต้ทุนสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบและสารสำคัญของเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์กระโปรงยาวสีขาว เพื่อนำความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้านต่างๆ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห (Dictyophora indusiata) เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศจีนมานาน เนื่องจากเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น บำรุงร่างกาย บำรุงสมอง และลดความดัน เป็นต้น ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการวิจัยพัฒนาเห็ดเยื่อไผ่มาเป็นเวลาหลายสิบปีจนสามารถผลิตเป็นการค้าได้เพียงประเทศเดียวในโลก เห็ดเยื่อไผ่นี้สามารถเติบโตได้เช่นกันในพื้นที่เขตร้อนชื้น เช่น เขตป่าไม้ไผ่ในประเทศไทย ซึ่งพบ มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เห็ดเยื่อไผ่กระโปรงยาว เห็ดเยื่อไผ่กระโปรงสั้น เห็ดเยื่อไผ่สีชมพู และเห็ดเยื่อไผ่สีส้ม

“อย่างไรก็ตามเห็ดนี้ยังพบตามธรรมชาติได้น้อย ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยการเพาะปลูกรวมถึงสรรพคุณของเห็ดเยื่อไผ่ เพื่อให้ผู้บริโภคและนักวิจัยได้เข้าใจถึงเห็ดเยื่อไผ่มากขึ้น โดยมีรายงานว่าคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางทางยาของเห็ดเยื่อไผ่นี้ขึ้นกับสายพันธุ์ และจากสรรพคุณทางยาและความนิยมบริโภคที่มากขึ้น ทำให้เห็ดเยื่อไผ่กลายเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดที่ได้กำลังรับความสนใจเพาะเลี้ยงในปัจจุบัน”

ดร.วรวิกัลยา กล่าวอีกว่า ทีมงานของ ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ประสบความสำเร็จในหาวิธีการเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์จีนกระโปรงยาวสีขาวรวมถึงวิธีการเก็บรักษาและการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว อีกทั้งได้ทำงานวิจัยร่วมกับทีมงานนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 โดยเก็บตัวอย่างเห็ดเยื่อไผ่แบบตูมมาจากแปลงวิจัยในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้วและนครราชสีมาเพื่อทำการศึกษาองค์ประกอบและสารสำคัญของเห็ดเยื่อไผ่ ในห้องปฏิบัติการแสงสยาม

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พบว่า เห็ดเยื่อไผ่ชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีโปรตีนร้อยละ 20 ไขมันร้อยละ 4-5 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 40-50 กรดอะมิโนมากกว่า 14 ชนิด และวิตามินอีกหลายชนิด ซึ่งเห็ดเยื่อไผ่นี้มีโปรตีนสูงกว่าเห็ดอื่นๆ เช่น เห็ดโคนมีโปรตีนร้อยละ 4.2 เห็ดฟางร้อยละ 3.4 เห็ดหอมสดร้อยละ 2.2 และเห็ดหูหนูร้อยละ 1.4 เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับการนำมาบริโภคเป็นโปรตีนที่ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ดังกล่าว นอกจากคุณค่าทางโภชนาการ ในแต่ละส่วนของเห็ดเยื่อไผ่ยังมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางชีวภาพที่แตกต่างกันไป

ในส่วนปลอกหุ้มดอกและหมวกดอกจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูง สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นได้หลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้อย่างหลากหลาย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น ส่วนเมือกหุ้มดอกเห็ด มีลักษณะเป็นเจลเข้มข้นที่อุดมไปด้วยกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) และอัลลันโทอิน (Allantoin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว เพิ่มความชุ่มชื้นฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ และยังพบกรดกลูโคนิค (Gluconic Acid) ที่สามารถเร่งการผลัดเซลล์ผิวที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเสริมการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น นุ่มนวล มีความยืดหยุ่นดี ลดริ้วรอยและช่วยเติมเต็มผิวที่หย่อนคล้อยโดยสารอัลลันโทอินจากเห็ดเยื่อไผ่นี้เป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในเมือกหอยทาก แต่จะมีความบริสุทธิ์และสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า ส่วนลำต้นและกระโปรงนั้น อุดมไปด้วยสารพอลิแซคคาไรด์พวกเบต้ากลูแคน (β-glucan) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ทั้งกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ในส่วนลำต้นนี้ยังพบสารดิกทิโอฟอรีน เอ และบี (Dictyophorines A and B) ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ยับยั้งมะเร็ง และ ยังเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาท และป้องกันโรคสมองเสื่อม นอกจากนั้นสปอร์เชื้อรา สีน้ำตาลเขียวขี้ม้า ที่มีกลิ่นค่อนข้างเหม็น ทีมวิจัย พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูงและพบสารสำคัญที่สามารถนำไปทำยาโดปได้

ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา กล่าวเสริมตอนท้ายว่าจากการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์จีนกระโปรงยาวสีขาวนี้อุดมไปด้วยสารสำคัญมากมายเหมาะสำหรับการนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ทั้งในวงการอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และรวมถึงวงการผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่สามารถพัฒนาให้มีคุณสมบัติทัดเทียมกับเยื่อเมือกหอยทาก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเห็ดเยื่อไผ่อีกด้วย โดยประโยชน์ดังกล่าวสอดรับกับกระแสรักษ์โลกและรักสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั่วโลก

“ทีมงานจะต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเห็ดได้อย่างแท้จริง โดยขณะนี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เพาะเลี้ยงเห็ดเยื้อไผ่เพื่อเป็นต้นแบบไว้เป็นจำนวนมาก และเตรียมสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่แห่งประเทศไทย และนำเสนอต่อ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่จะทำแปลงเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ให้มีผลผลิตสูง เพื่อรองรับการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และรวมถึงเวชสำอาง ที่นักวิจัยกำลังทดลอง คาดว่า อีก 1 ปีจะมีผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่ โดยทีมนักวิจัยนี้แน่นอน” ดร.วรวิกัลยา กล่าวโดยสรุป


ดร.วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ
ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา
กำลังโหลดความคิดเห็น