หนอนตัวแบนนิวกินี (New Guinea Flatworm) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Platydemus manokwari De Beauchamp, 1963 เป็นสัตว์ในกลุ่มเดียวกันกับหนอนตัวแบนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนบก เช่น พลานาเรียบกและหนอนหัวค้อน มีการดำรงชีวิตแบบอิสระและเป็นผู้ล่าสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร มีลักษณะลำตัวแบนและเรียวยาว ปลายด้านหัวแหลมกว่าด้านท้ายลำตัว บริเวณหัวส่วนต้นพบตา 1 คู่ ลำตัวยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร ด้านหลังมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีเส้นกลางลำตัวสีครีมหรือเหลืองอ่อนพาดยาวตลอดลำตัว ด้านท้องมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน มีปากและคอหอยอยู่กลางลำตัวด้านท้อง
หนอนตัวแบนนิวกินีมีถิ่นกำเนิดบริเวณเกาะปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย และแพร่กระจายไปตามหมู่เกาะแปซิฟิกข้างเคียง เนื่องจากพบว่าหนอนตัวแบนชนิดนี้สามารถล่าหอยทากบกเป็นอาหาร ทำให้มีการนำเข้าหนอนดังกล่าวเพื่อช่วยกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา( Achatina fulica ) ในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ล่าสุดหนอนชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานของโลก (World’s Worst Invasive Alien Species) เนื่องจากมีรายงานว่าหนอนดังกล่าวล่าหอยทากบกพื้นถิ่นเป็นอาหารด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนและความหลากหลายของหอยทากบกในพื้นที่นั้นลดลง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าหนอนชนิดนี้สามารถล่าไส้เดือนดิน หนอนริบบิ้น หนอนตัวแบนชนิดอื่นๆ เหาไม้ รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินขนาดเล็กเป็นอาหารได้ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในระยะยาว
หนอนตัวแบนนิวกินีขยายพันธุ์โดยการวางถุงไข่ ภายในมีตัวอ่อน 3-9 ตัว โดยใช้เวลา 6-9 วันในการฟักจากถุงไข่ และเมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์หนอนนิวกินีจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ได้อีกครั้ง จากรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยได้ถึง 2 ปีในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้หนอนตัวแบนนิวกินียังมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อน ๆ เมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันหนอนตัวแบนนิวกินีได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เชื่อว่าแพร่ระบาดไปกับดินเพาะปลูกและต้นไม้ประดับต่าง ๆ โดยมีรายงานพบในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรัฐฟลอริดาเมื่อปี ค.ศ. 2012 ในทวีปยุโรปพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 2013 และพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี ค.ศ. 2010