เผยการทดลองตัด “หนอนนิวกินี” ออกเป็น 5 ชิ้นตั้งแต่ 19 พ.ย.60 แต่ยังรอดชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้ สกว.-สกอ.และนักวิจัยจุฬาฯ ได้วางแนวทางศึกษาวิจัยหนอนตัวแบนต่างถิ่นเพื่อแนวทางควบคุม และให้ความรู้แก่สังคม
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และทีมวิจัยเผยการทดลองตัดชิ้นส่วน “หนอนตัวแบนนิวกินี” ออกเป็น 5 ชิ้น โดยเป็นส่วนหัว 1 ชิ้น ส่วนตัว 3 ชิ้น และส่วนหางอีก 1 ชิ้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พ.ย.60 โดยชิ้นส่วนทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่ แม้ไม่ได้รับสารอาหาร และพบว่าส่วนหัวมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด
ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าวได้จัดแสดงระหว่างการแถลงข่าว “หนอนตัวแบนนิวกินี: แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด” โดยความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการวิจัยให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน “หนอนตัวแบนนิวกินี” แก่สังคมวิชาการและประชาชนทั่วไป เมื่อ 1 ธ.ค.60 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ