xs
xsm
sm
md
lg

รวมเครือข่ายนักวิจัยอาเซียนศึกษา “หนอนตัวแบนนิวกินี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และ รศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช
สกว.-สกอ.และนักวิจัยจุฬา ระดมเครือข่ายอาเซียนศึกษา “หนอนตัวแบนนิวกินี” หาแนวทางควบคุมและให้ความรู้แก่สังคม โดยมี “ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา” เป็นแกนนำ เบื้องต้นได้รับข้อมูลจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และปาปัวนิวกีนี รวมถึงข้อมูลจากญี่ปุ่นที่พบการระบาดมา 7-8 ปีแล้ว

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันแถลงข่าว “หนอนตัวแบนนิวกินี: แนวทางการวิจัยเพื่อให้ความรู้แก่สังคม และเพื่อการควบคุมการระบาด” เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการวิจัยให้ความรู้และควบคุมสัตว์ต่างถิ่นรุกราน “หนอนตัวแบนนิวกินี” แก่สังคมวิชาการและประชาชนทั่วไป เมื่อ 1 ธ.ค.60 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานนำไปสู่การสร้างความรู้ที่ชัดเจน ตลอดจนการพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในหลายมิติ เพื่อช่วยให้การควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการสากล ซึ่งจากการปรึกษาหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหลายภาคส่วน ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหนอนตัวแบนนิวกินี ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่ สกว. ได้ให้การสนับสนุน

“สกว.ยินดีที่จะสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ควบคุม และกำจัดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ซึ่งควรมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตั้งโจทย์วิจัยที่ชัดเจน มีการทำวิจัยอย่างจริงจัง และสามารถนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับทราบเพิ่มเติมเพื่อการป้องกัน ควบคุม และเฝ้าระวัง โดยคาดหวังว่าด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จะทำให้สามารถผลิตองค์ความรู้และผลงานที่วิจัยที่เกี่ยวข้องกับหนอนตัวแบนนิวกินีและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ และสามารถนำผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ ด้านสาธารณะ ด้านนโยบาย หรือด้านอื่นๆ โดยส่วนหนึ่งจะได้นำมาเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบในโอกาสต่อไป”

ทั้งนี้ ในการวิจัยนั้น สกว.จะสนับสนุนให้ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนนำในการศึกษาวิจัย

ด้าน ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวถึงแนวทางในการวิจัยว่า จะรวมเครือข่ายนักวิจัยในอาเซียนเพื่อศึกษาหนอนตัวแบนชนิดนี้ ซึ่งเบื้องต้นได้รับข้อมูลจากนักวิจัยในสิงคโปร์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี รวมถึงนักวิจัยจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นพื้นที่มีการระบาดของหนอนตัวแบนชนิดนี้มาประมาณ 7-8 ปี โดยมีแนวทางการวิจัยเพื่อตอบคำถามในหลายเรื่อง เช่น การวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าหนอนตัวแบนนิวกินีนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะปาปัวนิวกินีหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วมีถิ่นอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ (mainland) ศึกษาพฤติกรรมการล่าเหยื่อว่ากินสัตว์หน้าดินอย่างนอกจากหอยด้วยหรือไม่ มีผู้ล่าหนอนนตัวแบนนิวกินีในธรรมชาติอะไรบ้าง ศึกษาปรสิตในตัวหนอน และใช้ข้อมูลการตรวจดีเอ็นเอเพื่อตำคำถามที่สงสัย

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นนั้นมีทั้งรุกรานและไม่รุกราน และยังสี่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกรานที่น่ากลัวกว่าหนอนตัวแบนนิวกินีอีกมาก ซึ่งจริงๆ แล้วสปีชีส์ต่างๆ นั้นจะถูกพัดพาไปมาอยู่ตลอด แต่การพามาโดยมนุษย์นั้นเป็นความตั้งใจที่อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุล โดยการเข้ามาของสปีชีส์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนนั้นมีทั้งแพร่กระจายโดยความสามารถของชนิดพันธุ์เอง เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติพัดพาไป หรือการนำเข้ามาโดยมนุษย์

“แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากต้องการกำจัดให้ใช้เกลือโรย หรือใช้น้ำร้อนเทราด ห้ามกำจัดโดยการสับหรือทุบเพราะลำตัวสามารถงอกใหม่ได้ สำหรับภาคเกษตรกรรมนั้นปัจจุบันถือว่าไม่ได้เป็นศัตรูทางการเกษตร แต่ต้องเฝ้าระวังและสำรวจบริเวณแปลงเกษตรกรรมเพื่อประเมินผลกระทบ อีกทั้งควรมีการตรวจเช็คและห่อบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยก่อนการขนส่ง” เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวสรุป
 ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา

ข้อมูลหนอนตัวแบนนิวกินีล่าหอยทากเปลือยในสิงคโปร์
ลักษณะหนอนตัวแบนนิวกินี
ในช่วงกลางวันหนอนตัวแบนนิวกินีจะหลบตามซอก
กำลังโหลดความคิดเห็น