xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบที่ร้อนแรงของยานอวกาศ Cassini และอนาคตของการสำรวจดาวเสาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจำลองยานแคสสินีขณะผ่านเข้าสู่วงแหวนชั้นในของดาวเสาร์ก่อนปิดฉากภารกิจ (NASA/JPL-Caltech)
เมื่อเวลา 4.55 นาฬิกา (เวลาในแคลิฟอร์เนีย) ของวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ยานอวกาศ Cassini ของ NASA ได้จบชีวิตการสำรวจดาวเสาร์ และดวงจันทร์บริวาร หลังจากที่ได้โคจรวนรอบดาวเสาร์ 293 รอบ นับตั้งแต่ได้เริ่มออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.2004 ไปได้ระยะทางไกล 8,000 ล้านกิโลเมตร เป็นเวลา 13 ปี ได้ถ่ายภาพร่วม 450,000 ภาพ ได้พบดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 7 ดวง จากทั้งหมดที่มี 62 ดวง ได้เห็นดวงจันทร์ Enceladus และ Titan ว่ามีศักยภาพพอจะเป็นดาวที่มีสิ่งมีชีวิตนอกโลก ฯลฯ และเมื่อยานใกล้จะหมดเชื้อเพลิง NASA ได้บังคับให้ยานทำลายตนเองด้วยการพุ่งด้วยความเร็ว 34 กิโลเมตร/วินาที ลงเสียดสีกับบรรยากาศของดาวเสาร์ จนตัวยานซึ่งทำด้วยอลูมิเนียม และพอลิเมอร์เป็นวัสดุหลักถูกเผาไหม้กลายเป็นดาวตกเหนือฟ้าของดาวเสาร์ แต่ยานก็ยังได้ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุกลับมายังโลก ตราบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

ยาน Cassini ได้รับการตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ผู้มีชื่อว่า Giovanni Cassini ซึ่งได้ไปทำงานในฝรั่งเศส เพราะได้รับการเชื้อเชิญจากพระเจ้า Louis ที่ 14 ซึ่งมีพระฉายาว่า Sun King ให้เป็นผู้อำนวยการที่หอดูดาวแห่ง Paris เพราะมีผลงานดาราศาสตร์ที่โดดเด่นมากมาย เช่น ได้พบเวลาที่ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคารใช้ในการหมุนรอบตัวเอง ได้พบดวงจันทร์ 4 ดวงของดาวเสาร์ คือ Iapetus ในปี 1671 ดวงจันทร์ Rhea ในปี 1672 และดวงจันทร์ Dione กับ Tethys ในปี 1684 ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งของ Cassini ในการศึกษาดาวเสาร์ คือ ในปี 1675 เขาได้พบช่องว่างระหว่างวงแหวนของดาวเสาร์ที่มีชื่อเรียกว่า Cassini’s division ซึ่งแบ่งวงแหวนออกเป็นสองส่วน และยังได้คำนวณระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ยได้ค่าประมาณ 140 ล้าน กิโลเมตร (ต่ำกว่าค่าจริง 7%) ซึ่งบอกให้ผู้คนในสมัยนั้นรู้ขนาดของระบบสุริยะเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังได้วัดขนาดและรูปทรงของโลกจนพบว่าไม่กลม คือ ป่องตรงบริเวณเส้นศูนย์สูตร ความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้ Cassini เป็นคู่แข่งคนสำคัญของ Newton และทำให้ได้รับเชิญให้ไปทำงานดาราศาสตร์ในฝรั่งเศสเพื่อแข่งกับ Newton ในอังกฤษ ในบั้นปลายชีวิต ตาทั้งสองข้างของ Cassini บอดสนิท และเสียชีวิตในปี 1712 สิริอายุ 87 ปี

แม้ยาน Cassini จะดับสูญไปแล้ว แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำงานในโครงการ Cassini มานานเป็นเวลาร่วม 30 ปีก็ยังเดินหน้าต่อไป เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากยาน ตลอดจนถึงต้องวางแผนไปสำรวจดวงจันทร์ Enceladus กับ Titan ในอนาคตด้วย

เพราะในปี 2005 ยาน Cassini ได้โคจรผ่าน Enceladus ที่ระยะใกล้ และพบว่าบริเวณขั้วใต้ของดาวมีอุณหภูมิสูงกว่าขั้วเหนือ อีก 10 ปีต่อมา เมื่อยานโคจรผ่าน Enceladus อีกคำรบหนึ่งที่ระยะใกล้ 500 กิโลเมตร ยานได้เห็นน้ำพุร้อนพุ่งออกมาจากรอยแยกของผิวน้ำแข็ง การวิเคราะห์องค์ประกอบของของเหลวที่ถูกพ่นออกมาแสดงให้เห็นว่า มันเป็นน้ำปนแอมโมเนีย เกลือ คาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า ในทะเลใต้น้ำแข็งของ Enceladus มีภูเขาไฟ เพราะมีการพบสาร silica ในน้ำพุร้อน และการที่ silica จะถือกำเนิดได้ อุณหภูมิของน้ำที่เป็นแหล่งให้กำเนิดมันจะต้องสูงใกล้จุดเดือด ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จะมีสิ่งมีชีวิตในทะเลบน Enceladus

ในสมัยก่อนที่ Cassini จะพบทะเลใต้ผิวของ Enceladus นักดาราศาสตร์เคยเชื่อกันว่า ในระบบสุริยะมีแต่โลก และดวงจันทร์ Europa ของดาวพฤหัสบดีเท่านั้นที่มีทะเล การค้นพบทะเลโดยยาน Cassini จึงมีความสำคัญมาก เพราะได้ปฏิรูปความรู้ของเราเกี่ยวกับระบบสุริยะพอสมควร

ยาน Cassini ยังมียานลูกชื่อ Huygens ที่ได้ถูกปล่อยลงสำรวจดวงจันทร์ Titan ด้วย ยานตั้งชื่อตาม Christiaan Huygens ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ที่โชคไม่ดี เพราะเกิดร่วมยุคกับ Isaac Newton นั่นคือถ้าโลกนี้ไม่มี Newton Huygens ก็ได้เป็นนักฟิสิกส์ระดับซุปสตาร์ในสมัยนั้นไปแล้ว Huygens เกิดเมื่อปี 1629 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) บิดาเป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากในเนเทอร์แลนด์ และเป็นลูกที่บิดามีความภูมิใจมากจนถึงกับเรียก Huygens ว่าเป็น Archimedes ของพ่อ ผลงานที่โดดเด่นของ Huygens คือ การสร้างนาฬิกา pendulum ที่เดินได้เที่ยงตรง ในปี 1656 เมื่อได้พบว่า ถ้าลูกตุ้มแกว่งตามเส้นโค้ง cycloid ที่ไม่ใช่ส่วนโค้งของวงกลม นาฬิกาที่ Huygens ประดิษฐ์นี้ได้กลายเป็นนาฬิกาจับเวลาที่ดีที่สุดในโลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 17

สำหรับผลงานดาราศาสตร์นั้น Huygens คือคนที่พบดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์เป็นคนแรก ในปี 1655 หลังจากที่ได้พบวิธีที่ดีในการฝนแก้วทำเลนส์ และใช้เลนส์สร้างกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัส 7 เมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพดีมากจนสามารถเห็นวงแหวนล้อมรอบดาวเสาร์ได้ชัด หลังจากที่ใครๆ รวมถึง Galileo เคยเห็นว่า ดาวเสาร์มีลักษณะไม่เหมือนกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ของระบบสุริยะ เพราะบางเวลามีรูปร่างไม่กลม และเปลี่ยนรูปร่างคือไม่คงตัวในเวลาต่อมา บางครั้งเห็นเสมือนมีดาวขนาดเล็ก 2 ดวงโคจรอยู่ใกล้ดาวเสาร์ แต่บางครั้งก็ไม่เห็น ฯลฯ Huygens จึงใช้จินตนาการแบบก้าวกระโดด โดยเสนอความเห็นว่า ดาวเสาร์มีวงแหวนล้อมรอบ และการที่ดาวเสาร์ดูมีรูปร่างต่างๆ นั้น เพราะวงแหวนของมันเอียงทำมุมต่างๆ กับระดับสายตาของคนบนโลก เช่น ถ้าตาคนดูอยู่ในแนวเดียวกับระนาบของวงแหวน เขาก็จะไม่เห็นวงแหวน คือ เห็นเฉพาะขอบ และเวลาโลกโคจรอยู่เหนือหรือใต้ระนาบของวงแหวน แถบวงแหวนก็จะดูกว้างและกลม

แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Huygens คือ การพบว่าแสงเป็นคลื่นชนิดหนึ่ง ความเห็นนี้จึงขัดแย้งกับความคิดของ Newton ผู้เชื่อว่า แสงเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กต่างๆ กัน และเคลื่อนที่เร็วมาก ในตำรา Treatise on Light ที่ Huygens เขียน เขาได้บรรยายว่า ในอวกาศมีสาร ether และแสงจะเคลื่อนที่ไปใน ether ในลักษณะคลื่นที่แผ่ออกไปเป็นวงกลม โดยมีหน้าคลื่น (wavefront) จากนั้นจุดทุกจุดบนหน้าคลื่นจะทำหน้าที่ปล่อยหน้าคลื่นต่อออกไปเรื่อยๆ แต่ Newton ไม่เชื่อเช่นนั้น จึงโจมตีทฤษฎีคลื่นของแสงที่ Huygens เสนอ ในตำรา Optick ที่ Newton เขียนในปี 1704 คนทั้งสองจึงเป็น “ศัตรู” ทางความคิดกัน การค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของแสงนี้ในเวลาต่อมาปรากฏว่า คนทั้งสองมีส่วนถูก เพราะทั้งอนุภาคและคลื่นต่างก็เป็นสมบัติของแสง ในทำนองเดียวกับการที่เหรียญมีสองหน้า

โลกดาราศาสตร์ในช่วงเวลานั้นจึงมีบรรยากาศ “การแข่งขันกัน” มาก เพราะที่ปารีสมี Cassini ซึ่งเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ผู้ชอบสำคัญตนว่าเป็นชาวฝรั่งเศส (แต่จริงๆ เป็นชาวอิตาเลียน) และชอบทำงานระดับอภิมโหฬาร เช่น ศึกษาดวงอาทิตย์ จนพบว่า ดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าโลกมาก ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นใครๆ ก็คิดว่า โลกมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอกภพ และได้พบอีกว่านอกจากดวงอาทิตย์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีต่างก็มีขนาดใหญ่กว่าโลกด้วย ข้อมูลเหล่านี้ทำให้โลกดู “กระจอก” ไปในพริบตา แต่ Cassini ก็รู้อะไรผิดๆ หลายเรื่อง เช่น ไม่เชื่อทฤษฎีของ Copernicus ที่ว่า ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะ และไม่เชื่อว่าแสงมีความเร็วตามที่ Ole Römer วัดได้ เพราะเขาเชื่อว่าความเร็วแสงมีค่ามากถึงอนันต์ เขาจึงมีความคิดผิดๆ หลายเรื่อง และมีอีกเรื่องหนึ่งที่ความคิดของ Cassini ได้ถูกลบล้าง นั่นคือ ในปี 1667 เขาได้กำหนดว่า เพราะฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของโลกวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงต้องมีเส้นแวงที่ 0 องศา ลากผ่านหอดูดาวในกรุงปารีสที่มีเขาเป็นผู้อำนวยการ ก่อนนั้นในปี 1506 ซึ่งเป็นเวลาที่โปรตุเกสเป็นมหาอำนาจทางทะเล เส้นแวงที่ 0 องศาถูกกำหนดให้ลากผ่านหมู่เกาะ Madeira ของโปรตุเกส) แต่เมื่อถึงปี 1884 ซึ่งเป็นเวลาที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์บ้าง เส้นแวงที่ 0 องศาได้ถูกกำหนดให้ลากผ่านเมือง Greenwich ที่ยังเป็นที่ยอมรับกันจนทุกวันนี้

การค้นพบว่าดวงจันทร์ Enceladus และ Titan มีโอกาสจะมีสิ่งมีชีวิต ได้ทำให้ยาน Cassini ต้องพบจุดจบด้วยการพุ่งทำลายตนเอง เพราะ NASA ไม่ต้องการให้ยาน Cassini หลังจากที่หมดเชื้อเพลิงแล้วต้องเคว้งคว้างลอยไปในอวกาศ และอาจตกลงสู่ดวงจันทร์ทั้งสอง ซึ่งจะทำให้มันปนเปื้อนด้วยสิ่งมีชีวิตจากโลก

ในขั้นตอนของการฆ่าตัวตายนั้น NASA ได้ตั้งชื่อของเหตุการณ์ว่า Grand Finale โดยบังคับให้ยาน Cassini โคจรผ่านเข้าไปในบริเวณที่ว่างระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน และพบว่า บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ๆ เกือบว่างเปล่า คือปราศจากอนุภาคใดๆ และตรวจพบว่า อนุภาคส่วนใหญ่ของวงแหวนเป็นผลึกน้ำแข็ง
ภาพจำลองขณธยานแคสสินีพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศดาวเสาร์และระเบิดเป็นเสี่ยงๆ (NASA)
ในการโคจรจำนวนหกรอบสุดท้าย Cassini ได้ทดลองให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกดักรับสัญญาณจาก Cassini ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (เพราะยานกำลังพุ่งเข้าหาโลก หรือหนีโลก) โดยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และวงแหวน ในแผนการเดิม NASA ได้กำหนดให้ยาน Cassini โคจรอยู่ไกลจากดาวเสาร์มากคืออยู่นอกวงแหวนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถแยกแยะอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และจากวงแหวนที่ล้อมรอบดาว แต่เมื่อให้ยานโคจรอยู่ระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน ข้อมูลที่ได้สามารถชี้บอกอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์และของวงแหวนแยกกันได้ ทำให้รู้อายุและมวลของวงแหวนว่าน้อยกว่า 100 ล้านปี และมีมวลไม่มาก วงแหวนจึงอาจเกิดจากการแตกแยกของดาวหางเวลาพุ่งชนดาวเสาร์ Cassini ยังได้พบว่าวงแหวนเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่สุดของดาวเสาร์ ประกอบด้วยก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กนับพันล้านก้อน และยังได้พบอีกว่า การเคลื่อนที่ของบรรดาสนามแม่เหล็กมีความเข้มและโครงสร้างซับซ้อนนี้แสดงให้เห็นว่า ลึกลงไปในดาวมีของเหลวที่ไหลวน และสนามแม่เหล็กที่มีนี้ทำให้ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวมีปรากฏการณ์แสงเหนือและแสงใต้

สะเก็ดก้อนน้ำแข็งสามารถทำให้วงแหวนมีรูปลักษณ์ไม่คงตัวคือเปลี่ยนรูปทรงได้ ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะแม้แต่ดวงจันทร์ Pan ที่มีขนาดเล็กที่สุดก็มีอิทธิพลต่อรูปร่างของวงแหวน โดยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง และ Prometheus ที่พบโดย S. Collins ในปี 1980 และมีขนาด 150 x 100 x 70 กิโลเมตรก็มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่ทำให้ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ จับกลุ่มกันเป็นก้อนขนาดใหญ่ ดังนั้นความหนาแน่นของวงแหวนจึงไม่สม่ำเสมอ

ข้อมูลที่ได้ในระยะสุดท้ายของการทำงาน แสดงให้เห็นว่าบริเวณผิวภายนอก และเนื้อภายในของดาวเสาร์หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วเชิงมุมที่แตกต่างกัน ลักษณะการหมุนเช่นนี้เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันในกรณีของดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงแตกต่างจากดาวพฤหัสบดีที่ทั้งผิวและเนื้อในหมุนไปด้วยความเร็วเชิงมุมเท่าๆ กัน ดาวเสาร์จึงแตกต่างจากดาวพฤหัสบดีมาก ทั้งๆ ที่ดาวทั้งสองดวงถือกำเนิดในเวลาไล่เลี่ยกัน

การโคจรใกล้บรรยากาศที่ห่อหุ้มดาวเสาร์ได้ช่วยให้อุปกรณ์ magnetometer บนยาน Cassini วัดความเข้มสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์ได้อย่างอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก ดังได้กล่าวแล้วว่า องค์ประกอบหลักของดาวเสาร์เป็นแก๊สเหลว ที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วต่างกัน ดังนั้น การวัดเวลาหนึ่งวันบนดาวเสาร์ว่านานเท่าใด จึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์จึงหันมาใช้วิธีวัดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กแทน และพบว่า 1 วันบนดาวเสาร์นานตั้งแต่ 10.6 – 10.8 ชั่วโมง การวัดความเข้มสนามแม่เหล็กยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า แกนแม่เหล็กของดาวเสาร์ซ้อนทับกับแกนที่มันหมุนรอบตัวเองหรือไม่ และได้พบว่า แกนทั้งสองซ้อนทับเสมือนเป็นแกนเดียวกัน คือ ทำมุมกันประมาณ 0.015 องศา การที่สนามแม่เหล็กมีความเข้มและโครงสร้างซับซ้อนนี้แสดงให้เห็นว่า ลึกลงไปในดาวมีของเหลวที่ไหลวน และสนามแม่เหล็กที่มีนี้ทำให้ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวมีปรากฏการณ์แสงเหนือและแสงใต้

ข้อมูลการวัดสนามโน้มถ่วง และสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์ยังบอกให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า แก่นกลางของดาวเสาร์มีมวลเท่าใด และประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง นอกจากจะมี hydrogen และ helium แล้ว และนี่ก็คืองานที่จะต้องทำในอนาคต

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ธรรมชาติของบรรยายกาศเหนือดาวเสาร์ ในปี 2010 ยาน Cassini ได้เห็นพายุ cyclone ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10,000 กิโลเมตรเกิดขึ้นบนดาวเสาร์ในทำนองเดียวกับพายุที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดี และเห็นพายุรูปทรงหกเหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่ 30,000 กิโลเมตรตรงที่ขั้วเหนือของดาว แต่ไม่เห็นพายุลักษณะเดียวกันเกิดที่ขั้วใต้ของดาว

มรดกต่างๆ ที่ยาน Cassini ทิ้งไว้ และปริศนามากมายเกี่ยวกับดวงจันทร์บริวารเป็นภาระที่ยานอวกาศลำต่อไปจะต้องสำรวจและตอบให้ได้จึงมีดังนี้ นอกเหนือจาก Titan ที่ยานได้พบว่า มีบรรยากาศเป็นเมฆหมอกสีส้ม และสภาพภูมิศาสตร์ที่คล้ายโลกในยุคก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิต คือ มีเนินเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุม และปกคลุมด้วยสาร hydrocarbon มีทะเล methane และฝน ethane มีแม่น้ำ และทะเลสาบ hydrocarbon เหลว ที่ลึกพอจะให้ยานอวกาศสามารถลงไปลอยสำรวจได้

ส่วน Enceladus ที่ได้พ่นน้ำพุที่มีเกลือปนออกมาในอัตรา 200 กิโลกรัม/วินาที และมีสาร silica ซึ่งเกิดจากอันตรกริยาระหว่างน้ำ กับหินใต้ทะเล ขณะมีอุณหภูมิสูง จึงอาจเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ใต้ทะเลที่สามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยแสงอาทิตย์ ข้อสงสัยนี้จึงทำให้ Enceladus เป็นดวงจันทร์ดวงแรกๆ ที่ยานอวกาศในอนาคตจะถูกส่งไปเยือนอย่างแน่นอน

สำหรับดวงจันทร์ Pan ที่ M. Showalter พบในปี 1990 นั้นมีรูปร่างเหมือนก้อนอาหารอิตาเลียนชื่อ ravioli ก็น่าสนใจ เพราะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 28 กิโลเมตร โคจรอยู๋ห่างจากดาวเสาร์ 133,600 กิโลเมตร และใช้เวลา 0.6 วันในการโคจรรอบดาวเสาร์

ด้านดวงจันทร์ Hyperion ที่พบโดย W.Bond และ W. Lassell ในปี 1848 นั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14 กิโลเมตร โคจรอยู่ห่างจากดาวเสาร์ 1.48 ล้านกิโลเมตร และใช้เวลา 213 วันในการโคจ ผิวของดวงจันทร์นี้มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ

จึงเป็นว่าข้อมูลที่ได้รับจาก Cassini มีมากกว่าที่ได้จากยาน Voyage 1 และ 2 นับ 100 เท่า สำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์อีกหลายปี จนกระทั่งรู้ “หมด” และนั่นก็ถึงเวลาที่ NASA และ ESA จะส่งยานใหม่ไปดาวเสาร์อีก

แม้วันนี้ NASA จะยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะส่งยานไปเยือนดาวเสาร์อีกเมื่อใด ถ้าได้รับอนุมัติวันนี้การสร้างยานก็จะต้องใช้เวลาอีกร่วมสิบปี ดังนั้น การดับสูญของยาน Cassini จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะเวลา Cassini “จากไป” ความรู้สึกของคนหลายคนก็ “ไป”ด้วย

อ่านเพิ่มเติมจาก Planetary Sciences โดย I. de Peter และ J. Jack จัดพิมพ์โดย New York Cambridge University Press ปี 2015


เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น