ถ้าใครเคยดูเรื่องหนังไซ-ไฟ ก็คงคุ้นชินกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีเครื่องจักรและหุ่นยนต์เขามาทดแทนหลายๆสายงานอาชีพ เห็นรถที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง แต่ต่อไปนี้สิ่งเหล่านั้นจะไม่อยู่แค่ในจินตนาการอีกแล้ว เมื่อทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ชื่อว่า "ปัญญาประดิษฐ์" ระบบที่มีความอัจฉริยะทางด้านความคิดและสติปัญญา ซึ่งจะมาช่วยแก้ไขปัญหาทั้งทางการแพทย์และความเป็นอยู่ของมนุษย์
เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอ (A.I.) ขยับจากโลกนิยายมาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า “จาก Big Data สู่ AI ไปถึง Robot สังคมไทยรู้ว่าเท่าทันแค่ไหน” ซึ่ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดงานสัมมนาหัวข้อดังกล่าวเมื่อ 24 พ.ย.60 ณ โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์บางกะดี และนายกสมาคมกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยี AI , Robotic and Big data ว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทำให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือหลายๆ บริษัทได้มาช่วยกันคิดและทำหุ่นยนต์ AI เช่นหุ่นยนต์สนทนา ซึ่งเมื่อก่อนเพียงแค่วางแผนไว้ แต่ตอนนี้ต้องการนำมาใช้จริง บริษัทต่างๆ จึงเข้ามาร่วมในการพัฒนา
"ดังนั้น ทางสมาคมจึงต้องการพัฒนาระบบด้วยการสร้างคลังข้อมูลหรือ Big Data ร่วมกัน ซึ่งการพัฒนานี้เป็นการตัวอย่างหนึ่งเพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันมีหลายคนเริ่มมีความคิดว่า AI นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ พวกเราจึงมีความพยายามที่จะทำขึ้นมาเพราะระบบนี้มีความอัจฉริยะและมีประโยชน์ในอนาคต ซึ่งถ้าร่วมถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ ทางสมาคมหุ่นยนต์เองก็พัฒนาหุ่นยนต์แบบใหม่ หรือตั้งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับหุ่นยนต์ขึ้นมา เนื่องจากหุ่นยนต์จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ ซึ่งในทางการแพทย์มีการพัฒนาให้หุ่นยนต์เข้าใจอาการของผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุ หรือแม้นกระทั้งสามารถวิเคราะห์เบื้องต้นว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรก่อนจะแจ้งไปยังแพทย์"
ศ.ดร.ธนารักษ์ ระบุอีกว่า AI ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น นำกล้องไปติดตามที่ต่างๆ ของเมืองเพื่อสังเกตการณ์ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงหรือไม่ อีกทั้งระบบยังสามารถตรวจจับได้ว่าผู้ร้ายอยู่ที่ใดบ้าง ช่วยให้ตำรวจสามารถสืบสวนคดีได้ง่ายขึ้น
"จากการตื่นตัวนี้เองที่ทำให้เกิดงานพัฒนาเกี่ยวกับ AI มากขึ้น มีหน่วยงานให้การสนับสนุนมากขึ้นและรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อมาพัฒนาเทคโนโลยีนี้มากขึ้น ในอนาคตประเทศไทยอาจสามารถนำเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาขึ้นมาไปขายให้แก่ประเทศอื่นและนำมาใช้ได้จริง"
ในส่วนของความพร้อมในประเทศไทยนั้น ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริหารบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในแง่ของการนำเอา AI มาใช้ในประเทศไทยตอนนี้ประเทศอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศในอาเซียน เนื่องจากไทยยังมีธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start-Up) ในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI น้อย และเรื่องเมืองอัจฉริยะเป็นเรื่องที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หุ่นยนต์ และ AI
"การสร้างเมืองอัจฉริยะอันดับแรกในเมืองต้องมีการติดเซนเซอร์เพื่อวัดและเก็บข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลเรื่องมลพิษในอากาศ ข้อมูลการจราจร หรือข้อมูลใดก็ตามนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และในปัจจุบันตัวเซนเซอร์มีราคาถูกลงทำให้เกิดการสร้างและการรับข้อมูลมหาศาลเข้ามา ในหลายประเทศที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้น ก็เพราะข้อมูลเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะนั้นอยู่แยกกัน ดังนั้นจึงต้องทำข้อมูลทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ง่าย"
ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มโครงการพิเศษและผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตอนนี้มีการทดลองเมืองอัจฉริยะที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อดูรูปแบบของนักท่องเที่ยว คาดการณ์ในการจองโรงแรมในแต่ละฤดูกาล พฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน ส่วนที่ป่าตองก็มีการติดเซนเซอร์ที่ถุงขยะและมีแอปพลิเคชันในมือถือให้ประชาชนถ่ายรูปเวลาเจอขยะกองอยู่ จากนั้นเทศบาลก็จะมาเก็บ แอปพิเคชันนี้สามารถติดตามได้ว่ารถขยะมาเก็บขยะไปจริงหรือไม่ ส่วนตัวเซอร์ที่ถังขยะยังสามารถบอกได้อีกว่าถังไหนเต็มเร็วกว่า
ดร.ภาสกรเพิ่มเติมว่า ยังได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการจำประเภทของรถว่าเป็นรถประเภทใด เช่น รถจักรยาน คนเดิน รถจักรยานยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งนำไปใช้งานจริงที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มีกฎห้ามรถบรรทุกเข้ามาในเขตคูเมือง โดยได้มีการติดกล้องและติดตามดูประเภทรถ เมื่อมีรถที่จัดอยู่ในประเภทห้ามเข้าแล่นเข้ามาก็จะมีการส่งข้อความแจ้งเจ้าหน้าที่ ทำให้สะดวกต่อการควบคุมรถให้ทำตามกฎจราจร เพราะระบบจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีการทำผิดจะมีการออกใบสั่งออนไลน์ให้ไปเสียค่าปรับที่ร้านสะดวกซื้อ แต่ในบางที่ก็มีการผสมผสานกันระหว่าระบบควบคุมโดยคน (manual) และระบบอัตโนมัติ เมื่อมีรถฝ่าไฟแดงภาพเลขทะเบียนจะถูกถ่ายและส่งเข้าไปยังแอพพิเคชั่นในมือถือของตำรวจ จากนั้นตำรวจก็สามารถมาดักโบกเพื่อให้เสียค่าปรับได้
ส่วน นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าตอนนี้ทางโรงพยาบาลได้มีโครงการเล็กๆ รวมกับต่างประเทศ 2 โครงการ เกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อช่วยในการตัดสินใจของแพทย์ทางสมอง ด้วยการใช้ปลายเครื่องตรวจจับ (Probe) ส่องแสงเข้าไปแล้วตัวเนื้อเยื่อจะส่งแสงกลับมา จะทำให้แพทย์รู้ว่าเนื้อเยื่อสมองบริเวณนั้นปกติ หรือเป็นเนื้อร้าย ส่วนโครงการที่สองเป็นเรื่องการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ป่วย ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดการ
ด้าน พ.อ.ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังขาดเรื่องกำหนดยุทธศาสตร์ เพราะประเทศเราเป็นผู้รับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ กล่าวคือเราไม่มีทั้งการวิจัยเชิงลึกจนมาถึงแอปพลิเคชันอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ประเทศเราประสบปัญหาอย่างมากคือเราไม่ได้เตรียมบุคลากรสำหรับใช้เทคโนโลยียุคใหม่ เช่น การสอนให้คนออกไปผลิตสิ่งพิมพ์ ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นั้นกำลังจะหมดไปแล้ว เป็นเรื่องที่ประเทศต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่าประเทศเรากำลังจะเดินหน้าไปไหนหรือเราจะทำเมืองอัจฉริยะไปเพื่ออะไร รวมถึงการสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศเป็นต้น
"ในอนาคตเทคโนโลยี AI อาจจะก่อผลกระทบต่อหลายอาชีพ แต่เราจะต้องไม่กลัวเทคโนโลยีจนหยุดพัฒนามันไป เนื่องจากในอดีตเราก็เคยกลัวเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นในตอนนี้รัฐบาลและประชาชนในประเทศเตรียมตัวให้พร้อมต่อเทคโนโลยีตัวนี้ ด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจว่าเทคโนโลยีตัวนี้มีขีดความสามารถขนาดใด เมื่อถึงเวลาพวกเราจะได้ไม่ต้องตื่นกลัวกับผลกระทบมาก ในเมื่อเทคโนโลยีตัวนี้จะเข้ามาแทนทีมนุษย์ในหลายสาขาอาชีพ มนุษย์เราจึงต้องสามารถปรับตัวเพื่อให้สามารถทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปได้"