xs
xsm
sm
md
lg

ฝูงหมีขาวแน่นชายฝั่งรัสเซีย สัญญาณบอก “อาร์กติก” กำลังเปลี่ยนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพหมีขาวรุมทึ้งซากวาฬหัวบาตรเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บริเวณชายฝั่งเกาะแรงเจลของรัสเซีย (Max STEPHENSON / HANDOUT / AFP )
ฝูงหมีขาวแน่นชายฝั่งและรุมทึ้งซากวาฬหัวบาตรอาจน่าตื่นตาสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ในแง่สิ่งแวดล้อมแล้วนั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก เพราะบ่งบอกถึงอาร์กติกกำลังเปลี่ยนแปลง และพื้นที่น้ำแข็งสำหรับหาอาหารของฝูงหมีกำลังลดลง จนต้องมารุกรานบ้านเรือนของมนุษย์ที่อยู่ใกล้เคียง

อเล็กซานเดอร์ กรูซเดฟ (Alexander Gruzdev) ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติเกาะแรงเจล (Wrangel Island) ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุฝูงหมีขาวราว 200 ตัว ไต่ภูเขาลงมายังชายฝั่งเพื่อรุมทึ้งซากวาฬหัวบาตร กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นสถานการณ์ไม่ธรรมดา และพวกเขาเองก็ประหลาดใจอย่างยิ่ง

เหตุการณ์หมีขาวรุมทึ้งซากวาฬเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย.2017 ที่ผ่านมา ซึ่งกรูซเดฟเล่าย้อนเหตุการณ์ดังกล่าวว่า มีหมีขาวหลายครอบครัว รวมทั้งแม่หมีที่มีลูกติดสอยห้อยตามมาอีก 4 ตัวลงมากินซากสัตว์ยักษ์ด้วย สำหรับซากวาฬที่มีน้ำหนักหลายสิบตันนี้จะสามารถเลี้ยงฝูงหมีขาวไปได้อีกหลายเดือน

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเป็นเหตุให้น้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของหมีขาวนั้นละลายเร็วขึ้นในปีนี้ ดังนั้นหมีขาวจึงต้องใช้เวลาอยู่บนแผ่นดินมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับหมีขาวนัก เพราะหมีขาวจะลงมาที่ชายฝั่งและเกาะต่างๆ มากขึ้น และจะแก่งแย่งกันเพื่ออาหารเพียงน้อยนิดที่มีอยู่บนแผ่นดิน ขณะที่คนท้องถิ่นก็มีความเสี่ยงที่จะเผชิญฝูงหมีขาวที่กิวโหยเข้าบุกรุกที่อาศัยมากขึ้น

สำหรับเกาะแรงเจลซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซียนั้นเป็นแหล่งที่หมีขาวใช้พักอาศัยหลังน้ำแข็งละลายในช่วงต้นเดือน ส.ค.จนถึงเดือน พ.ย.ซึ่งเป็นช่วงที่หมีขาวจะผละจากแผ่นดินเพื่อไปล่าแมวน้ำ โดยกรูซเดฟกล่าวว่า เกาะแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมของแหล่งกำเนิดลูกหมี ซึ่งมีการเจริญพันธุ์หนาแน่นที่สุดของทั่วทั้งอาร์กติก

อีริค รีเกอห์ร (Eric Regehr) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) สหรัฐฯ หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ซึ่งร่วมมือกับรัสเซียศึกษาหมีขาวบเกาะแรงเจล กล่าวว่าจากการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อนนั้น พบว่า หมีขาวใช้ชีวิตบนเกาะแรงเจลนานกว่าเดิมประมาณ 1 เดือน เพราะน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นและมีช่วงเวลาที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมยาวนานขึ้น ซึ่งสภาพน้ำแข็งที่เปลี่ยนแปลงนี้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนหมีขาวบนเกาะดังกล่าว
ภาพหมีขาวรุมทึ้งซากวาฬหัวบาตรเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บริเวณชายฝั่งเกาะแรงเจลของรัสเซีย (Max STEPHENSON / HANDOUT / AFP )
ภาพเกาะแรงเจลที่ฝูงหมีขาวลงมารุมกินซากวาฬหัวบาตร (Max STEPHENSON / HANDOUT / AFP )
กำลังโหลดความคิดเห็น