xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รอดชีวิตจากพายุไต้ฝุ่นเรียกร้องให้ลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในวาระครบรอบสี่ปีหายนะภัยไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลกระทบจากไต้ฝุ่นไฮเหี่ยน ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์เมื่อปี 2556 (ภาพ: Wikipedia)
ขณะที่กำลังมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ทางด้านรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็กำลังเตรียมต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้น และในช่วงเดียวกันชาวฟิลิปปินส์ได้รวมตัวกันเพื่อรำลึกวาระครบรอบสี่ปี ที่มหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน พายุที่มีแรงทำลายล้างมากที่สุดครั้งประวัติศาสตร์เข้าถล่มฟิลิปปินส์

“เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในปีนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่รัฐบาลและบรรษัททั้งหลาย ต้องเร่งรีบแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายเยบ ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ครอบครัวของเยบอยู่ในเขตวิซายาสตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มรุนแรงที่สุด “เราควรจะเก็บเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ใต้ดิน ส่วนที่ประชุมผู้แทนรัฐบาลทั้งหลายในกรุงบอนน์ต้องยืนหยัดและขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขด้านสภาพอากาศให้รุดหน้าหรือกำกับความรับผิดชอบผู้กระทำผิดต่อสภาพภูมิอากาศ”

ในขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ระหว่างการเยือนประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับงานรำลึกการครบรอบไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่ม และช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 23 หรือ COP 23 โดยประธานาธิบดีทรัมป์มีกำหนดเยือนฟิลิปปินส์วันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2560

“ประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีท่าทีปฏิเสธต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีท่าทีชัดเจนที่จะเอนเอียงไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ที่ได้ผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบากมาแล้วกลับมีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องจริงและกำลังเกิดขึ้นอีก ทางกรีนพีซเองจะยืนหยัดเคียงข้างผู้รอดชีวิตจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนและผู้ประสบภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกับนักกิจกรรมผู้กล้าหาญที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศในคดีความต่างๆ” ซาโน กล่าว

ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า โยลันดา) มีกำลังแรง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีคลื่นพายุซัดฝั่งสูง 7.5 เมตร ทำให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเสียชีวิตมากกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่รายงานไว้ว่า 6,329 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายล้านคน ซึ่งปัจจุบันก็ยังต้องฟื้นฟูการดำรงชีวิตกันอยู่ วาระรำลึกไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนจึงมีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เสียชีวิตและฉลองให้กับผู้รอดชีวิตที่ถือว่า มีโอกาสได้มีชีวิตอยู่ครั้งที่สอง เช่นเดียวกับจิตวิญญาณการเป็นนักสู้ที่ขึ้นชื่อของชาวพื้นเมืองวาเร-วาเร

เมื่อปี 2558 ผู้รอดชีวิตจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และองค์กรประชาสังคมอีกหลายแห่ง รวมทั้งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์) ได้ยื่นรายชื่อร้องทุกข์ต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (CHR) ในฟิลิปปินส์ เพื่อร้องขอให้สืบสวนหาความรับผิดชอบจากบริษัทหลายแห่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจนก่อให้เกิดภัยคุกคามสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวเนื่องกับสภาพภูมิอากาศ (2) คณะกรรมาธิการได้เรียกบริษัทผู้ปล่อยคาร์บอน 47 แห่ง รวมทั้งบริษัทเอ็กซอนโมบิล / เชลล์ / บีพี / เชฟรอน / โททาล / บีเอชพี บิลลิตัน / ซันคอร์ และโคโนโคฟิลิปป์ส์ ให้มาร่วมหารือกับกลุ่มผู้ร้องเรียน ในวันที่ 11 ธันวาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวน

ในวาระครบรอบไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน นักเรียน และชุมชนท้องถิ่น มากกว่า 500 คน ได้ร่วมกันส่งข้อความด้วยภาพและเสียงไปยังกรุงบอนน์ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแห่งสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นในโลก สำหรับผู้มีส่วนสร้างวิกฤตสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุดแต่ได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายมากที่สุด กิจกรรมในงานรำลึกประกอบด้วยนิทรรศการศิลปะและการเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนไฮไลท์ของงานคือการเดินและจุดเทียนรำลึกในวันที่ 8 พฤศจิกายน

เยบและเอจี ซาโน ผู้เป็นน้องชายและเป็นทัศนศิลปิน นักกิจกรรม และผู้รอดชีวิตจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน เป็นผู้ร่วมร้องเรียนต่อ CHR ด้วย ขณะนี้ เอจีอยู่ที่กรุงบอนน์ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อสภาพภูมิอากาศในนามของผู้ร้องเรียนทุกคน

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เอจี ซาโน ยังได้ส่งสาส์นระหว่างเปิดประชุม COP23 ว่า “คุณต้องจดจำเมื่อครั้งที่ผู้แทนเจรจาชาวฟิลิปปินส์ได้กล่าวถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความรู้สึกถึงไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ระหว่างการประชุม COP19 ที่กรุงวอร์ซอว์ (3) และความรู้สึกสิ้นหวังถึงพี่น้องของเขาเองที่เผชิญกับพายุ ผมเป็นน้องชายของเขา ผมพูดในนามของผู้ประสบภัย และจะทุกข์ทรมานต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราไม่อาจเสียสละตัวเองเพื่อสภาพภูมิอากาศที่กำลังร้อนขึ้นได้อีกแล้ว แต่เราร้องขอให้ผู้ที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น