xs
xsm
sm
md
lg

ยาน “จูโน” บินโฉบดาวพฤหัสครบ 8 รอบแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองขณะยานจูโนบินโฉบขั้วใต้ของดาวพฤหัสฯ (Credits: NASA/JPL-Caltech)
เพิ่งเข้าวงโคจรของ “ดาวพฤหัสฯ” ได้แค่ปีกว่าๆ ตอนนี้ยาน “จูโน” ของนาซา “บินโฉบ” เมฆชั้นบนของดาวเคราะห์ยักษ์ใหญ่ของระบบสุริยะครบ 8 คร้งแล้ว พร้อมๆ กับการรับตำแหน่งของผู้จัดการโครงการคนใหม่ ที่จับโครงยานสำรวจดาวเคราะห์ก๊าซนี้มาตั้งแต่ต้น

หลังจากเข้าสู่วงโคจรเมื่อวันชาติสหรัฐฯ 4 ก.ค.2016 ยานจูโน (Juno) ยานโคจรสำรวจดาวพฤหัสบดีขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ก็โคจรรอบดาวเคราะห์ก๊าซดวงนี้ครบ 8 แล้ว ตั้้งแต่วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ไล่เลี่ยกับการรับตำแหน่งผู้จัดการโครงการจูโนคนใหม่ของ เอ็ด เอิร์สต์ (Ed Hirst) จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ในพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

ข้อมูลจากนาซาระบุว่า เอ็ดมีส่วนร่วมในโครงการจูโนตั้งแต่ระยะการออกแบบเบื้องต้น จนถึงขั้นส่งยานเมื่อ 5 ส.ค.2011 และยานเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสฯ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในโครงการส่งยานอวกาศอีกหลายโครงการ ทั้งปฏิบัติการส่งยานกาลิเลโอ (Galileo mission) สำรวจดาวพฤหัสฯ และดวงจันทร์บริวาร ปฏิบัติการส่งยานสตาร์ดัสต์ (Stardust mission) สำหรับเก็บตัวอย่างฝุ่นดาวหางกลับมายังโลก ปฏิบัติการส่งยานเจเนซิส (Genesis mission) สำหรับเก็บตัวอย่างอนุภาคจากลมสุริยะ

ทั้งนี้ กว่าข้อมูลจากการโคจรรอบดาวพฤหัสฯ รอบที่ 8 ของยานจูโนจะส่งกลับมายังโลกได้ ต้องรอให้พ้นช่วงอยู่ใน ตำแหน่งมุมร่วมทิศดวงอาทิตย์” หรือ“โซลาร์คอนจังก์ชัน” (solar conjunction) ที่โลก ดวงอาทิตย์และดาวพฤหัสฯ อยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นช่วงที่การสื่อสารระหว่างโลกและดาวพฤหัสฯ ถูกรบกวน

ทีมปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของจูโนเลี่ยงการรับ-ส่งข้อมูลจากยานจูโน เนื่องจากไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า ข้อมูลใดบ้างจะถูกเบี่ยงเบนไปเนื่องจากการแทรกสอดของอนุภาคมีประจุที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นทีมวิศวกรจะส่งคำสั่งออกไปก่อนเริ่มเข้าสู่ตำแหน่งมุมร่วมทิศ และเก็บข้อมูลการบินผ่าน (fly-by) นั้นไว้ในหน่วยความจำของยาน แล้วส่งกลับโลกเมื่อพ้นช่วงเวลาดังกล่าว โดยข้อมูลการบินผ่านครั้งนี้ของยานจูโนส่งกลับมายังโลกเมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา

“ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดยานเก็บรวมระหว่างบินผ่านถูกบันทึกไว้ในหน่วยความจำจนถึงช่วงที่ดาวพฤหัสฯ หลุดจากตำแหน่งมุมร่วมทิศ ตอนนี้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และกล้องจูโนแคม (JunoCam) ก็เปิดใช้งานแล้ว และข้อมูลใหม่ๆ ก็ถ่ายทอดมายังโลกและส่งไปยังทีมนักวิทยาศาสตร์ของเราแล้ว” เอ็ดผู้จัดการคนใหม่ของโครงการจูโนกล่าว

สำหรับปฏิบัติการบินผ่านดาวพฤหัสฯ ครั้งต่อไปคือ 16 ธ.ค. โดยระหว่างปฏิบัติการบินสำรวจนั้นยานจูโนจะบินเฉี่ยวเมฆชั้นบนของดาวพฤหัสฯ ที่ระดับความสูงเท่าที่ใกล้ได้มากที่สุดคือ 3,400 กิโลเมตร และระหว่างการบินผ่านนี้ ยานจูโนจะได้ตรวจวัดสิ่งที่อยู่ใต้เมฆอึมครึมที่ปกคุลมดาวพฤหัสฯ และยังจะศึกษาแสงออโรราเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดของดาวเคราะห์ รวมทั้งโครงสร้าง ชั้นบรรยากาศ และสนามแม่เหล็ก

“ไม่มีภารกิจอันไหนตื่นเต้นไปกว่าการเข้าไปในวงโครจรรอบดาวพฤหัสฯ และไม่มีทีมไหนที่ผมอยากเข้าร่วมเท่ากับทีมจูโน ยานอวกาศของเรานั้นอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม และทีมเราก็เฝ้ารอการบินผ่านดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะนี้อีกหลายๆ ครั้ง” เอ็ดกล่าว

ทั้งนี้ เอ็ดเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการโครงการจูโนต่อจาก ริค ไนบาคเกน (Rick Nybakken) ซึ่งได้รับเลื่อนขั้นไปเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานด้านความปลอดภัยและการทำภารกิจ (Office of Safety and Mission Success) ของห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน

ด้าน สก็อตต์ โบลตัน (Scott Bolton) หัวหน้าผู้ตรวจการโครงการจูโนจากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) ในซานอันโตนิโอ บอกว่าคงไม่มีใครจะมีความสุขเกินริค และเชื่อมั่นว่าริคจะเดินหน้าทำเรื่องสำคัญเพื่อให้นาซาเป็นผู้นำในการสำรววจอวกาศต่อไป และเช่นเดียวกันทางทีมก็ยินดีที่เอ็ดได้รับเลื่อนขั้นให้รับตำแหน่งผู้จัดการโครงการ ซึ่งเอ็ดนั้นเป็นกำลังหลักของจูโนมาหลายปี และเชื่อว่าเขาจะทำได้ดี

เอ็ดเกิดที่เมืองกัวเตมาลาซิตี ประเทศกัวเตมาลา เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) จากมหาวิทยาลัยเทกซ์ซัสในออสติน (University of Texas at Austin) และเข้าร่วมทำงานกับห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันเมื่อปี 1993

สำหรับปฏิบัติการจูโนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิวฟรอนเทียร์ส (New Frontiers Program) ที่ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) ของนาซา ในฮันท์วิลล์ อลาบามา บริหารจัดการให้แก่สำนักงานอำนวยการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ส่วนยานจูโนนั้นสร้างขึ้นโดยห้องปฏิบัติการระบบอวกาศลอคฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin Space Systems) ในเดนเวอร์ ขณะที่ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันซึ่งเป็นแผนกของสถาบันคาลเทค (Caltech) รับหน้าที่บริหารจัดการภารกิจของยานจูโน
เอ็ด เอิร์สต์ ผู้จัดการโครงการคนใหม่ของจูโน ผู้มีส่วนสำคัญในโครงการมาตั้งแต่ต้น (Credits: NASA/JPL-Caltech)
กำลังโหลดความคิดเห็น