GIZ และ USAID เปิดตัว คู่มือแนวทางการพัฒนาและลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ใช้จริงในมหาวิทยาลัยและบริษัทผลิตแอร์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) เปิดตัวคู่มือแนวทางการพัฒนาและลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เพลินจิต โดยมี แองเกลา ฮอกก์ (Ms.Angela Hogg) ผู้อำนวยการประจำสำนักงานสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และ ทิม มาห์เลอร์ (Mr.Tim Mahler) ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน
ภายในได้กล่าวถึงรายละเอียดคู่มือแนวทางการพัฒนาและลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในประเทศไทย ตลอดจนแนะนำเครื่องมือเพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบคู่มือแนวทางการพัฒนาและลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาแก่ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสมาคมอุตสาหกรรมแสงอาทิตย์ไทย
สำหรับคู่มือฉบับดังกล่าวนั้น พัฒนาขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจากคู่มือพัฒนาพลังงานทดแทนของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN RE Guideline) และถูกจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ USAID และ GIZ โดยมีรายละเอียดต่างๆ เช่น ต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งช่วยให้กระบวนการการทำสัญญาระหว่างสองฝ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และแบบจำลองวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Model) ซึ่งช่วยสนับสนุนในการประเมินและวิเคราะห์ผลตอบแทนของการดำเนินงาน
เป้าหมายของคู่มือฉบับนี้จะทำหน้าที่เป็นคู่มือต้นแบบของแนวทางประกอบการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย รวมทั้งเผยแพร่เครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ เช่น เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคหรือการเงิน ต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และนำเสนอแนวทางหรือรูปแบบการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถเปิดตลาดใหม่ของพลังงานแสงอาทิตย์ได้
ภายในคู่มือยังมีแนวทางเป็นขั้นตอนที่ช่วยแนะผู้สนใจลงทุนหรือโรงงานที่ประสงค์พัฒนาและลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา เช่น รายละเอียดการขออนุญาต ขั้นตอนการขออนุญาต รายชื่อหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาต แหล่งรับติดตั้งขั้นตอนการเดินระบบ และการซ่อมบำรุง
ในโอกาสนี้ ปฐมาภรณ์ พูลเกษม จากสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ยังได้เผยว่าขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้อาคารต่างๆ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟ (Solar Roof) มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภูวดล สุนทรวิภาต ผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมแสงอาทิตย์ไทย ได้เล่าถึงความท้าทายในการติดตั้งโซลาร์รูฟว่า ปัจจุบันยังอนุญาตให้มีการเช่าพื้นที่เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ให้เช่าพื้นที่เท่านั้น ถ้าหากมีการอนุญาตให้จำหน่ายไฟ้าแก่บุคคลที่ 3 ได้ก็จะเป็นประโยชน์และช่วยลดค่าไฟฟ้าให้แก่หลายภาคส่วนได้
พร้อมกันนี้ผู้มีประสบการณ์ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟ (Solar Roof) ยังได้ร่วมเล่าประสบการณ์และประโยชน์ที่ได้จากติดตั้งระบบดังกล่าว โดย ไพรัตน์ เอื้อชูยศ ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศ “สตาร์ แอร์” กล่าวว่า บริษัทใช้เวลาศึกษา ติดตั้งทดสอบและดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟ ซึ่งได้ติดตั้งในจังหวะที่ขยายโรงงานใหม่พอดี จึงได้ออกแบบโรงงานที่รองรับการติดตั้งระบบดังกล่าว และผลจากการดำเนินงานพบว่าช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ 10%
ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้เล่าถึงรูปแบบสัญญาการตั้งตั้งโซลาร์รูฟว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ให้บริษัทเอกชนเช่าพื้นที่เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟและบำรุรักษา โดยทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และเมื่อบริษัทดำเนินการครบ 10 ปีซึ่งคืนทุนแล้ว บริษัทต้องจ่ายคืนให้ทางมหาวิทยาลัย 10% และเมื่อดำเนินการครบ 20 ปี อุปกรณ์ที่ติดตั้งจะตกเป็นของมหาวิทยาลัย