xs
xsm
sm
md
lg

งบ 7 ล้านบาทพัฒนา “เตาเบรสซิ่ง” ใช้เชื่อมโลหะต่างชนิด ประหยัดงบแผ่นดิน 18 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิศวกร ซินโครตรอนไทย พัฒนาเตาเชื่อมโลหะต่างชนิดสำเร็จ พร้อมถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรม ลดงบประมาณชาติถึง 18 ล้านบาท

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาเทคโนโลยีเตาเชื่อมโลหะต่างชนิดแบบไร้ตะเข็บในภาวะสุญญากาศหรือเตาเบรสซิ่งฝีมือคนไทย สามารถเชื่อมโลหะทั้งชนิดเดียวกันและต่างชนิดได้ นอกจากนี้ยังมีข้อดี คือ โลหะที่เชื่อมจะเกิดการบิดตัวน้อย สามารถควบคุมความแม่นยำในการเชื่อมได้ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวประหยัดงบประมาณจากการนำเข้าถึง 18 ล้านบาท

นายสำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า กระบวนการเชื่อมแล่นประสานโลหะในสภาวะสุญญากาศ - Brazing เป็นกรรมวิธีการเชื่อมต่อโลหะตั้งแต่สองชิ้นหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน ด้วยการให้ความร้อนแก่รอยต่อที่อุณหภูมิสูงกว่า 450 oC แต่ไม่ถึงกับอุณหภูมิหลอมละลายของโลหะหลัก ลักษณะงานที่ใช้การเชื่อมต่อโลหะด้วยการเบรสซิ่ง ได้แก่ งานต่อท่อทองแดงกับแผ่นอลูมิเนียมของคอมเพรสเซอร์ในเครื่องทำความเย็น Air Conditioning System หรืองานเชื่อมต่อชิ้นส่วนของเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา

“สำหรับขั้นตอนของการผลิตชิ้นงานและประกอบเพื่อนำไปติดตั้งระบบลำเลียงแสงต่างๆ ภายในสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จะต้องมีการเชื่อมชิ้นส่วนสุญญากาศระดับสูง ที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ทักษะ ความชำนาญ และเทคนิคในการเชื่อมที่พิเศษมากกว่าการเชื่อมทั่วไป ที่ผ่านมาสถาบันฯ ประสบปัญหาการรั่วไหลของระบบสุญญากาศระดับสูง (Ultra High Vacuum) ที่เกิดจากการแตกร้าวของรอยเชื่อม รวมถึงการบิดตัวของโลหะที่เชื่อมประสานกัน ส่งผลให้เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนไม่สามารถผลิตแสงซินโครตรอนเพื่อให้บริการได้”

ทีมวิศวกรของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงได้พัฒนาเตาสุญญากาศขึ้น เพื่อช่วยในกระบวนการเชื่อมต่อชิ้นงานอุปกรณ์สุญญากาศ ข้อดีของการเชื่อมด้วยเทคนิคนี้สามารถประยุกต์ใช้กับการเชื่อมโลหะที่เป็นชนิดเดียวกัน และต่างชนิดกันได้ ชิ้นงานที่เชื่อมประสานกันเกิดการบิดตัวน้อย ช่วยให้การวางตำแหน่งอุปกรณ์ที่ต้องการความแม่นยำสูงได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ ที่สำคัญของเครื่องเร่งอนุภาคและอุปกรณ์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

“นอกจากนี้ ความรู้ความชำนาญที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเตาเบรสซิ่ง สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น การเชื่อมประสานวัสดุคมให้ติดกับด้ามจับ การเชื่อมประสานท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในระบบปรับอากาศ หรือการอบชิ้นงานเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติเชิงกล ที่สำคัญยิ่ง การพัฒนาเตาเบรสซิ่ง ใช้งบประมาณดำเนินการเพียง 7 ล้านบาท ซึ่งหากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินถึง 18 ล้านบาท และถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้จากองค์กรภาครัฐขึ้นมาใช้โดยฝีมือคนไทยอีกด้วย”




กำลังโหลดความคิดเห็น