xs
xsm
sm
md
lg

รับลมหนาวเก็บภาพ “เส้นแสงดาว” ณ ละติจูด 44 องศาเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายเส้นแสงดาวจาก บริเวณ Death valley ประเทศสหรัฐอเมริกา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 1000 / Exposure : 180 sec x 62 Images (3h6m))
การถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือที่มักเรียกกันว่า Startrails เป็นภาพที่ต้องอาศัยความอดทนรอคอยในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องตลอดทั้งคืน เพื่อให้ได้แสงดาวที่ยาวที่สุด ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่โลกเราหมุนรอบตัวเอง จึงทำให้เรามองเห็นดาวเป็นท้องฟ้า มีการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งดาวทุกดวงก็จะเคลื่อนที่หมุนรอบขั้วเหนือของท้องฟ้านั่นเอง

สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนถ่ายภาพเส้นแสงดาว

หาดาวเหนือจากกลุ่มดาวสว่าง

สำหรับทักษะที่จำเป็นในการถ่ายภาพ Startrails ก็คือการหาตำแหน่งดาวเหนือจากการสังเกตกลุ่มดาวหมีใหญ่หรือกลุ่มดาวค้างคาว เพื่อใช้ในการนำทางหาตำแหน่งดาวเหนือที่ถูกต้อง และที่ประเทศอเมริกา ที่ผมได้มีโอกาสได้เดินทางไป และได้ถ่ายภาพเส้นแสงดาวที่ตำแหน่งละติจูดที่สูงกว่า 44 องศาเหนือ ทำให้สามารถมองเป็นดาวเหนือได้ง่าย และภาพที่ถ่ายมาได้นั้นก็เป็น Startrails ที่แตกต่างจากที่ไทยพอสมควร ซึ่งที่นี่ผมคิดว่าเราจะมองหาดาวเหนือได้ง่ายกว่าที่ไทยอีกด้วยซ้ำ เนื่องดาวเหนืออยู่สูงจากขอบฟ้าค่อนข้างมา หากใครที่เคยหาดาวเหนือที่ไทยได้ ที่นี่ก็ไม่ยากล่ะครับ
  ภาพตำแหน่งดาวเหนือที่สามารถใช้กลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวค้างคาว ช่วยในการนำทางไปยังดาวเหนือได้
ที่ตำแหน่งละติจูดสูงๆ อย่างเช่นที่อเมริกาเหนือ จากภาพข้างต้นเราจะเห็นว่าเราสามารถมองเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่และกลุ่มดาวค้างคาวได้เกือบตลอดทั้งคืน ทำให้ง่ายต่อการหาตำแหน่งดาวเหนือ

การเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า

การเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า (Celestial sphere) เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ไม่ใช่การหมุนของทรงกลมฟ้า เมื่อมองจากพื้นโลกเราจะเห็นทรงกลมท้องฟ้าเคลื่อนที่จากทิศตะวันออก-ไปยังทิศตะวันตก โดยเราสมมติให้ทรงกลมท้องฟ้าเป็นทรงกลมสมมติขนาดใหญ่มีรัศมีอนันต์ โดยมีโลกอยู่ที่จุดศูนย์กลาง โลกถูกห่อหุ้มด้วยทรงกลมฟ้า ซึ่งประดับด้วยดาวฤกษ์

ทรงกลมฟ้าหมุนรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 1 วัน (24 ชั่วโมง) ทำให้เรามองเห็นดาวฤกษ์เคลื่อนที่ไปตามทรงกลมท้องฟ้าด้วยอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง (360°/24 ชั่วโมง = 15°)

ดังนั้นหากเราต้องการภาพเส้นแสงดาวที่มีความยาวมากๆ ก็ต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพนานขึ้นตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้านั้นเองครับ
ภาพแสดงการเคลื่อนที่ของเส้นแสงดาวในทิศต่างๆ
สิ่งพิเศษที่แตกต่างจากประเทศไทย <>
ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ภูมิอากาศของประเทศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น ซึ่งบ่อยครั้งที่เราถ่ายภาพในเวลากลางคืนมักเจอกับไอน้ำที่เกิดขึ้นหน้าเลนส์ ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพตลอดทั้งคืนได้ แต่ที่ประเทศอเมริกา เนื่องจากมีขนาดใหญ่และความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ในบางพื้นที่มก็มีสภาพอากาศแบบกึ่งแห้งแล้ง หรือบริเวณทะเลทรายก็จะมีลักษณะอากาศเป็นแบบแห้งแล้ง ซึ่งสภาพอากาศที่แห้งแล้งแบบนี้เราสามารถถ่ายภาพในช่วงเวลากลางคืนได้ตลอดทั้งคืน

ณ บริเวณอุทยานแห่งชาติ Death valley นั้นมีสภาพอากาศแบบแห้งแล้ง อากาศในเวลากลางคืนช่วงฤดูร้อนที่นั่น ความชื้นต่ำมาก เรื่องไอน้ำที่อาจเกาะหน้ากล้องนี่ ลืมไปได้เลย มันแห้งมาก หน้าเลนส์ไม่มีไอน้ำเกาะแม้แต่น้อย เหมาะกับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวอย่างยิ่ง


เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
หาตำแหน่งขั้วเหนือท้องฟ้าจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวค้างคาว
ถ่ายภาพด้วยโหมดแมนนวล (M)
ใช้วิธีการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous) โดยทั่วไปมักนิยมใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้อง 30 วินาที และถ่ายภาพต่อเนื่องเรื่อยๆ แล้วนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาว (วิธีนี้ต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์รวมในการถ่ายภาพ หากในกล้องไม่มีระบบถ่ายภาพต่อเนื่องอัตโนมัติ)
ปิดระบบการกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise reduction) เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป
ไม่ใช้ระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ
ปิดระบบออโต้โฟกัส พร้อมทั้งปรับโฟกัสของเลนส์ที่ระยะไกลสุด (อินฟินิตี้)โดยเช็คดูว่าภาพดาวคมชัดและเล็กที่สุดหรือไม่ ด้วยจอภาพหลังกล้อง
ค่าความไวแสงอาจเริ่มถ่ายตั้งแต่ ISO 1000 เป็นค่าตั้งต้น และสามารถปรับเพิ่มหรือลดลง ตามสภาพแสงของสถานที่นั้นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือภาพต้องเห็นจุดดาวและฉากหน้าได้พอสมควร ไม่สว่างหรือมืดเกินไป
เมื่อเช็คมุมและค่าที่จะใช้ในการถ่ายภาพแล้ว ก่อนเริ่มถ่ายแบบต่อเนื่อง ควรถ่ายภาพ Dark Frame คือภาพที่ถ่ายด้วยค่าแบบเดียวกับที่เราจะใช้ถ่ายดาว แต่ให้ปิดฝาหน้ากล้องไว้ โดยถ่ายไว้ก่อนประมาณ 5 ภาพ แล้วจึงเริ่มถ่ายภาพเส้นแสงดาวตลอดทั้งคืน หรือจนแบตเตอรี่จะหมด
ถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW เพื่อความยืดหยุ่นในการนำภาพมาปรับในภายหลัง
ภาพถ่ายเส้นแสงดาว ณ บริเวณวัดไทย ในเมืองโอเรกอน สหรัฐอเมริกา (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 200 / Exposure : 181 sec x 66 Images (3h19m))

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น