“เอนไซม์” เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพที่มีในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มีบทบาทในการทำให้เกิดกระบวนการทางเคมีทั้งหลายที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น การย่อยอาหาร การเจริญเติบโต หรือการสังเคราะห์แสงในพืช ปัจจุบันได้มีการนำเอนไซม์จากสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ โดยเฉพาะจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน เพื่อการเร่งปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิตโดยตรง หรือเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาซักล้าง หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ที่มีในตลาดรอบตัว
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของจุลินทรีย์สูง มีการประเมินว่ามีถึง 10% ของจุลินทรีย์ที่มีในโลก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้คัดแยก และรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์จากทั่วประเทศไว้ในธนาคารจุลินทรีย์ไบโอเทค ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 80,000 สายพันธุ์ จัดเป็นธนาคารจุลินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ดังนั้นธนาคารจุลินทรีย์นี้จึงเป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพที่มีคุณค่า สำหรับค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่างๆ เช่น สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เคมี และเอนไซม์
มีการคาดหมายว่าตลาดเอนไซม์ของโลกมีขนาดประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องเติบโตของอุตสาหกรรมชีวภาพในระดับโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าเอนไซม์ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี โดยมีความหลากหลายของชนิดเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ
ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์และชีวเคมีภัณฑ์ ไบโอเทค กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ไบโอเทค สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาทั้งทางด้านการสร้างเทคโนโลยีฐานสำหรับการค้นหาและผลิตเอนไซม์ จากแหล่งจุลินทรีย์ในประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันมีการรวบรวมเอนไซม์ไว้มากกว่า 30 ชนิดจากแหล่งจุลินทรีย์ในประเทศ โดยเฉพาะเอนไซม์ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการย่อยองค์ประกอบของพืช เช่น เซลลูเลส ไซลาเนส แพคติเนส
ไบโอเทคยังได้พัฒนาเทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ในการค้นหาเอนไซม์ พัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ทั้งจุลินทรีย์สายพันธุ์ธรรมชาติและจุลินทรีย์ปรับแต่งพันธุกรรม ออกแบบสูตรเอนไซม์ และขยายขนาดการผลิตเอนไซม์ต้นแบบเพื่อถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการนำเอนไซม์ไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าของสารอาหารในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การลดการใช้พลังงานและสารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเยื่อกระดาษ
“นอกจากนี้ ยังประยุกต์ใช้เอนไซม์เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีวิสัยทัศน์ในการเชื่อมงานวิจัยสู่ภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศในอนาคต การผลิตเชื้อเพลิงและสารเคมีชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงการใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง” ดร.วีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ในอนาคต คาดการณ์ว่าจะมีการนำกลุ่มเอนไซม์ดังกล่าวนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมหลักต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งมีความสอดคล้องในการผลักดันเศรษฐกิจในแผนประเทศไทย 4.0 ต่อไปในอนาคต