xs
xsm
sm
md
lg

เยือนดินแดนหุบเขาแห่งความตายกับสถานที่แห่ง Dark Sky Area (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ความเดิมจากคอลัมน์ที่แล้ว ผมได้เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การเดินทางเข้าไปในเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ในเขตอุทยาน Death valley ซึ่งมีความยากลำบากและค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร มาถึงคอลัมน์นี้ก็จะขอเล่าถึงความเป็นที่สุดของสถานที่ ที่มีความมืดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ในการไปถ่ายภาพครั้งนี้ส่วนตัวผมคิดว่ามันความแตกต่างกับสถานที่อื่นๆ ที่เคยไปถ่ายภาพมาพอสมควร เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จะได้ถ่ายภาพในที่ “มืดที่สุดและต่ำที่สุด”

ในการเริ่มถ่ายภาพครั้งนี้ ผมและเพื่อนๆ เริ่มถ่ายกันตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตก โดยในช่วงดังกล่าวยังคงมีแสงดวงจันทร์สว่าง ในช่วงข้างขึ้น 4 ค่ำในช่วงหัวค่ำ ผมก็เริ่มหาจุดถ่ายภาพโดยใช้แสงดวงจันทร์ในการค้นหาหินเดินได้ในช่วงหัวค่ำ เพราะแสงจากไฟฉายคาดหัวแต่ละคนรวมกัน ก็ไม่สามารถช่วยกระจายแสงได้ทั่วทั้งบริเวณ (มันกว้างมาก)

ภาพแรกที่ได้ลองถ่ายภาพ ณ Death valley ต้องบอกว่าน่าประทับใจมาก ถึงแม้ว่าสถานที่นี้จะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 85 เมตร แต่เมื่อแลกกับความมืดแล้ว ก็ถือว่าใชhได้เลย (ซึ่งอย่างที่เราเข้าใจกันดีว่า ยิ่งสูงยิ่งจะมีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ใสเคลียร์...แต่ที่นี่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล) ซึ่งที่นี่มีสภาพท้องฟ้าที่มืดสนิทไร้ซึ่งแสงเมืองรบกวน ทำให้ภาพถ่ายทางช้างเผือกภาพแรกถึงแม้จะมีแสงดวงจันทร์รบกวน ก็ยังสามารถเห็นรายละเอียดได้ไม่ยากครับ

ภาพถ่ายทางช้างเผือกหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้า

หลังจากดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปแล้ว“ความมืด”แบบที่ว่ามืดสนิทก็มาถึง แม้ว่าเพื่อนผมที่ยืนอยู่ห่างกันไม่ถึง 10 ก้าวก็มองเห็นกันเลยทีเดียว จะได้ยินก็แต่เสียงพูดกับเสียงชัตเตอร์เท่านั้น หากไม่เปิดไฟฉายส่องดู

สำหรับการตั้งกล้องถ่ายภาพนั้นปกติผมก็จะใช้ค่าการตั้งกล้องที่ค่ารูรับแสงกว้างสุด ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องนานแค่ 30 วินาทีและค่าความไวแสงไม่เกิน ISO 3200 แต่กับที่นี้ต้องใช้เวลาเปิดหน้ากล้องที่นานขึ้นเป็น 37 วินาที หรือมากกว่า และเพิ่มความไวแสงขึ้นเป็น ISO 4000 จึงจะได้ภาพถ่ายที่ไม่มืดจนเกินไป

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการถ่ายภาพในสถานที่ ที่มืดมากๆก็คือ อย่าเชื่อสายตาตัวเองจากการดูภาพหลังกล้อง ควรเช็คจากค่า histogram หลังกล้องด้วยเสมอจะดีที่สุด “เพราะผมเจอมาแล้ว” ในระหว่างที่ผมถ่ายภาพที่นั่น ก็ได้เช็คดูภาพจากหลังกล้องด้วยตาเปล่าเกือบทุกภาพ ซึ่งในความมืดนั้นก็เห็นรายละเอียดและความสว่างของภาพที่พอดีแล้ว แต่หลังจากกลับมาที่โรงแรมแล้วเปิดดูภาพในคอมฯ เท่านั่นแหล่ะ “ภาพทุกภาพติดอันเดอร์”

นั่นคงเป็นเพราะตอนที่เราอยู่ในที่มืดมากๆ รูม่านตาเราจะขยายทำให้เห็นภาพได้สว่างชัดเจนนั่นเอง โดยภาพที่ผมถ่ายมาในช่วงหลังจากที่ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วนั้น ถึงแม้จะใช้ความไวแสงถึง ISO 4000 และเพิ่มเวลาการเปิดหน้ากล้องแล้วก็ตาม ภาพต้นฉบับที่ถ่ายได้ก็ยังคงติดอันเดอร์

ฉากหน้า Noise กระจาย

อีกปัญหาหนึ่งของการถ่ายภาพในสถานที่มืดมากๆ คือ ถึงแม้ภาพแบล็คกราวน์ที่เป็นดาวหรือทางช้างเผือกบริเวณพื้นหลังจะสว่างชัด แต่บริเวณฉากหน้าหากไม่มีการฉายไฟเพื่อเปิดรายละเอียดแล้วหล่ะก็ Noise กระจายแน่นอนครับ

จากภาพข้างบนจะเห็นได้ว่า ภาพบริเวณพื้นด้านล่างนั่นค่อนข้างจะหยาบและมีสัญญาณรบกวน (Noise) ค่อนข้างมาก เนื่องจากการดึงความสว่างของภาพบริเวณที่มืดมากๆนั่น ก็เป็นการขยายสัญญาณรบกวนนั่นเองครับ

ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกไม่สูงเหมือนในประเทศไทย

จากในภาพข้างบนเราจะเห็นว่าตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกค่อนข้างจะอยู่ต่ำพอสมควร เนื่องจากสถานที่ถ่ายภาพอยู่ในตำแหน่งละติจูดสูงทางซีกฟ้าเหนือ โดยบริเวณใจกลางทางช้างเผือกนั้น อยู่ในบริเวณกลุ่มดาวทางใต้ คือระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู หากเราเดินทางขึ้นไปทางซีกโลกเหนือมากๆ ก็จะทำให้เห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบริเวณใจกลางก็จะอยู่ใกล้กับขอบฟ้า

ข้อเสียอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพทางช้างเผือกที่ซีกฟ้าเหนือในตำแหน่งละติจูดที่สูงๆ อย่างที่อเมริกาเหนือ ณ บริเวณ Death valley ที่ประมาณละติจูด 36 องศาเหนือ ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ใกล้กับขอบฟ้าไปสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นความสวยงามอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

ดังนั้น หากใครที่ชอบการถ่ายภาพทางช้างเผือกก็ต้องมองหาสถานที่มืดๆ ที่อยู่ทางซีกโลกใต้ ก็จะมีโอกาสได้เห็นใจกลางทางช้างเผือกที่อยู่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าทางซีกโลกเหนือครับ

หลังจากนั้งเฝ้าหินมาตลอดทั้งคืน


หลังจากนั้งเฝ้าถ่ายภาพมาตลอดทั้งคืน ท้องฟ้าเริ่มสว่างและเผยให้เห็นถึงความสวยงามโดยรอบที่ผมไม่อาจเห็นได้ทั่วทั้งบริเวณในช่วงที่มาถึงในตอนแรก เพราะพวกเรามาถึงกันตอนเย็นมากเกินไป

หลังจากที่เราชื่นชมความงามในช่วงเช้าสักครู่ เราก็ได้เวลา “รีบเผ่นกันเถอะ”เพราะคำเตือนจากทางอุทยานเรื่องของอุณหภูมิ ในช่วงเวลาหลัง 10.00 น. นั้น ค่อนข้างอันตรายเพราะอากาศจะร้อนจัดมาก ซึ่งสถานที่นี้ Death valley เคยถูกจัดให้เป็นสถานที่ ที่ร้อนที่สุดในโลกมาแล้ว ซึ่งช่วงที่ร้อนที่สุดจะมีอุณหภูมิสูงถึง 58 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

จากจุดที่เราถ่ายภาพไปถึงทางออก เราต้องขับผ่านถนนที่เต็มไปด้วยหินแหลมคมระยะทางกว่า 20 ไมล์ ที่อาจทิ่มยางรถจนแตกได้ง่ายๆ ซึ่งหากรถเรายางแตกในช่วงนั้น เราอาจต้องเจอกับอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งอันนี้ผมได้สัมผัสมาตอนที่แวะหาข้อมูลที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวมาแล้ว มันร้อนที่สุดของที่สุดจริงๆ แค่นาทีเดียวก็ไม่อยากออกไปนอกรถ

สำหรับทริปนี้ถือ อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ผมตั้งใจอยากเดินทางไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งกับการถ่ายภาพในเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าที่มีทั้งความมืดและความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยา และประสบการณ์ต่างรวมทั้งข้อมูลต่างๆ ของการดำเนินการในเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ก็จะได้นำไปใช้ในการดำเนินโครงการสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้าในไทยเช่นกัน และหลังจากนี้ไปพวกเราก็คงต้องช่วยกันรณรงค์ให้บ้านเรามีสถานที่เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้ากันให้มากขึ้น เพื่อวันหนึ่งประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีความมืดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็เป็นได้

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น