xs
xsm
sm
md
lg

ความลึกลับของจุดประสงค์ในการสร้างกลไก Antikythera

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

อุปกรณ์ Antikythera จัดแสดงที่ National Archaeological Museum เอเธนส์ กรีซ (The Antikythera Mechanism Tilemahos Efthimiadis)
Antikythera เป็นเกาะเล็กเกาะหนึ่งอยู่กลางทะเล Mediteranean ระหว่างเกาะ Kythera กับเกาะ Crete เกาะนี้มีชื่อเสียงเมื่อนักประดาน้ำพบอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์กรีกโบราณใช้ในการพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เมื่อ 2,000 ปีก่อน

ในปี ค.ศ.1900 ก่อนจะถึงเทศกาลอีสเตอร์เล็กน้อย เมื่อเรือเก็บปะการังและฟองน้ำได้เผชิญลมพายุที่พัดรุนแรง กัปตันจึงตัดสินใจนำเรือหลบเข้าที่กำบังที่เกาะ Antikythera เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งคลื่นสงบ จากนั้น Elias Stadiatis ซึ่งเป็นลูกเรือคนหนึ่งได้ดำน้ำลงไปลึกประมาณ 42 เมตร เพื่อค้นหาฟองน้ำและวัตถุมีค่าที่จมอยู่ในทะเล ทันใดนั้นเขาได้เห็นที่เบื้องหน้าเขามีซากเรือขนาดใหญ่ ที่ภายในมีรูปปั้นที่ทำด้วยหินอ่อน และทองสำริดมากมาย จึงกลับขึ้นมาบอกเพื่อนๆ นักประดาน้ำว่า ได้เห็นวัตถุล้ำค่า เช่น ถ้วยชาม ไห แก้วน้ำ อาวุธ เฟอร์นิเจอร์ และเหรียญเกลื่อนกลาด ทีมงานจึงดำน้ำลงไปขนวัตถุที่พบทุกเพื่อนำไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ในกรุง Athens ประเทศกรีซ

นอกเหนือจากสิ่งของและวัตถุดังที่กล่าวมานี้ มีกล่องไม้กล่องหนึ่งขนาด 20x30 เซนติเมตร และสูงประมาณ 10 เซนติเมตร จึงมีขนาดเท่ากล่องใส่รองเท้าที่ฝากล่องด้านในมีหน้าปัดแสดงเกียร์ประมาณ 30 เกียร์ พร้อมเข็มชี้และแขนหมุนที่มีคราบสนิมเขรอะ จึงไม่มีใคร ณ เวลานั้นสนใจหรือใส่ใจวัตถุชิ้นนี้เลย

จนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1902 นักโบราณคดีชื่อ Valerios Stais ได้เปิดกล่องออกดูและเห็นว่ามันเป็นเครื่องกลโบราณที่มีเกียร์ ล้อ และเพลาที่ทำด้วยทองสำริด จึงดูเสมือนเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งที่ Derek Price แห่งมหาวิทยาลัย Yale ในอเมริกาสัณนิษฐานว่าคงเป็นอุปกรณ์ที่คนกรีกโบราณใช้พยากรณ์ตำแหน่งของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ณ เวลาต่างๆ ของปี

การวิเคราะห์อุปกรณ์ในเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่า กลไก Antikythera ทำงานได้มากกว่าที่ Price คิด และอุปกรณ์นี้ทั้งยังทำให้โลกรู้ว่า ชาวกรีกโบราณมีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีที่ซับซ้อนได้ เป็นการลบล้างความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ชาวกรีกในสมัยก่อนสนใจแต่วิทยาศาสตร์ด้านทฤษฎีหรือคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรมเท่านั้นเอง จากนั้นปราชญ์กรีกก็ได้นำความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้ชาวอาหรับ ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำความรู้นี้ไปพัฒนาต่อเป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการสร้างนาฬิกาให้ชาวยุโรปใช้อีกทอดหนึ่ง
การวัดอายุและวิเคราะห์ซากเรือที่จมแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรือโรมันที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 260-180 ปีก่อนคริสตกาลและได้ออกเดินทางจากเมืองท่าบนฝั่งตะวันออกของทะเล Mediteranean เพื่อไปโรม หลังจากที่กองทหารกรีกได้ทำสงครามกับกองทัพของกษัตริย์ Mithridates ที่ 4 แห่งเมือง Pontus ในตุรกี ดังนั้นสิ่งที่พบในเรือจึงอาจเป็นสมบัติของศัตรูที่ทหารกรีกยึดได้ในสงคราม

ในเบื้องต้นใครๆ ก็คิดว่า กลไก Antikythera ถูกสร้างขึ้นที่เมือง Cos หรือเมือง Rhodes ซึ่งเป็นเมืองท่าในทะเล Mediteranean ที่เรือทุกลำจะต้องแวะเยือน เพราะเป็นเมืองที่นักดาราศาสตร์กรีกชื่อ Hipparchus ทำงาน แต่ตัวอักษรที่ปรากฏบนกลไก Antikythera เป็นภาษาของชาว Corinth ที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรีซ ในสมัยหนึ่งศตวรรษก่อนคริสตกาล ส่วนหน้าปัดของอุปกรณ์แสดงช่วงเวลา 4 ปีที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกับการแข่งกรีฑา Naa ซึ่งถูกจัดขึ้นโดยเฉพาะที่เมือง Dodona

ด้าน Attilio Mastrocinque แห่งมหาวิทยาลัย Verona ในอิตาลีกลับคิดว่า กลไกนี้ถูกขโมยมาจากเมืองหลวง Sinope ของกษัตริย์ Mithridates ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งของทะเลดำ เพราะนักภูมิศาสตร์กรีกชื่อ Strabo ได้เคยบันทึกว่า นายพลโรมันชื่อ Lucullus ยึดอุปกรณ์ลึกลับชื่อ ทรงกลม Billarus ได้เมื่อกองทัพของนายพลเข้ายึดเมือง Sinope ได้ในปี 72-71 ปีก่อนคริสตกาล แต่กลับไม่มีใครเคยเห็นทรงกลมนั้นเลย ด้วยเหตุนี้ Mastrocinque จึงคิดว่า คงเป็นเพราะอุปกรณ์ที่ว่าได้จมลงที่บริเวณใกล้เกาะ Antikythera นั่นเอง
|
ปัจจุบันกลไก Antikythera เป็นวัตถุมีค่าควรเมือง ซึ่งถูกนำออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติของกรีซในกรุง Athens แม้จะจมอยู่ในทะเลเป็นเวลานานร่วม 2,000 ปี แต่ยังมีความสำคัญและความน่าสนใจ เพราะได้ทำให้นักประวัติศาสตร์ต้องทบทวนความเข้าใจผิดที่เคยคิดว่าชาวกรีกโบราณไม่สนใจเทคโนโลยีสร้างอุปกรณ์เลย เพราะนิยมใช้ทาสทำงานแทน และมักใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เช่น เกียร์คู่ ในการเปลี่ยนความเร็วเชิงมุมของอุปกรณ์หมุน ดังผลงานของ Hero แห่งเมือง Alexandria ที่สร้างเครื่องจักรไอน้ำแบบง่ายๆ และ Vitruvius ที่ได้ออกแบบอุปกรณ์วัดระยะทางที่ล้อของรถม้าเคลื่อนที่ไป

สำหรับความรู้ดาราศาสตร์นั้นชาวกรีกโบราณเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ และได้อธิบายลักษณะการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่างๆ กับดวงอาทิตย์ โดยใช้แบบจำลองของปราชญ์ Hipparchus ซึ่งได้อธิบายวงโคจรที่แสดงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์รอบโลกว่าเป็นแบบ epicycle (epicycle เป็นวงกลมที่มีจุดศูนย์กลางซึ่งเคลื่อนที่เป็นวงกลมรอบโลก) ส่วนในกรณีดาวพุธและดาวศุกร์นั้น Apollonius ก็แถลงว่ามีวงโคจรเป็นแบบ epicycle เช่นกัน และในเวลาต่อมา Claudius Ptolemy ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ได้สร้างแบบจำลองใหม่ของสุริยะจักรวาล ซึ่งประกอบด้วยดาวเคราะห์ 5 ดวง คือดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ จนกระทั่ง Nicolaus Copernicus ได้เสนอแบบจำลองใหม่ที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางแบบจำลองของ Ptolemy จึงถูกยกเลิก

ในความพยายามจะพยากรณ์ตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ ในท้องฟ้าโดยใช้อุปกรณ์ดาราศาสตร์ ปราชญ์ Cicero ในคริสต์ศตวรรษแรกได้กล่าวถึงการเห็นอุปกรณ์หนึ่งที่ Poseidonius สร้างขึ้นเพื่อใช้ทำนายตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ทั้งห้ารวมถึงดวงจันทร์ด้วย Archimedes เองก็เคยเล่าว่า ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์แสดงวิถีโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 5 ในระบบสุริยะ แต่อุปกรณ์ได้สูญหายไปเมื่อ 212 ปีก่อนคริสตกาล เพราะนคร Syracuse ถูกกองทัพโรมันยึดครอง

ในการใช้รังสีเอ็กซ์วิเคราะห์การทำงานของกลไกด้วยเทคนิค linear tomography ซึ่งได้แยกศึกษาอุปกรณ์นี้ทีละชั้นๆ เพื่อบอกตำแหน่งและลักษณะการทำงานของเกียร์แต่ละชิ้น ภาพที่ได้แสดงให้เห็นว่า ชาวกรีกโบราณมีทักษะและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรกลมาก และได้ถ่ายทอดเทคนิคนี้ให้ชาวอาหรับ โดยเฉพาะ al-Biruni ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ ค.ศ.1000

ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของเทคโนโลยียุคใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องจักร เช่น รถไฟ รถยนต์ เรือกลไฟ ฯลฯ จนกระทั่งหุ่นยนต์ได้มีกำเนิดมาจากของเล่นเชิงกล เช่น นาฬิกาซึ่งเป็นผลิตผลของเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดจากกลไก Antikythera

ในหนังสือ Decoding the Heavens: Solving the Mystery of the World’s First Computer ที่เรียบเรียงโดย Jo Marchant และจัดพิมพ์โดย William Heinemann/DaCapo Press ในปี 2008/2009 ผู้เขียนได้กล่าวถึง Arthur C. Clark นักเขียนนวนิยาย Sci-fi ที่มีชื่อเสียงก่อนที่จะเสียชีวิตว่า ถ้าโลกได้รับรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของกรีกในการสร้างกลไก Antikythera เมื่อ 2,000 ปีก่อนนี้อย่างทันที มนุษย์เราคงได้เดินทางไปสำรวจดาวต่างๆ นอกระบบสุริยะแล้ว เพราะความสามารถในการสร้างกลไก Antikythera นั้นเทียบได้เท่าการสร้างนาฬิกาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 18
อุปกรณ์ Antikythera จัดแสดงที่ National Archaeological Museum  (Peulle)
Marchant ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การศึกษาจารึกภาษากรีกบนหน้าปัดของ Antikythera แสดงว่า กลไกได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล เทคนิคการวัดอายุของวัตถุอื่นๆ ที่จมอยู่ใกลๆ แสดงให้เห็นว่า ไหที่จมน้ำได้ถูกปั้นขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนคริสตกาล และเหรียญเงินกับเหรียญทองแดงที่พบแสดงให้รู้ว่าเรือได้จมลงเมื่อ 70-60 ปีก่อนคริสตกาล ขณะเดินทางจากเมือง Pergamon ไปโรม

สำหรับกลไก Antikythera เองนั้น ในเบื้องต้นนักโบราณคดีหลายคนคิดว่า มันเป็นอุปกรณ์ดาราศาสตร์ในทำนองเดียวกับ astrolabe แต่ astrolabe เวลาทำงานไม่ใช้เกียร์ ดังนั้น นักโบราณคดีชื่อ Derek de Solla Price จึงคิดว่า มันคงเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้คำนวณปฏิทิน แต่เมื่อวิเคราะห์จำนวนฟันเฟืองที่อยู่บนเกียร์ต่างๆ ก็พบว่าไม่สามารถใช้เป็นปฏิทินได้ ดังนั้น Price จึงคิดว่า กลไก Antikythera คงใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์มากกว่า และอาจใช้ทำนายเวลาที่เกิดอุปราคา

ในส่วนของใครคือผู้สร้าง Antikythera Marchant คิดว่า ปราชญ์ Archimedes แห่งเมือง Syracuse ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อสามศตวรรษก่อนคริสตกาลคงมีอิทธิพลต่อผู้สร้างกลไก Antikythera ด้านนักดาราศาสตร์ชื่อ Hipparchus แห่ง Rhodes ก็คงมีบทบาทในการสร้างแรงดลใจให้ผู้ประดิษฐ์เช่นกัน แต่อาจเสียชีวิตไปก่อนที่อุปกรณ์นี้จะเริ่มทำงาน สำหรับนักปรัชญา Posidonius แห่ง Rhodes ก็คงมีบทบาทไม่น้อยในการสนับสนุนการสร้างกลไกนี้ เพราะศิษย์ของ Posidonius ชื่อ Marcus Cicero เมื่อ 2,100 ปีก่อนได้เอ่ยถึงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่แสดงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวงเวลาเกิดอุปราคา หรืออาจใช้เป็นปฏิทินบอกเวลาแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ในขณะเดียวกัน Antikythera ก็อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อให้หมอดูใช้ในการทำนายโชคชะตา เพราะ Hipparchus เป็นบุคคลหนึ่งที่เชื่อมั่นในโหราศาสตร์มาก หรืออาจทำหน้าที่เหมือนอุปกรณ์ orrery ที่คนรวยและคนที่ได้รับการศึกษาในสมัยกลางใช้เรียนดาราศาสตร์ หรือ Antikythera อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อการบูชา และสรรเสริญเทพเจ้าแห่งดวงดาวบนสวรรค์ก็ได้

ด้าน Alexander Jones แห่ง Institute for the Study of the Ancient World ที่ New York คิดว่าเทคโนโลยีที่ใช้ใน Antikythera ทำให้มันเป็นปฏิทินที่ใช้กำหนดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ถูกจัดในทุก 4 ปีให้ประชาชนกรีกทุกเมืองมาร่วมแข่งขัน โดยใช้หลักการจัดว่า งานแข่งขันจะต้องจัดขึ้นในคืนเดือนเพ็ญที่ใกล้เวลา summer solstice มากที่สุด และการคำนวณเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้วิทยาการดาราศาสตร์

เพราะการแข่งขันโอลิมปิกเป็นการประลองความสามารถที่นับว่ามีเกียรติมากที่สุดในสมัยนั้น และถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นก็ได้ถูกจัดขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งถูกยกเลิกไปโดยจักรพรรดิโรมันชื่อ Theodosius เมื่อประมาณ ค.ศ.394

การศึกษาการทำงานของเกียร์และฟันเฟืองยังแสดงให้เห็นอีกว่า เวลาล้อหมุน คนที่หมุนเกียร์จะสามารถเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และเวลาเกิดอุปราคาได้

แต่หลังจากที่ได้จมน้ำเป็นเวลานานรวม 2,000 ปี อุปกรณ์ Antikythera ได้หักพังสลายไปบ้าง จนเหลือชิ้นส่วนดีๆ เพียง 82 ชิ้น โดยที่ผิวของแต่ละชิ้นได้แตกแยกเป็นริ้ว ส่วนฟันเฟืองก็ได้หักไปบ้างตามกาลเวลา นอกจากนี้ตัวอักษรที่ปรากฏก็ได้เลือนหายไปมาก ดังนั้นเวลาจะอ่านว่า อักษรเดิมเป็นเช่นไร นักโบราณคดีได้ใช้เทคนิค microfocus X-ray computed tomography ด้วยการฉายรังสีเอ็กซ์ ผ่าน Antikythera ในแนวเป็นชั้นบางๆ และพบว่า Antikythera สามารถใช้เป็นปฏิทินและพยากรณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ได้พร้อมกัน

คณะวิจัยยังคิดว่า Antikythera อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นที่เมือง Syracuse ใน Sicily ซึ่งเป็นอาณานิคมหนึ่งของอาณาจักร Corinth

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า ปริศนา Antikythera ยังไม่มีข้อสรุป และเป็นปริศนาลึกลับปริศนาหนึ่งที่ทำให้อุปกรณ์นี้คงความลึกลับและน่าสนใจมาจนทุกวันนี้



เกี่ยวกับผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น