จากเด็กน้อยที่เติบโตอยู่แถวๆ ภูเขาขยะอ่อนนุช สู่ผู้ร่วมคิดค้นนวัตกรรมการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ย INNOWASTE ที่คว้ารางวัลแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยนวัตกรรมขนาดเท่าเครื่องซักผ้านี้สามารถเปลี่ยนทั้งขยะเปียกและขยะแห้งให้เป็นปุ๋ยได้อัตโนมัติ
นายศุภฤกษ์ จิระกิตติดุลย์ หนึ่งในสมาชิกทีม INNOWASTE กล่าวว่าจากปัญหาวิกฤตขยะที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องดิน น้ำและอากาศตามมาจากการนำขยะไปกำจัด ซึ่งภาครัฐต้องเสียงบประมาณจัดการขยะมากกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้การกำจัดขยะด้วยการฝังกลบจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (มีเทน) ซึ่งรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า และขยะที่มีสัดส่วนมากที่สุดนั้นคือขยะอินทรีย์ หรือขยะจำพวกเศษอาหารเศษพืชผักผลไม้นั้นเอง
ประชาชนในประเทศไทยนั้นสร้างขยะอินทรีย์เฉลี่ย 6.82 ล้านตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 62 จากขยะทั้งหมด ซึ่งขยะอินทรีย์นั้นเป็นขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการหมักทำปุ๋ยต่อได้ แต่ในกระบวนการหมักทำปุ๋ยนั้นต้องใช้ทั้งเวลาและสถานที่จำนวนมาก กว่าจะได้ปุ๋ยออกมาให้ได้ใช้ และระหว่างที่หมักทำปุ๋ยนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องกลิ่นและเรื่องก๊าซมีเทนที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายของแบคทีเรียแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion)
นายศุภฤกษ์ กล่าวเสริมว่า จากเหตุผลข้างต้นรวมกับแรงบันดาลในในวัยเด็กที่ต้องการลดปริมาณขยะเพื่อที่จะได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงกลายมาเป็นแรงขับดันในการประดิษฐ์เครื่อง INNOWASTE ออกมา โดยเครื่องที่ทำออกมานั้นมีขนาดประมาณเครื่องซักผ้า 15 กิโลกรัม พร้อมระบบการแปรขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยแบบอัตโนมัติ อีกทั้งเครื่องนี้ยังสามารถใช้ได้กับทั้งขยะอินทรีย์แบบเปียกและขยะอินทรีย์แบบแห้ง
หากเป็นขยะอินทรีย์แบบเปียกนั้นเครื่องจะทำการรีดเอาส่วนที่เป็นน้ำออกและปล่อยลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของสถานที่นั้นเพื่อนำไปบำบัดต่อไป เครื่องนี้มีประสิทธิภาพในย่อยสลายทำปุ๋ยได้สูงสุดถึง 15 กิโลกรัมต่อครั้ง มีเวลาในกระบวนการแปรขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยประมาณ 30 นาทีและสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงคิดเป็นขยะ 180 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังมีสูตรปรุงดินสำหรับไม้ดอกและไม้ใบ
ในตอนแรกเริ่มนั้นมีปัญหาจากเรื่องของแปรรูปออกมาแล้วได้ปุ๋ยที่มีคุณสมบัติคล้ายดินเค็ม เนื่องจากอาหารในประเทศไทยเรานั้นเป็นอาหารที่ปรุงรสเยอะ เมื่อแปรรูปขยะอินทรีย์ออกมาแล้วจะมีปริมาณของโซเดียมที่สูง ซึ่งทางทีมวิจัยได้ใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการคิดและศึกษาสูตรปรุงดินเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในสูตรปรุงดินนั้นไม่ใช้จุลินทรีย์ ทำให้ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเรื่องการเลี้ยงจุลินทรีย์
ทางทีมพัฒนาได้นำเครื่องรุ่นที่หนึ่งไปทดลองที่โรงเรียนบ้านหนองแวง จ.นครราชสีมา แต่เครื่องรุ่นดังกล่าวยังไม่เป็นระบบอัตโนมัติ เด็กๆ ที่โรงเรียนยังต้องใช้ไม้เพื่อช่วยเครื่องในการอัดและย่อยขยะ ส่วนปุ๋ยที่ได้ออกมานั้นก็ยังอยู่ในรูปแบบเปียก ซึ่งถ้าต้องการเก็บรักษาปุ๋ยที่ไว้ใช้ก็ต้องนำไปตากให้แห้ง แต่สำหรับเครื่องรุ่นที่สองนั้นเป็นระบบอัตโนมัติที่มีระบบรีดน้ำออกจากขยะอินทรีย์และ ปุ๋ยที่ได้ออกมานั้นก็อยู่ในรูปของดินแห้งๆ ซึ่งไม่มีกลิ่นเน่าเสีย
ปุ๋ยที่ออกมาจากเครื่องนั้น ทางองค์กรสามารถนำไปใช้ในการตกแต่งภูมิทัศน์ภายในองค์กร บริจาคให้โรงเรียนเพื่อเป็นโครงการแสดงความรับผิดชอบต่อสัมคม (CSR) อีกทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจำกัดขยะอินทรีย์ประมาณ 567 ล้านบาทต่อปี ลดปริมาณ Carbon Footprint จากขยะ 492,000 ตันคาร์บอนต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการต้องปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 17.25 ล้านไร่ต่อปี
เครื่องแปรรูปขยะ INNOWASTE เครื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในด้านแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และยังได้จัดแสดงภายในงาน I-NNOVATION Thailand Week 2017 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5-8 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ภิรัชฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา