จากจุดเริ่มต้นที่ผู้ปกครองไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูก “ผักไฮโดรพอนิกส์” จึงเป็นโจทย์มาให้รุ่นลูกได้ขบคิดวิธีควบคุมสภาพโรงเรือนให้เหมาะสม ด้วยประสบการณ์คนรุ่นใหญ่ที่เคยไปทำงานในฟาร์มที่ “อิสราเอล” และเห็นว่าดินแดนที่แห้งแล้งและเต็มไปด้วยทะเลทรายยังเพราะปลูกได้สำเร็จ ทำไมประเทศไทยจะประสบความสำเร็จบ้างไม่ได้ และกลายเป็นเส้นทางให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสนับเงินล้านจากการพัฒนา “โรงเรือนอัจฉริยะ”
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรือนทางการเกษตรของ “หจก.นับเงินฟาร์ม” ณ อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมองผิวเผินก็คล้ายโรงเรือนทั่วไป แต่ภายในนั้นควบคุมด้วยระบบอัจฉริยะที่สั่งการผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งควบคุมและตัดสินใจสั่งงานแบบอัตโนมัติแทนมนุษย์ หรือสั่งงานทางไกลจากนอกฟาร์มผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ตามรูปแบบการทำงานของ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things) หรือไอโอที (IOT)
โรงเรือนของนับเงินฟาร์มนั้นติดตั้งระบบ Smart Think ควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟนที่ บริษัท สมาร์ทติ๊งคอนโทรล (Smart Think Control) จำกัด พัฒนาขึ้นโดยระบบมีเซ็นเซอร์ที่ช่วยตรวจสอบค่าต่างๆ แล้วส่งข้อมูลเพื่อนำกลับมาคำนวณและสั่งการทำงานตามที่ตั้งการทำงานไว้ รวมถึงวางแผนการปลูก วางแผนการตลาด และทำให้เกษตรกรกับพ่อค้าคนกลางเข้าถึงข้อมูลของกันและกันได้
วิยะดา เทียมขุนทด หนึ่งในผู้บริหาร บริษัท สมาร์ทติ๊งคอนโทรล (Smart Think Control) จำกัด อธิบายให้ฟังว่า ระบบ Smart Think มีเซนเซอร์ 5 ตัวที่สามารถวัดค่า pH เพื่อควบคุมช่วงของค่า pH ที่ทำให้พืชเติบโตได้ดีและสม่ำเสมอ วัดค่าการนำไฟฟ้าของปุ๋ย (EC) เพื่อควบคุมปริมาณปุ๋ยให้พืชสามารถดูดซึมน้ำและอาหารได้ดี วัดค่าอุณหภูมิเพื่อให้ผักอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และวัดค่าความชื้นเพื่อควบคุมการเกิดโรคของผัก
ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากเซนเซอร์ในระบบ Smart Think จะนำไปสู่การควบคุมปริมาณน้ำและปุ๋ยที่เหมาะสม เช่น ควบคุมการพ่นหมอกให้ผักและผลไม้ให้ได้ตามความต้องการของพืช ซึ่งช่วยในการควบคุมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและช่วยเกษตรกรควบคุมต้นทุนได้ อีกทั้งยังลดรายจ่ายด้านทรัพยากรบุคคล เพราะระบบสามารถควบคุมการทำงานได้อัตโนมัติ และยังสั่งการผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์
ด้าน พีรดนย์ ไชยมี หนึ่งในทีมบริหาร บริษัท สมาร์ทติ๊งคอนโทรล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เซนเซอร์ในระบบทั้งหมดผลิตขึ้นในท้องถิ่น คือผลิตใน จ.อุบลราชธานี นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมานั้นมีทั้งแบบที่ลูกค้านำไปติดตั้งเองหรือทางบริษัทรับบริการติดตั้งให้ ซึ่งทางบริษัทมีเครือข่ายใน จ.อุบลราชธานี จ.นครราชสีมา และกรุงเทพฯ ในการประสานงานติดตั้งระบบ
พีรดนย์ระบุว่า ระบบโรงเรือนอัจฉริยะนี้ใช้กับพืชได้หลากหลาย เช่น เมล่อน องุ่น ผักไฮโดรโพนิกส์ รวมถึงการพาะเห็ดถั่งเช่า ส่วนการใช้งานกับพืชยืนต้น เช่น มะพร้าว ยังต้องอาศัยการพัฒนาไปอีกขั้น โดยต้องพัฒนาเซนเซอร์ให้สามารถตรวจสอบค่าต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับพืชยืนต้น อีกทั้งยังต้องการททดลองใช้กับการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ครอบคลุมการเกษตรทุกด้าน
สำหรับราคาของระบบโรงเรือนอัจฉริยะนี้มีเริ่มตั้งแต่ 6,900 บาท ซึ่งเป็นระบบเหมาะสำหรับโรงเรือนขนาดเล็กในพื้นที่ 1 งาน และระบบสำหรับโรงเรือนขนาดใหญ่ราคาหลักแสนบาท ซึ่งวิยะดาเผยว่า นับแต่เริ่มโครงการมาได้ 1ปีตอนนี้กำลังจะได้นับเงินหลักล้านบาทแล้ว
หลังจากเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ไม่นานพีรดนย์และวิยะดาได้เริ่มพัฒนาระบบดังกล่าว โดยหลังจากดำเนินการมาได้ประมาณ 1 ปีก็มีรายได้เกือบล้านบาท ซึ่งจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบนี้เกิดจากพ่อแม่ของพีดนย์ปลูกผักไฮโดรพอนิกส์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้ตั้งโจทย์ให้ทั้งสองคนซึ่งจบทางด้านไอทีลองพัฒนาระบบที่สามารถควบคุมโรงเรือนได้อัตโนมัติ
"พ่อกับแม่ของพีรดนย์เคยไปทำงานที่อิสราเอลและเห็นโรงเรือนอัจฉริยะที่สามารถปลูกพืชผักได้หลากหลาย เลยตั้งโจทย์ให้พวกเราลองพัฒนาระบบโรงเรือนนี้ดูบ้าง เพราะเราเองก็เรียนจบทางด้านไอที โดยให้ความเห็นว่าอิสราเอลที่เต็มไปด้วยทะเลทรายยังทำได้ แล้วเมืองไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า มีทรัพยากรมากกว่าก็น่าจะทำได้เช่นกัน” วิยะดาเล่าที่มาของจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย
ในการดำเนินงานของสมาร์ทติ๊งคอนโทรลได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการประสานงานของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งวิยะดาบอกว่า ได้รับโอกาสในการนำผลงานไปจัดแสดงหลายแห่ง ทำให้ได้รับข้อเสนอแนะที่นำมาสู่การปรับปรุงผลงาน รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายทั่วประเทศ อีกทั้งทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย
ด้านพีรดนย์กล่าวว่า อีกความภาคภูมิใจของบริษัทคือการสร้างงานในท้องถิ่น เนื่องจากเซนเซอร์ทั้งหมดที่ใช้ในระบบโรงเรือนอัจฉริยะนั้นผลิตขึ้นใน จ.อุบลราชธานี และในอนาคตยังมีแผนพัฒนาชุดปลูกผักสำหรับคอนโดมิเนียม แต่ยังต้องศึกษาพฤติกรรมคนเมือง และพัฒนาให้มีต้นทุนที่เหมาะสมกับการปลูกผักจำนวนน้อยๆ