ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมดี้โอกาสเดินทางไปปฏิบัติงานเก็บข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากเสร็จงานผมและเพื่อน ก็ถือโอกาสลางานและอยู่ต่อ เพื่อจะเดินทางไปยัง สถานที่แห่งหนึ่งซึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Area) ที่มีความมืดมากที่สุดแห่งหนึ่ง และนอกจากนั้นมันยังเป็นสถานที่ ที่มีความมหัศจรรย์ทางด้านธรณีวิทยาอีกด้วย
ประวัติเล็กน้อย
หุบเขามรณะ (Death valley) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หุบเขาแห่งความตายก็ว่าได้ ผมขอเล่าประวัติให้ฟังกันสักหน่อย "หุบเขาแห่งความตาย” เป็นทะเลทรายอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา บริเวณเขตแดนระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐเนวาดา เป็นจุดที่แห้งแล้งที่สุด ต่ำที่สุดและร้อนที่สุดในอเมริกาเหนือ เคยมีการบันทึกอุณหภูมิของอากาศที่สูงถึง 57 องศาเซลเซียส ในวันที่ผมเดดินทางไป มีอุณหภูมิสูงถึง 51 องศาเซลเซียส (ร้อนที่สุดในชีวิตก็ว่าได้)
ปรากฏการณ์ “หินเดินได้”
ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องสภาพท้องฟ้าและความมืดของบริเวณนี้ ผมขอเล่าความพิเศษของสถานที่แห่งนี้คือ ปรากฏการณ์ Sailing Stones หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของปรากฏการณ์ “หินเดินได้” ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในทุก 2-3 ปีเท่านั้น คือจะมีร่องรอยการเคลื่อนที่ของก้อนหินเป็นทางยาวหลายร้อยเมตรอย่างน่าอัศจรรย์ การเคลื่อนที่ของหินบางก้อนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช้เวลาเคลื่อนที่ไปในเขตที่ราบสูง เรซ แทรค พลาย่า (Racetrack Playa) แห่งนี้นานประมาณ 3 - 4 ปี
งานวิจัยของ Richard Norris นักโบราณชีวะวิทยา ซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ได้อธิบายว่า การเกิดปรากฏการณ์ “หินเดินได้” นั้นเกิดจากแผ่นน้ำแข็งก่อตัวขึ้นเป็นแผ่นบางๆ มีความหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร หลังจากที่มีฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยเต็มที แล้วละลายเมื่อมีแสงแดดส่อง ทำให้พื้นน้ำแข็งแตกเป็นแผ่นเล็กๆ พอมีลมพัดผ่านพื้นที่ดังกล่าว น้ำแข็งแผ่นย่อยเหล่านี้ก็จะผลักดันก้อนหินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนทำให้เกิดเป็นรอยทาง ประกอบกับพื้นที่ผิวเป็นดินโคลนอ่อนๆ เมื่อน้ำรอบก้อนหินแข็งตัว และมีกระแสลมพักผ่านทางด้านบนทำให้แผ่นน้ำแข็งลากก้อนหินให้ไถลไปด้วย จึงเกิดเป็นร่องรอยการเคลื่อนที่ของก้อนหิน คล้ายกับหินเดินได้ดังกล่าว
เริ่มต้นการเดินทางสู่หุบเขาแห่งความตาย (Death Valley National Park)
สำหรับการเดินทางเราเริ่มออกจาก Las Vegas ขึ้นเหนือ ลุยทะเลทรายตามเส้นทางหุบเขามรณะ (Death Valley National Park) โดยก่อนเดินทางเพื่อนผมผู้มีประสบการณ์บอกกับผมว่า ถ้าจะไปเราต้องใช้รถ SUV 4x4 เท่านั้น และต้องมีคนที่พร้อมเปลี่ยนยางเป็นด้วย เนื่องจากเส้นทางหลังจากเข้าสู่เขตอุทยาน เพื่อจะมุ่งสู่ Death Valley นั้นเป็นหินแหลมคม ระยะทางกว่า 20 ไมล์ นั่นหมายถึงเรามีโอกาสยางแตก และหากยางแตกเกินกว่า 1 เส้น นั้นหมายถึงเราจะติดอยู่ใน Death Valley นานกี่วัน อันนี้ตอบไม่ได้ เพราะแต่ละเดือนมีคนเข้าไปน้อยมาก หรือแทบไม่มีใครขับรถเข้าไป เพราะค่อนข้างเสี่ยง นอกจากนี้ ด้านในก็ไม่มีเจ้าหน้าที่อีกด้วย และที่เลวร้ายที่สุดคือ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ (คำแนะนำส่วนตัว ถ้าใครอยากจะไปแบบไม่เสี่ยง ควรหาเพื่อนขับรถไปด้วยกัน 2 คันจะดีที่สุด)
สำหรับภาพเส้นทางที่สุดโหด ซึ่งเต็มไปด้วยหินขนาดใหญ่ แหลมคมนั้น ผมไม่สามารถหยิบกล่องออกมาถ่ายภาพได้ เนื่องจากต้องคอยมองทางและระมัดระวังตลอดการเดินทาง รวมทั้งต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้เดินทางไปถึงที่หมายก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน เพราะหากขับรถในขณะมืดแล้ว จะอันตรายมาก เพราะเราจะมองไม่เห็นหินแหลมๆ ที่จะคอยทิ่มยางเราได้เลย
จากภาพข้างต้น ฝรั่งชาวต่างชาติที่มาเที่ยว Death Valley ซึ่งรถยางแตกอยู่นั้น ซึ่งเปลี่ยนยางไม่เป็น และคงรอคนมาช่วยอยู่นานมาก พอพวกเขาเห็นเรา เขาจึงใช้การจอดรถขวางทางไม่ให้ผ่าน เพื่อให้พวกเราช่วยเหลือให้ได้ แต่คนไทยอย่างเราก็ไม่แล้งน้ำใจนะครับ ผมนี่มุดรถเปลี่ยนยางให้เค้า และได้น้ำเปล่ามา 1 ขวด หลังจากช่วยเหลือชาวบ้านเสร็จ พวกเราก็รีบเดินทางต่อ เพราะยังคงเหลือระยะทางอีกไกล เราไปถึงจุดหมายหลายทางก็ค่ำพอดี
และแล้วเราก็เดินทางถึงจุดหมาย ซึ่งตอนนั้นก็ค่อนข้างมืดแล้ว พวกเราเริ่มวางแผนเดินสำรวจสถานที่จุดตั้งกล้องถ่ายภาพกัน เพราะต้องเดินหาหินเดินได้กันก่อนว่า ก้อนไหนสวย ก้อนไหนเห็นร่องรอยการเคลื่อนที่ของก้อนหินชัดที่สุด เพราะบริเวณดังกล่าวแทบไม่น่าเชื่อ ตอนเราดูด้วยตาเปล่าก็ดูเหมือนไม่กว้างมาก แต่แค่พอเดินลงไปสำรวจเท่านั้นถึงรู้ว่ามันกว้างและไกลมาก
หลังจากพวกเราทางอาหารเสร็จ ท้องฟ้าก็เริ่มมืด แต่ยังดีที่ยังพอมีแสงดวงจันทร์อยู่บ้าง สิ่งสำคัญของการถ่ายภาพบริเวณที่เรียกได้ว่าเป็น “เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า” (Dark Sky Area) คือ ในช่วงที่เป็นกลางคืน ไม่มีแสงดวงจันทร์ท้องฟ้าบริเวณดังกล่าวจะมืดมาก ซึ่งมีพื้นที่โดยรอบอุทยานยาวกว่า 225 กิโลเมตร ที่ปราศจากแสงไฟ เรียกได้ว่า “มืดที่สุดในชีวิต” ของพื้นที่ที่เคยออกไปถ่ายภาพดวงดาวเลยก็ว่าได้
สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเดินออกไปถ่ายคือ การทำความเข้าใจกันก่อน คือ เราจะใช้แสงไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะแสงไฟอาจทำให้รบกวนสัตย์ที่อยู่แถวนั้น และในความมืดและโล่งกว้างมาก หากเราเดินไปเรื่อยๆ เราอาจหลงทางในความมืดได้ง่ายๆ จึงต้องปักหมุดตำแหน่งของรถที่เราจอดไว้ใน Google Map ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้นำทางหากเดินไปไกลแล้วหลงทาง
ภาพแรกสดๆ จากหลังกล้อง มืดจนแทบไม่เห็นอะไรเลย
จากภาพข้างบน ผมใช้เวลาถ่ายนานกว่า 1 นาทีเพื่อต้องการที่จะเก็บรายละเอียดทั้งท้องฟ้าแนวทางช้างเผือกและฉากหน้าที่เป็นพื้นดินและหินเดินได้ แต่ภาพที่ได้ของฉากหน้านั้น ต้องยอกรับว่ามืดมากจนแทบเก็บรายละเอียดมาไม่ได้เลย ซึ่งจะเห็นว่ามีสัญญาณรบกวน (Noise) ค่อนข้างมาก ถึ่งแม้จะใช้ค่าความไวแสงสูงถึงถึง ISO4000 แล้วก็ตาม ซึ่งก็สมกับที่ได้รับการรับรองให้เป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าจริงๆ
ในตอนต่อไปผมจะมานำภาพถ่ายมาให้ดูกันว่า สถานทีที่มืดสนิทมาก มีความน่าสนใจอย่างไร และภาพถ่ยจะออกมาเป็นแบบไหน ติดตามกันในคอลัมน์หน้านะครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน