xs
xsm
sm
md
lg

สกว.คว้ารางวัลยุทธภัณฑ์ปฎิบัติการรบและช่วยรบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการ การผลิตแบริ่งรับเพลาเรือโดยใช้ยางสังเคราะห์ โดย นาวาโทเสวียง เถื่อนบุญ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากชุดอุตสาหกรรมความมั่นคง และเทคโนโลยีอวกาศ ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
นักวิจัยทหารทุน สกว. คว้า 2 รางวัล กลุ่มยุทธภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการรบและช่วยรบ ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม ในพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2560 ให้กับหน่วยงานภายใน ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ให้ตรงความต้องการของกองทัพ และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการเปิด

พิธีมอบรางวัลผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย รางวัลวิจัยนวัตกรรมด้านหลักการ และรางวัลนวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์ ซี่งกระทรวงกลาโหมมีนโยบายในการผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ภายในประเทศให้พัฒนาได้ตรงกับความต้องการของกองทัพ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้าเทคโนโลยีการทหารจากต่างประเทศ และสนับสนุนการปฏิบัติงานราชการจริง เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะการด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจเพื่อลดความขัดแย้งของปัญหาในพื้นที่

ในโอกาสนี้มีนักวิจัย สกว. ได้รับรางวัลในกลุ่มยุทธภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการรบและช่วยรบ โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการ "การผลิตแบริ่งรับเพลาเรือโดยใช้ยางสังเคราะห์" โดย นาวาโทเสวียง เถื่อนบุญ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากชุดอุตสาหกรรมความมั่นคง และเทคโนโลยีอวกาศ ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนากระบวนการผลิตแบริ่งรับเพลาเรือ โดยใช้ยางสังเคราะห์ ใช้วิธีการวิเคราะห์สูตรยางคอมพาวด์ของแบริ่งยางจากต่างประเทศ ร่วมกับการศึกษามาตรฐาน MIL-DTL-1790C(SH) จนทำให้สามารถปรับสูตรเคมี และทดสอบจนได้สูตรยางคอมพาวด์ ที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน MIL-DTL-1790C(SH)

“งานวิจัยนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการลดขั้นตอนของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อแบริ่งยางจากต่างประเทศ อีกทั้งขยายผลสู่การวิจัยและผลิตแบริ่งยางสำหรับเรือขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนได้” นาวาโทเสวียงระบุ

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โครงการ "วิจัยและพัฒนาชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่" โดย พันเอก รัตติพล ตันยา ภายใต้ทุนสนับบสนุนจากชุดเดียวกันของ สกว. ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรีประเภทลิเธียมไออน สำหรับการใช้งาน ร่วมกับระบบควบคุมทิศทางของปืนใหญ่ ผ่านการเก็บข้อมูลสภาวะการใช้งานของชุดแบตเตอรี่เดิมที่ใช้งานอยู่ กับปืนใหญ่ ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกและทดสอบเซลล์แบตเตอรี่ รวมถึงออกแบบและพัฒนาวงจรควบคุมแบตเตอรี่ ออกแบบ พัฒนา และทดสอบเครื่องและระบบชาร์จ โครงสร้างทางกายภาพและทางกลตาม ตลอดจนการประกอบ และผลิตเป็นชุดแบตเตอรี พร้อมเครื่องชาร์จ ที่มีความจุมากกว่า 90 แอมป์ ซึ่งมีระยะเวลาการชาร์จปกติ 6 ชั่วโมง และเวลาเร่งด่วน 3-4 ชั่วโมง อีกทั้งมีระบบสมดุลความดัน เพื่อรักษาสภาพ โดยผ่านการทดสอบคุณสมบัติ และความปลอดภัย ทั้งระดับเซลล์และระดับแพ็ค รวมถึงได้ส่งมอบต้นแบบชุดแบตเตอรี และเครื่องชาร์จ 2 ชุด ตามสัญญาของโครงการให้กับศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี เพื่อนำไปใช้งานจริงในภาคสนาม และเก็บข้อมูลระยะยาวต่อไปเพื่อปรับปรุง

ทั้งนี้ปัจจุบันยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยงานทหารทุกหน่วยเหล่ามักจะมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ และหน่วยประเมินผลคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งการทำงานของยุทโธปกรณ์เหล่านี้ ต้องอาศัยแบตเตอรีเป็นแหล่งพลังงานหลัก เมื่อชำรุดเสียหายหน่วยงานต้องจัดซื้อแบตเตอรีใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งบางกรณีราคาอาจสูงมากและไม่สามารถจัดหาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะชุดแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ควบคุมทิศทางของปืนใหญ่ที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานจำนวนมาก และการจัดซื้อใหม่มีราคาสูงในระดับล้านบาทขึ้นไป งานวิจัยที่พัฒนาขึ้นนี้จึงเป็นการทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ ลดต้นทุนการนำเข้า ประหยัดงบประมาณของกองทัพ อีกทั้งสามารถซ่อมบำรุงเองได้ง่าย และสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ในประเทศ ทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงกลาโหม
โครงการ วิจัยและพัฒนาชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ โดย พันเอก รัตติพล ตันยา ภายใต้ทุนสนับบสนุนจากชุดเดียวกันของ สกว.


กำลังโหลดความคิดเห็น