xs
xsm
sm
md
lg

ลบอคติ “หญิงสวยไม่เก่ง หญิงเก่งไม่สวย” มอบรางวัล "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" 3 หญิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ, ดร.มาริสา พลพวก, ดร.ผุศนา หิรัญสิทธิ์  และ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์
ถึงแม้ว่าเราจะเข้าสู่ยุคแห่งความเสมอภาคที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น แต่ดูเหมือนว่าในเรื่องทัศนคติ และมุมมองทางความคิดที่มีต่อผู้หญิงที่ว่า “ผู้หญิงสวยมักไม่เก่ง ผู้หญิงเก่งมักไม่สวย” แต่วันนี้ความคิดของพวกเราจะเปลี่ยนไป เมื่อมาเจอกับพวกเธอในงานแถลงข่าว โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” For Women in Science ประจำปี 2560

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2560 บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสำนักเลขาธิการว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แถลงข่าวโครงการทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” For Women in Science ประจำปี 2560 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ พร้อมทั้งฟังเรื่องราวผลงานวิจัยจากนักวิจัยสตรีทั้ง 3 ท่าน จาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี

นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย ''เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ได้เดินทางมาถึงปีที่ 15 ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมากกว่า 100 ปี

ด้านอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการทุนวิจัยลอรีอัล "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์

นักวิจัยสตรีที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 ท่าน จาก 3 สาขา ได้แก่ ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.มาริสา พลพวก จากภาควิชาจุลวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสาขา วิทยาศาสตร์ชีวภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนสาขาวัสดุศาสตร์ และ ดร.ผุศนา หิรัญสิทธิ์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี

ดร.มาริสา พลพวก ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า การศึกษากระบวนการออโตฟาจีซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรคนั้น เป็นอีกหนึ่งการศึกษาที่คนไทยควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเชื้อมาลาเรียและเชื้อวัณโรคต่างเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประชากรโลกและประชากรในประเทศไทยมาโดยตลอด นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันตัวเชื้อยังมีการพัฒนากลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ดื้อยา อาจส่งผลให้การรักษาด้วยยาที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป และมีแนวโน้มที่จะทำให้ติดเชื้อรุนแรงจนถึงเสียชีวิต

"เบื้องต้นในงานวิจัยโมเลกุลกระตุ้นออโตฟาจีที่จะพัฒนามาจากสารสกัดผลิตภัณฑ์ของไทยนั้น อาจทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือ ยาตัวใหม่เพื่อช่วยในการต้านเชื้อ และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ในอนาคต ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งงานวิจัยทางด้านเชื้อวัณโรค อาจพัฒนาต่อยอดการยับยั้งและช่วยฆ่าเชื้อโรคมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์ไบจิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเชื้อที่ระบาดมากที่สุดและดื้อยามากที่สุดในประเทศไทยได้”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจรมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมยางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเกษตรกรรมหลักของประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการนำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีไปประยุกต์ใช้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ในอนาคต

"นับเป็นการนำยางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันขยะยางจากภาคการขนส่งหรืออุตสาหกรรมยางก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดผ่านการแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ซึ่งน้ำมันจากขยะยางนั้นหากมีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถพัฒนาเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกเพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศชาติได้ต่อไป”

ด้าน ดร.ผุศนา หิรัญสิทธิ์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี กล่าวถึงรายละเอียดงานวิจัยว่า การประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Solid-State DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้สามารถใช้เพื่อพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น เป็นอีกวิธีการสำคัญที่สามารถช่วยให้ออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้มีสมบัติตามความต้องการเพื่อใช้ในการพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเป็นหัวใจของกระบวนการปฏิกิริยาต่างๆ โดยวิธีนี้สามารถช่วยให้เข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับอะตอม ทำให้ทราบถึงปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเร่งปฏิกิริยา ช่วยลดการพึ่งพาเครื่องมือการทดลองที่มีราคาสูงรวมไปถึงขั้นตอนในการทดลองที่ซับซ้อนออกไป พร้อมกับสร้างแนวทางสำหรับพัฒนาวิจัยได้ถูกต้องชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังประหยัดค่าใช้จ่าย
 
"ในระยะยาวการวิจัยนี้สามารถพัฒนาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้เป็นเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้น ลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกและภาวะโลกร้อน ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอีกด้วย และงานวิจัยนี้ยังเกี่ยวเนื่องต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทนให้มีความยั่งยืน และสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานทดแทนด้วยเช่นกัน”

นอกจากเปิดตัวนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ผู้ได้รับทุนวิจัยในปี 2560 ภายในงานแถลงข่าวยังมีการมอบมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oréal Woman Scientist Crystal Award” ให้นักวิจัยสตรีดีเด่นแก่ ดร.อัญชลี มโนกุล จากห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง

ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงแรงบันดาลใจและเส้นทางที่นำมาสู่การเป็นนักวิจัยว่า แรงบันดาลใจจากความคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกและมีประโยชน์ ประกอบกับการหลงไหลในการของเอนไซด์เพราะว่าเอนไซม์นั้นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในสิ่งมีชีวิตให้ถูกต้องรวดเร็วและว่องไว โดยแรงบันดาลใจนี้นำมาสู่การศึกษาวิจัยเอนไซม์กลุ่มหนึ่งที่สามารถดึงออกซิเจนมาเพื่อการย่อยสลายสารอะโรมาติก

ทาง ดร.อัญชลี กล่าวว่า แรงบันดาลใจเกิดจากตอนที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทยใหม่ๆ และได้ไปดูโรงงานผลิตรถยนต์ และได้เยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์ที่รับชิ้นส่วนมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ แต่ได้เล็งเห็นว่าคนไทยนั้นมีฝีมือ เธอจึงได้มุ่งมั่นวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ด้วยการพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นรูปแบบผง

สำหรับโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้มากกว่า 2,500 ท่าน จาก 112 ประเทศทั่วโลก
 
ในส่วนของประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี โดยตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 61 ท่าน
ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น และ ดร.อัญชลี มโนกุล
 ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์
 ดร.มาริสา พลพวก
ดร.ผุศนา หิรัญสิทธิ์
ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น
ดร.อัญชลี มโนกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น