xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง “หอยทากยักษ์” จัดการ “ดาวทะเล” จอมเขมือบปะการัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดาวมงกุฏหนามที่กำลังกินปะการังในเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งสูญเสียปะการังไปมากกว่าครึ่งในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพายุ ดาวทะเล และการฟอกขาวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (AFP Photo/KATHARINA FABRICIUS)
นักวิจัยออสเตรเลียพยายามขยายพันธุ์ “หอยทากยักษ์” สปีชีส์หายาก หวังใช้เพื่อจัดการ “ดาวมงกุฏหนาม” จอมเขมือบปะการัง ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและกำลังทำลายแนวปะการัง “เกรทแบริเออร์รีฟ” มรดกโลกทางธรรมชาติ

สำหรับ “ดาวมงกุฏหนาม” จอมเขมือบปะการังนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ทั้งมลพิษและของเสียจากการเกษตรเป็นเร่งให้ดาวทะเลชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังทำลาย “เกรทแบริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ถูกจัดให้เป็นมรดกโลกทางด้านระบบนิเวศ

รายงานจากเอเอฟพีระบุถึงการศึกษาระดับมหภาคเมื่อปี 2012 ที่เผยถึงผลกระทบของดาวมงกุฏหนามต่อแนวปะการังที่มีแนวถึง 2,300 กิโลเมตรว่า ตลอด 27 ปี โดยนับย้อนไปจากการศึกษานั้นปะการังลดไปถึงครึ่งหนึ่ง และในจำนวนที่ลดลงนั้นเป็นผลจากดาวทะเลที่มีหนามคล้ายมงกุฏนี้ถึง 42%

มีความพยายามทำลายดาวมงกุฏหนามในหลายรูปแบบ และอีกแนวทางหนึ่งคืองานวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science: AIMS) ซึ่งพบว่า ดาวหนามมงกุฏเหล่านี้จะพยายามเลี่ยงเข้าใกล้บริเวณที่มีหอยทากทะเลยักษ์แปซิฟิก (Pacific triton sea snail)

หอยทากทะเลยักษ์แปซิฟิกที่สามารถโตจนตัวยาวได้ถึงครึ่งเมตรนี้ ได้พัฒนาระบบกลิ่นที่ดีเยี่ยมและออกล่าเหยื่อโดยอาศัยกลิ่นอย่างเดียว และงานวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลียได้เผยให้เห็นว่า หอยทากยักษ์นี้โปรดปรานดาวมงกุฏหนามเป็นพิเศษ

ทว่าหอยทากยักษ์แปซิฟิกนี้จะกินดาวมงกุฏหนามเพียงสัปดาห์ละครั้ง และจากการล่าของมนุษย์เพื่อเอาเปลือก ทำให้หอยทากทะเลที่ช่วยปราบศัตรูของปะการังนี้เข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์และมีเหลืออยู่ไม่มาก

การศึกษาของทีมวิจัยนี้นำไปสู่การประกาศให้ทุนวิจัยจากรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อขยายพันธุ์หอยทากยักษ์แปซิฟิก ซึ่ง วอร์เรน เอนต์ช (Warren Entsch) สมาชิกสภาผู้แทนจากรัฐควีนแลนด์ ให้ความเห็นว่า โครงการขยายพันธุ์หอยทากทะเลยักษ์นี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น

“ถ้าสำเร็จนะ โครงการวิจัยนี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตผลกระทบของทอยทากทะลยักษ์ที่มีต่อดาวมงกุฏหนามได้อย่างใกล้ชิด และทดสอบศักยภาพในฐานะเครื่องมือในการจัดการเพื่อช่วยลดการสูญเสียปะการัง

ภายในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลียนั้น มีหอยทากทะเลยักษ์ที่ทางสถาบันฯ จับมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วจำนวน 8 ตัว ซึ่งหอยทากทะเลยักษ์ได้วางไข่รูปหยดน้ำจำนวนมาก และเมื่อเดือนที่ผ่านมามีตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มาแหวกว่ายน้ำกว่าแสนตัว แต่เพราะหอยหากทะเลเหล่านี้ค่อนข้างหายาก เราจึงแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวัฏจักรของหอยทากแปซิฟิกนี้เลย

“เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับหอยทากยักษ์นี้ พวกมันกินอะไร เป็นสัตว์หากินกลางคืนหรือไม่ และนี่ยังเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะขยายพันธุ์พวกมัน” เชอรี มอตตี (Cherie Motti) นักนิเวศวิทยาทางทะล หัวหน้าโครงการขยายพันธุ์หอยทากทะเลเผยแก่เอเอฟพี

งานวิจัยของมอตตีจะมุ่งเป้าไปที่การช่วยให้ตัวอ่อนของหอยทากยักษ์ผ่านเข้าสู่ระยะวัยอ่อน และระยะโตเต็มวัย ซึ่งมีคุณค่าต่อการศึกษาทางชีววิทยาของพวกมัน ด้วยเป้าหมายสุดท้ายคือปล่อยพวกมันเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของดาวมงกุฏหนามในฤดูวางไข่

“ถ้าเรามีนักล่าตามธรรมชาติทำหน้าที่ (ฆ่าดาวทะเล) ให้เราได้ นั่นก็จะให้ผลลัพธ์ที่สุดเลย ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่ต้องไปต่อ เราหวังที่จะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ และจะมีลูกๆ หอยทากยักษ์ที่เติบโตอย่างแข็งแรงภายใน 2 ปี” มอตตีกล่าว

จนถึงตอนนี้มีเพียงสารเคมีราคาแพงอย่าง “เกลือน้ำดี” ที่ใช้ทดลองและกำจัดดาวทะเล แต่สารเคมีดังกล่าวก็เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่นๆ ได้เช่นกัน ส่วนอีกความพยายามคืองานวิจัยที่เผยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นวิธีฆ่าดาวทะเลอย่างปลอดภัยด้วยน้ำส้มสายชูที่ใช้อยู่ตามครัวเรือน แต่ความยากลำบากของวิธีดังกล่าวคือทีมดำน้ำต้องลงไปฉีดน้ำส้มสายชูใส่ดาวทะเลทีละตัว จึงนับเป็นงานช้างเพราะมีดาวมงกุฏหนามตามแนวปะการังมากถึง 10 ล้านตัว

แนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟซึ่งเป็นโครงสร้างมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดบนโลก กำลังอ่อนแอจากการฟอกขาวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาออสเตรเลียังเป็นเจ้าภาพรับรองผู้เชี่ยวชาญทางทะเลจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ในการประชุมเพื่อหาทางรับมือที่ดีที่สุดจากกรณีที่แนวปะการังกำลังเผชิญภาวะถูกคุกคาม ซึ่งมีทั้งแนวทางอนุรักษ์ปะการัง พัฒนายุทธศาสตร์เพื่อลดประชากรดาวมงกุฏหนาม ขยายระบบตรวจตราและจำแนกระยะสำคัญของปะการังที่ฟื้นตัว
ดร.เชอรี มอตตี นักนิเวศวิทยาเคมีทางทะเล หัวหน้าทีมโครงการขยายพันธุ์หอยทากยักษ์แปซิฟิก ภายในห้องปฏิบัติการที่ควีนแลน (AFP Photo/Handout)

กำลังโหลดความคิดเห็น