xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยจุฬาฯ พบ "แมงมุมฝาปิดโบราณ" มีมาก่อนยุคไดโนเสาร์ที่ป่าแม่วงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จุฬาพบ “แมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลก” ดัชนียืนยันผืนป่าแม่วงก์อุดมสมบูรณ์สูง

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาพบ “แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์” ชนิดใหม่ของโลก คาดมีมาก่อนยุคไดโนเสาร์ตั้งแต่ 330 ล้านปีก่อน พิษน้อย พฤติกรรมแปลกสร้างฝาปิดโพรงพร้อมเส้นใยพิเศษจับเหยื่อแม่นยำ เป็นดัชนียืนยันผืนป่าแม่วงก์ยังอุดมสมบูรณ์

ทีมนักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยาฯ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ นิสิตระดับปริญญาโท ค้นพบ "แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์" (Liphistius maewongensis Sivayyapram et al., 2017)) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "ลิฟิเตียส แม่วงก์เอนซิส" ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจป่าแม่วงก์ตอนเหนือ เมื่อช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา

นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ นิสิตระดับปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่า แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ เป็นแมงมุมฝาปิดที่มีขนาดประมาณ 10-20 เซนติเมตร เป็นแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดที่ 97 และชนิดที่ 33 ที่ค้นพบในประเทศไทยจากแมงมุม 46,000 ชนิด จัดเป็นสัตว์ ฟอสซิลมีชีวิต (living fossil) ชนิดหนึ่ง กล่าวคือมีลักษณะที่ยังเหมือนกับบรรพบุรุษแมงมุมฝาปิดโบราณมีชีวิตอยู่บนโลกมาประมาณ 300 ล้านปี ซึ่งถือว่ามีความเก่าแก่กว่าไดโนเสาร์ แต่ที่ยังสามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้จนถึงปัจจุบัน สัณนิษฐานว่าเป็นเพราะแมงมุมมีอัตราการเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) ต่ำ มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ดี ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ยุคสมัยและสภาวะแวดล้อมจะเปลี่ยนไป

ลักษณะพิเศษของแมงมุมฝาปิดโบราณ คือปล้องท้องที่จะเป็นปล้อง ต่างจากแมงมุมโลกใหม่ที่ท้องจะเชื่อมกันเป็นแผ่นเดียว แต่ยังคงมีต่อมสร้างพิษที่ส่วนหางของเขี้ยว ซึ่งจะออกฤทธิ์กับเฉพาะสัตว์เล็กที่เป็นเหยื่อ แต่พิษนั้นไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตามโพรงใต้ดินที่ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้พบเห็นได้ไม่ง่ายนักเพราะใช้เวลาเกือบทั้งช่วงชีวิตอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะมีการสร้างฝาปิดเพื่อพรางตัวจากผู้ล่า และจะมีเส้นใยรัศมีพิเศษเพื่อรับแรงสั่นสะเทือน ทำให้จับสัญญาณและทิศทางของเหยื่อเวลาใกล้เข้ามา ทำให้เปิดหลุมเพื่อออกมาตะครุบแมลงได้อย่างแม่นยำ ซึ่งลักษณะการสร้างเส้นใหญ่แบบรัศมีนี้พบเฉพาะแมงมุมที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น นอกจากนี้มีพฤติกรรมการสร้างทางออกสำรองในการหนีซึ่งไม่ค่อยพบในแมงมุมชนิดอื่นอีกด้วย

ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาและหัวหน้าโครงการวิจัยเผยว่า เหตุที่ทำการศึกษาวิจัยแมงมุมเป็นเพราะแมงมุมเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศน์ในฐานะผู้ล่า ทว่าเป็นสัตว์เล็กที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญทั้งที่มีความหลากหลายสูงและเป็นตัวบอกกลไกความเป็นไปของระบบนิเวศน์ได้เป็นอย่างดี เช่นการค้นพบในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าแม่วงก์ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้พบแมงมุมชนิดนี้อาศัยอยู่เนื่องจากแมงมุมกลุ่มนี้มีความจำเพาะต่อพื้นที่สูงและมีความสามารถในการกระจายพันธุ์ต่ำ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หากพื้นที่ป่าไม้ลดจำนวนลง แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์นี้จึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์อันเป็นความหวังของพื้นป่าตะวันตกได้อย่างดี ไม่น้อยกว่าป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร

สำหรับแนวทางการแนวทางการอนุรักษ์ในอนาคต ดร.ณัฐพจน์ เผยว่า จะเป็นไปในแนวทางการหารือกับกรมอุทยานแห่งชาติให้จัดการเรื่องความเข้มงวดของนักท่องเที่ยวที่อาจมีจำนวนมากขึ้นเพราะเข้าไปดูแมงมุม ส่วนแผนการติดตามการแพร่กระจายหรือการสูญพันธุ์ อาจมีการติดตั้งเครื่องมือ RFID ซึ่งจะเป็นโครงการในอนาคตและในขณะนี้ได้นำแมงมุมบางส่วนออกมาทดลองเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อหาวิธีขยายพันธุ์ซึ่งได้ผลค่อนข้างดี นอกจากนี้อาจจะมีการวิจัยเส้นใยชนิดพิเศษของแมงมุมชนิดนี้ต่อในอนาคตด้วยเพื่อประโยชน์ทางด้านวัสดุศาสตร์

ทั้งนี้การแถลงข่าวการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ณ อาคารเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพประกอบโดย ประวีณา พลเขตต์







นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ 
นายวรัตถ์ ศิวายพราหมณ์ (ซ้าย) และ ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น