นักวิจัยช่วยเกษตรกรหนองปรือ จ.ขอนแก่น หลังฤดูทำนา สร้างรายได้เสริมจากการเพาะเห็ด เผย 3 เทคนิคเพาะเห็ดให้ได้ผลผลิตดี ทั้งการเพาะจากเศษวัสดุไร่นา ทั้งการเพาะในถุง และการเหนี่ยวนำให้เห็ดเกิดเองตามธรรมชาติ นอกจากสร้างงานแล้ว ยังช่วยเกษตรกรจัดการที่ดินทำกิน
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดตามคณะจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมกิจกรรมการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เศษวัสดุในไร่นาเพื่อปรับปรุงบำรุงดินโดยผ่านกระบวนการเพาะเห็ดและเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาติ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังงานวิจัยที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านในชุมชน
"โครงการวิจัยนี้เกิดจากการที่ชาวบ้านในอำเภอหนองเรือต้องการจะประกอบอาชีพเสริมในช่วงเวลาว่างหลังฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อเพิ่มพูนรายได้ อีกทั้งชาวบ้านยังมีความสนใจในเรื่องการจัดการดินและเพาะเห็ด เนื่องจากช่วงเวลาหลังจากการเพาะปลูก ชาวบ้านบางคนมีการเพาะเห็ดขอนและเห็ดนางฟ้าขายแต่ยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ พบว่าเกษตรกรนั้นต้องการความรู้ด้านการจัดการดินในพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการจัดการเศษวัสดุในไร่นาอย่างพวก ฟางข้าว อ้อย มันสำปะหลัง" ดร.อรทัย ศุกรียพงศ์ จากกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
เศษวัสดุจากการเกษตรเหล่านี้มีธาตุอาหารที่เป็นรูปอินทรีย์ อย่างไนโตรเจนในรูปโปรตีนจากพืช ซึ่งเป็นสารอาหารที่เห็ดนั้นต้องการเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งทางทีมวิจัยก็ได้นำองค์ความรู้จากการศึกษาคุณลักษณะของเศษวัสดุไร่นาพร้อมเรื่องธาตุอาหารที่เห็ดต้องการและการเพาะเห็ดมาเผยแพร่ให้แก่ชุมชน โดยใช้ชุมชนตำบลหนองเรือซึ่งต้องการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุไร่นาและสร้างรายได้จากการปลูกเห็ดเป็นชุมชนต้นแบบ
ในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการเพาะเห็ดนั้น แยกวิธีการเพาะออกเป็นสามวิธีใหญ่ๆ คือ การเพาะเห็ดฟางแบบบล็อกจากเศษวัสดุไร่นา การเพาะเห็ดในถุงและเลี้ยงในโรงเรือน และการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า และเห็ดตีนแรด โดยใช้กระบวนการเหนี่ยวนำให้เห็ดเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ
ตัวอย่างการเพาะเห็ดฟางแบบบล็อกจากเศษวัสดุไร่นา เช่น ใช้เปลือกมันสำปะหลังเพาะเห็ดฟาง โดยการนำเปลือกมันสำปะหลังไปใส่ลงในพิมพ์กองละประมาณ 1 ปี๊บ แล้วราดน้ำให้แน่น จากนั้นเอาออกจากพิมพ์ นำมูลสัตว์แห้งหว่านลงพื้นดินหรือบนหลังกองมันสำปะหลังแล้วรดน้ำจนชุ่ม พรวนดินระหว่างกอง จากนั้นนำเห็ดที่อายุพอดีมาขยี้ให้ละเอียด หว่านลงไปบนดินโดยเน้นโรยบนพื้นดินมากกว่าโรยบนกองมันสำปะหลัง หลังจากนั้นรดน้ำและอาหารเสริมเห็ดอีกครั้ง ขั้นตอนสุดท้ายทำหลังคาและปิดคลุมด้วยพลาสติกใสและฟางเพื่อพรางแสง
ส่วนการเพาะเห็ดในถุงและเลี้ยงในโรงเรือนนั้น ใช้สำหรับเพาะเห็ดขอน เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า โดยวิธีการเช่นเดียวกับการเพาะเห็ดในโรงเรือนทั่วๆ ไป และการเพาะเห็ดโดยใช้กระบวนการเหนี่ยวนำให้เห็ดเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ในการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า และเห็ดตีนแรด ซึ่งไม่สามารถเพาะในถุงและเลี้ยงในโรงเรือนได้
“สำหรับการเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาตินั้น สามารถทำได้โดยการ นำสปอร์ของเห็ดนั้นมาปั่นและใส่น้ำ จากนั้นเอาไปฉีดพ่นที่ต้นกล้าของต้นยางนาอายุ 8 เดือน เพียง 1 ครั้งในกรณีที่ต้องการเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดเผาะ แต่ถ้าเป็นเห็ดตีนแรดใช้วิธีแยกเชื้อบริสุทธิ์ลงวุ้นอาหารและนำไปใส่ในเม็ดข้าวฟ่างและขี้เลื่อย แล้วนำลงดินในแปลงผัก ส่วนเห็ดตับเต่าใช้วิธีเอาตัวดอกมาผสมน้ำแล้วฉีดพ่นที่ต้นกล้าของต้นแค” รองศาสตราจารย์ ดร. ถาวร วินิจสานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อธิบายขั้นตอนการเหนี่ยวนำเห็ดให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
จากการสอบถามชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับถ่ายทอดงานวิจัยนี้ พบว่าสามารถทำให้ชาวบ้านมีรายได้เข้ามาเพียงพอที่จะเลี้ยงชีพและยังสามารถส่งขายไปตามตลาด โรงงานหรือร้านอาหารได้อีกด้วย
สำหรับผู้สนใจการเพาะเห็ดถุง ติดตามได้ที่
https://www.ifarm.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=115%3Amushroom-cultivation