xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “อุทยานสิ่งแวดล้อม” ที่ธรรมชาติฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ป่าชายเลน ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
เมื่อเราเป็นไข้ร่างกายของเราจะตอบสนองต่ออาการป่วย ด้วยการสร้างเซลล์ขึ้นมาต่อสู่กับเชื้อโรค และรักษาตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพายา ในธรรมชาติก็เช่นกันที่สามารถฟื้นฟูตัวมันเองขึ้นมาได้โดยไม่จะเป็นต้องอาศัยการแทรกแซงจากมนุษย์มาก

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเดินทางไปกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit) หรือ GIZ ไปเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการการปรับตัวโดยใช้ระบบนิเวศ (Ecosystem Base Adaption) หรือ EBA ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ทั้งนี้ GIZ และประเทศไทยได้ร่วมกันทำโครงการด้าน EBA โดยลงพื้นที่ทำโครงการบ่อดักตะกอนป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งใน จ.ขอนแก่น และ จ.ขอนแก่น และก่อนที่โครงการจะสิ้นสุดในปี 2560 นี้ จึงได้นำคณะสื่อมวลชนและตัวแทนจากเยอรมนี ไปร่วมทัศนศึกษาอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ซึ่งเป็นพื้นทำมาตรการการปรับตัวโดยใช้ระบบนิเวศมานานกว่า 20 ปี

ภายในอุทยานนั้นมีในส่วนของแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอุทยาน และการจัดการน้ำเสีย “ระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์”

นายสนใจ หะวานนท์ ที่ปรึกษาวิชาการอาวุโสของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริธร กล่าวว่าเมื่อก่อนอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรนั้นประสบปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าและป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ทำให้ดินแถวนั้นไม่สามารถปลูกพืชได้ และยังมีปัญหาเรื่องชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะเนื่องจากไม่มีต้นไม้มาเป็นแนวกันตะกอน

"จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ และทรงปลูกต้นโกงกางด้วยพระองค์เอง เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนสำหรับเป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งกักตะกอนที่ถูกฝนชะลงไม่ไห้ไหลลงไปในทะเล ช่วยชะลอความเร็วและความแรงของคลื่นที่ซัดเข้ามา พร้อมทั้งทรงรับสั่งให้ฟื้นฟูแหล่งดินเสื่อมโทรมเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับศึกษาระบบนิเวศที่ได้รับการปรับตัวหลังจากฟื้นฟูพื้นที่แล้ว" นายสนใจเล่า

ในส่วนการป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งนั้น ทางอุทยานได้ดำเนินการมามากกว่า 20 ปีแล้ว โดยการใช้แนวปะการังเทียมที่มีรูพรุนทำเป็นรูปโดมแล้ววางไว้เป็นแนวประมาณ 3 กิโลเมตร ร่วมกับการใช้ต้นสน เขื่อนกันทรายและคลื่น แนวหินทิ้ง เขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบจมน้ำ ซึ่งเป็นการประสานการใช้ EBA กับฝีมือมนุษย์เข้าด้วยกัน

สุดท้ายคือระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์ เป็นการใช้พืชเพื่อช่วยในการบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีในการบำบัดสูง แต่มีประสิทธิภายในการบำบัดสารอินทรีย์ ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโลหะหนักได้ดี

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์นั้น ประกอบด้วย บ่อสูบน้ำเสีย เป็นบ่อรับน้ำเสียเพื่อปรับสภาพและเป็นบ่อสูบน้ำเสียด้วย และภายในบ่อมีตะแกรงดักขยะต่างๆ ที่ไหลมากับน้ำเสีย

ถัดมาเป็นบ่อตกตะกอนสำหรับขจัดตะกอนหนักของสารต่างๆ ให้ออกจากน้ำเสีย แล้วส่งต่อไปยังบ่อเติมอากาศ ที่เติมอากาศเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่จุลินทรีย์ ด้วยเครื่องเติมอากาศ 2 แบบ คือกังหันเติมอากาศบนผิวน้ำแบบหมุนช้า หรือกังหันชัยพัฒนา และเครื่องเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ จากนั้นส่งต่อไปยังบ่อปรับสภาพน้ำโดยตกตะกอนและการฆ่าเชื้อโรคด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ

น้ำที่ผ่านการปรับสภาพจะส่งต่อไปยังบ่อบำบัดบึงประดิษฐ์ เป็นระบบบำบัดแบบพึ่งพาธรรมชาติ โดยจะลดไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และของแข็งแขวนลอย ซึ่งภายในบ่อปลูกต้นกกอียิปต์บนชั้นดินและทรายประมาณ 30 เซ็นติเมตร เพื่อให้สารอินทรีย์และของแข็งแขวนลอยจะตกตะกอนและถูกกรองขณะที่น้ำเสียไหลผ่านชั้นกรวด ชั้นหินและกกอียิปต์

สารอินทรีย์ที่ถูกกรองในบ่อบำบัดบึงประดิษฐ์นั้นจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ขณะเดียวกันต้นกกอียิปต์จะใช้สารอาหารพวกไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในการสร้างเซลล์ ทำให้น้ำเสียมีปริมาณสารอาหารเหล่านี้น้อยลง สุดท้ายน้ำที่ผ่านการบำบัดจะถูกส่งไปยัง บ่อน้ำใส ก่อนไหลออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

ภายในอุทยานยังมีนิทรรศการเรื่องเทคโนโลยีพลังงาน มีแหล่งเรียนรู้สวนนวัตกรรมพลังงานที่ให้ความรู้ในเรื่องของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และมีศูนย์นิทรรศการทรัพยากรธรณีที่มีการให้ความรู้เรื่องหินชนิดต่างๆ และยังมีที่พักและห้องประชุมสำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการจัดค่ายการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติด้วย
เส้นทางเดินศึกษาระบบบำบัดน้ำเสียแบบควบรวมบึงประดิษฐ์
กังหันเติมอากาศบนผิวน้ำแบบหมุนช้า หรือกังหันชัยพัฒนา
ถมทรายเสริมชายหาด
บ่อน้ำใสก่อนน้ำผ่านการบำบัดให้ไหลออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
แนวเขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่งแบบจมน้ำ
บ่อตกตะกอน
กำลังโหลดความคิดเห็น