xs
xsm
sm
md
lg

วิจัย(ไร้ค่า)

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


"โครงการวิจัยไม่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาของประเทศ ที่จะสามารถนำไปตอบสนองต่อความต้องการ ในการพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ข้อริเริ่มใหม่ตามนโยบายรัฐบาล และแผนงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เชิงยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักคณะกรรมการวิจัย....." เป็นคำชี้แจงตอบกลับมาให้กับการขอทุนสำหรับโครงการวิจัยหนึ่งเพื่อสำรวจความหลากหลาย นิเวศวิทยาและสถนะการอนุรักษ์ของพรรณพืชที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์แห่งหนึ่งในประเทศไทย

"น่าเสียดายครับ" ผมตอบกลับหลังจากอ่านเอกสารนั้นจบ "เพราะมันไม่เข้าจุดมุ่งหมายอย่างที่เขาพยายามอยากจริง ๆ นั่นแหละครับพี่ แบบไม่เฉียดเข้าใกล้เลยด้วยซ้ำ” ผมเสริม

“เป็นอันว่าต้องส่งไปขอทุนจากที่อื่นล่ะครับ” หลังจากผมจบข้อเสนอแนะ "ที่ไหนล่ะ?" เป็นคำถามผุดโผล่เข้ามาในความคิด ก่อนความเงียบว่างจะปรากฏกาย

ในยุคสมัยที่ทุกอย่างต้องสรรสร้างสุดยอดนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นก็ต้องเชื่อมเข้าโยงหาการบูรณาการระดับ 4.0 หรือถ้าจะให้เข้าตากรรมการก็ต้องอยู่ในระดับสูงส่งกว่านั้น หัวข้องานวิจัยพื้นฐานของศาสตร์ด้านต่างๆ หรือมักถูกเรียกด้วยความเหยียดหยันว่าเป็น "งานวิจัยขึ้นหิ้ง" กลายกลับถูกหมางเมินไร้ค่าราคาที่จะพิจารณาให้เสียเวลาและงบประมาณของแหล่งทุนต่างๆ

อันที่จริงแหล่งทุนเองก็ใช่ว่าจะจงใจไร้เยื่อใยดีต่อกัน เพียงแต่ก็ต้องตอบสนองต่อข้อจำกัดที่ถูกกำหนดโดยผู้คิด ผู้ออกคำสั่ง ผู้บังคับบัญชา หน่วยเหนือ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แต่ตาม ผู้วางนโยบายครอบทุกอย่างให้ไปในทางเดียวกันห้ามคดเคี้ยวเลี้ยวไปทางใดใดอีกคงจะประมาณความหลากหลายมหาศาลและประโยชน์จำเป็นของสายงานที่มีอยู่ในสังคมโลกน้อยกว่ามาตรฐาน

แต่ก็ใช่ว่างานวิจัยพื้นฐานโดยเฉพาะงานทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น จะไร้ค่าไร้คนสนใจเลยเสียทีเดียว ยังมีหน่วยงานไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนบางแห่ง ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องด้วยเห็นความสำคัญ แต่เมื่อลองคิดพินิจพิจารณาแล้วจะให้ผมเรียกว่า เพียงพอก็คงไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่อย่างที่กล่าวมา ก็อาจจะเป็นเพราะตัวผมเองยังด้อยอ่อน ในความรู้และประสบการณ์จึงขมวดขบคิดขึ้นมาได้เพียงเท่านี้

ระหว่างการเรียนการสอนวิชาหนึ่งที่บังเอิญได้เข้าไปมีส่วนร่วม วิดิทัศน์ที่ถูกหยิบยกเข้ามามีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเรื่องพระมหาชนก เนื้อหารายวิชามีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากต้นมะม่วง มะม่วงต้นนี้มีผลดก หวานอร่อย เป็นที่ต้องการของชนทุกชั้นในสังคม แต่ท้ายสุดเหล่าขุนนาง ประชาชน ลงมือโค่นต้นมะม่วงเพื่อเพียงเก็บผลมารับประทานไม่ได้มองถึงอนาคตที่ไกลห่างออกไปจากรสชาติผลมะม่วง จนสุดท้ายต้องให้ผู้มีความรู้ในวิชา มาทำนุบำรุงต้นมะม่วงด้วยหลักวิชาการทางการเกษตร ให้สามารถออกดอกผลอย่างยั่งยืน และจัดตั้งสถานศึกษา เพื่อนำสติปัญญามาสู่สังคมให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก

ปราชญ์ผู้มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยหลายท่าน เปรียบต้นมะม่วงคือ แผ่นดิน ซึ่งเราใช้ดำรงชีวิตอยู่ แต่ก่อนเราเร่งพัฒนาประเทศโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนแผ่นดินอย่างสิ้นคิด ไม่มองถึงผลเสียที่ก่อเกิดและส่งผลกระทบทางด้านลบ สืบส่งต่อเป็นมรดกบาปให้คนรุ่นหลังต้องเผชิญ นักปราชญ์มากมายเสนอแนวทางหลากหลาย ในการทำนุบำรุงค้ำชูต้นมะม่วงต้นนี้ให้ออกดอกผลสืบต่อยาวนาน แล้วเรานั้นเล่าได้นำคำกล่าวเหล่านั้นมาปรับใช้หรือเปล่า? คำตอบช่างชัดเจนสำหรับตัวผม

ในความคิด ความรู้สึกของผม เรายังคงกำลังใช้ประโยชน์ในรูปแบบการกอบโกยภายใต้คำว่า "การส่งเสริม การพัฒนา เศรษฐกิจ" อยู่เช่นเดิม เราต่างกำลังเร่งการเจริญเติบโตให้ต้นมะม่วงสูงใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาแผ่ขยาย เร่งดอกออกผลให้มากมายล้นเหลือ โดยไม่ได้สนใส่ใจดูแลราก ให้แผ่ขยายหยั่งลงลึกค้ำจุนต้นมะม่วงต้นนี้ อย่างที่ควรจะมี หลายครั้งที่มีคนตะโกนท้วงทัก นำเสนอถึงจุดอ่อนและเรื่องที่ควรดำเนินการ แต่เสียงของพวกเขาคงไม่อาจแทรกดังเหนือคำกล่าวหวานหอมของแนวนโยบายที่สวยงามผ่านทางเครื่องกระจายเสียงขนาดใหญ่ได้

พลันนึกถึงคำพูดหนึ่งของรุ่นพี่ที่ผมเคารพ "หิ้งที่เต็มไปด้วยหนังสือยังดีกว่าหิ้งที่เปล่าว่าง" ความรู้นั้นมีไว้ดีกว่าไม่มี ไม่มีความรู้ใด หรืองานวิจัยใดเป็นเรื่องไร้ค่า ถึงแม้ว่ามันจะขึ้นหิ้ง แต่อย่างน้อยมันก็อยู่ตรงนั้นจะหยิบใช้เมื่อไร มันก็อยู่ตรงนั้น ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มีหรือจะมาขวนขวายเร่งสร้างมันขึ้นมา ก็ไม่เหลือเวลาให้ทันท่วงทีแล้ว

กลัวเหลือเกินว่าวันหนึ่งต้นมะม่วงต้นนี้จะทานแรงลมแรงฝนและเหล่าแมลงที่กัดแทะไม่ไหวจนล้มครืนลง

กลัวเหลือใจว่าจะตอบคำถามคนบนฟ้าอย่างไรดี

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น