สนช.รุก นวัตกรรมด้านการเกษตร เดินหน้า "ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร” ปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรไทยจาก “เกษตรแบบดั้งเดิม” สู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” ตั้งเป้าเป็น “เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร” โดยใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขาธุรกิจ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยภายหลังการเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ "Innovation and Agricultural Transformation Context" ในงาน TSAE National Conference ครั้งที่ 18 และงาน TSAE International Conference ครั้งที่ 10 จัดโดยสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของโลก โดยมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคการเกษตรเพียงร้อยละ 8.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
"แต่ด้วยเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้เกษตรกรของไทยยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน ขณะเดียวกันจำนวนประชากรที่สูงขึ้น ชุมชนเมืองที่ขยายตัว พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากปัญหาโลกร้อน รวมทั้งความต้องการผลิตผลเกษตรเพื่อแปลงเป็นพลังงานที่สูงขึ้น"
ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า “นวัตกรรมการเกษตร” จึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่มีการทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เป็นเกษตรกรรมของอนาคต เช่น เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรหุ่นยนต์ การจัดการเกษตรแปลงใหญ่ และการจัดการผลิตผลเกษตรแบบครบวงจร
"นวัตกรรมเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น จะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป รวมทั้งสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้กับเกษตรกรของไทย”
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สนช.จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร" (Agro Business Creative center : ABC center) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเชื่อมโยง แสวงหา และสร้างสรรค์โครงการนวัตกรรมในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม
"ทั้งนี้มีเป้าหมายในการมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรไทยจาก “เกษตรแบบดั้งเดิม”ไปสู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” และก้าวไปสู่ “เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร” ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย"
สำหรับการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขาธุรกิจ ได้แก่ 1. สาขาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ 2.สาขาธุรกิจเกษตรดิจิตัล 3. สาขาธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4. สาขาธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง 5. สาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 6. สาขาธุรกิจการบริการทางธุรกิจเกษตร และ 7. สาขาธุรกิจรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่