xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ธรรมดา...แก้ปัญหาสี “มะม่วงมหาชนก” ได้สารต้านมะเร็งเพิ่มขึ้นอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ถือมะม่วงมหาชนก (ซ้าย) ไม่ได้ปรับปรุงสีเปลือก (ขวา) ปรับปรุงสีเปลือกให้แดงขึ้น
นักวิจัย ม.นเรศวรปรับปรุงสีเปลือก “มะม่วงมหาชนก” ให้แดงโดนใจตลาด แล้วยังมีผลพลอยได้เป็น “แบตาแคโรทีนอยด์” สารต้านมะเร็งเพิ่มขึ้นอีก แต่เป็นผลที่พบได้เฉพาะมะม่วงพันธุ์นี้เท่านั้น

จากค่านิยมว่ามะม่วงพันธุ์มหาชนกนั้นต้องมีลูกสีแดง หากไม่ใช่สีแดงไม่ถือว่าเป็นมะม่วงมหาชนก ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) จังหวัดพิษณุโลก จึงวิจัยเพื่อปรับปรุงรูปลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสได้เยี่ยมชมระหว่างเข้าร่วมเวที 'ความมั่นคงด้านสุขภาพ 4.0' ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ มน.

“แรกเริ่มนั้นต้องการวิจัยเพียงเพื่อทำให้เปลือกของมะม่วงมหาชนนั้นเป็นสีแดง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของมะม่วงให้แก่เกษตรกร เพราะจากปัญหาที่ว่าความแดงของเปลือกมะม่วงชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับแสงแดดที่โดนมะม่วงในช่วงออกผล หากผลใดไม่โดนแสงเมื่อผลสุก มะม่วงจะเป็นสีเหลือง และขายไม่ได้ราคา เนื่องจากผู้บริโภคนั้นติดภาพว่า มะม่วงมหาชนกต้องเปลือกแดง” ผศ.ดร.พีระศักดิ์ระบุ

ผศ.ดร.พีระศักดิ์และทีมใช้เวลาประมาณ 3 ปีวิจัยปรับปรุงสีเปลือกมะม่วงมหาชนก โดยใช้ทั้งวิธีเปิดไฟ LED ตัดแต่งกิ่งเพื่อลดใบที่จะมาบังผลมะม่วง แต่สุดท้ายมาสำเร็จที่การใช้แสงอาทิตย์ ร่วมกับการใช้ “เมทิลจัสโมเนต” (Methyl jasmonate) ผสมน้ำในอัตราส่วน 80 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มของต้นมะม่วงในอัตรา 5 ลิตรต่อต้น เมื่อถึงระยะเวลา 90 วันหลังจากดอกบาน

ผลของการฉีดพ่นเมทิลจัสโมเนตที่ผลมะม่วงมหาชนกนั้น ทำให้เปลือกของมะม่วง มีสารแอนโธไซยานินเพิ่มขึ้น 1.31 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด และเมทิลจัสโมเนตนี้ยังไปเพิ่มเบตาแคโรทีนอยด์ในเนื้อมะม่วงเท่ากับ 1.43 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด เมื่อเปรียบเทียบกับมะม่วงมหาชนกที่ไม่ได้ฉีดพ่น ซึ่งเบตาแคโรทีนอยด์นี้เป็นสารที่ช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งในมนุษย์

“เมทิลจัสโมเนตนั้นช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในส่วนของแอนโธไซยานินได้เฉพาะในมะม่วงมหาชนกเท่านั้น เนื่องจากในมะม่วงสายพันธุ์อื่นไม่มีสารแอนโธไซยานินเป็นสารพื้นฐานเหมือนในมะม่วงมหาชนก” ผศ.ดร.พีระศักดิ์แจกแจง

หลังจากนี้ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ จะจัดอบรมในปี 2561 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเพิ่มพื้นที่สีแดงบนพื้นผิวเปลือกมะม่วงมหาชนกให้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปทดลองใช้ในพื้นที่สวนของตัวเอง
มะม่วงมหาชนก (ซ้าย) ไม่ได้ปรับปรุงสีเปลือก (ขวา) ปรับปรุงสีเปลือกให้แดงขึ้น
แถวบน มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แถวล่าง มะม่วงมหาชนก
สารที่สกัดได้จากมะม่วง เพื่อเอาไปวิเคราะห์แคโรทีนอยด์
วิเคราะห์แคโรทีนอยด์ในมะม่วงมหาชนกสูงกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
วิเคราะห์แคโรทีนอยด์ในมะม่วงมหาชนกสูงกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น