xs
xsm
sm
md
lg

แชร์ชีวิต “ไร้แรงโน้มถ่วง” มนุษย์อวกาศ 2 ชาติมหาอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิว หยาง บนสถานีอวกาศของจีน
มีคนเพียงไม่กี่คนบนโลกที่มีโอกาสขึ้นไปสัมผัส “สภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ” บนอวกาศ แม้เขาและเธอเหล่านั้น จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของประชากรบนโลก แต่พวกเขาก็เป็นทั้งตัวแทนและผู้จุดประกายความหวัง ให้แก่คนอีกจำนวนมาก

นับจากวันที่ 12 เมษายน 1961 “ยูริ กาการิน” ได้กลายเป็นมนุษย์คนแรก ที่ได้เดินทางสู่อวกาศ ความสำเร็จในครั้งนั้น สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาไปทั่วโลก เขาได้รับเหรียญเกียรติยศชั้นเลนิน ได้รับการขนานนามว่า เป็นวีรบุรุษของสหภาพโซเวียต มีอนุสาวรีย์ที่สร้างเพื่อเขาขึ้นหลายแห่ง และชื่อของเขายังเป็นชื่อของถนนอีกหลายแห่ง

ความโด่งดังของมนุษย์อวกาศคนแรกของโลกนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้หลายๆ คนก้าวสู่วงการเทคโนโลยีอวกาศ และได้รับเลือกเป็น “มนุษย์อวกาศ” หรือ “นักบินอวกาศ” ไม่ว่าจะเป็นชนชาติสหรัฐฯ จีนหรือรัสเซีย มีหลายคนที่หลงใหล “ยูริ กาการิน” จนกระทั่งสมัครเข้ามาเป็นนักวิจัยเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เทคโนโลยีด้านอวกาศในตอนนี้ก้าวกระโดดไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก

ดร.อัลเบิร์ต ซัคโค (Dr. Albert Sacco) อดีตมนุษย์จากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และหลิว หยาง (Liu Yang) มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นมนุษย์อวกาศรุ่นถัดๆ มา ที่นอกจากสานฝันของตัวเองแล้ว ยังได้เดินทางมาสร้างฝันให้แก่เยาวชนไทยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560 ที่ผ่านมา

ดร.ซัคโกซึ่งมาถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการเชิญโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เล่าว่า ก่อนที่จะได้ออกไปบินในอวกาศนั้น ต้องเรียนทางด้านทฤษฏีเกี่ยวกับการควบคุมยาน การปรับตัว และการเอาตัวรอดในสภาวะฉุกเฉิน มีการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย โดยการซ้อมอยู่ใต้แรงโน้มถ่วง 8 เท่า ด้วยการอยู่ในเครื่องที่เหวี่ยงเราด้วยความเร็วเพื่อให้เกิดแรงโน้มถ่วงมากว่าบนพื้นโลก 8 เท่า ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับตอนยานอวกาศขึ้นจากพื้นโลก

“มีการฝึกการเคลื่อนที่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ฝึกด้านจิตใจให้สามารถมีสติได้ในสภาวะฉุกเฉิน ฝึกการเอาตัวรอดในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเครื่องยนต์ของยานอวกาศขัดข้อง โดยการซ้อมหนีออกจากยานอวกาศด้วยทางออกฉุกเฉิน ที่อยู่ห่างจากพื้นดินประมาณ 52 เมตร” หลิว หยาง มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกจากจีน ซึ่งได้รับเชิญจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (จิสด้า) กล่าวเสริม

ขณะอยู่ในอวกาศนั้น ทั้งสองคนต่างได้รับภารกิจให้ทำวิจัย โดยทีมของ ดร.ซัคโกนั้นวิจัยเรื่องการเกิดผลึกของแร่ และยาต้านเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งได้ผลว่าผลึกของแร่ที่เกิดในอวกาศนั้น มีผลึกที่สวยกว่าบนโลกเพราะไม่มีปัจจัยอื่นๆ ทั้งเรื่องสภาพอากาศ และแรงโน้มถ่วง มาเป็นปัจจัยกระทบในการเกิดผลึก

ส่วนของ หลิว หยาง นั้น ทีมของเธอทดลองเกี่ยวกับการปลูกผักสลัด และการเลี้ยงตัวหมอนไหมในอวกาศ โดยการปลูกผักสลัดในอวกาศนั้น มีความยากตรงที่ต้องใช้ดินชนิดพิเศษ ที่ไม่ฟุ้งกระจายและสามารถอุ้มน้ำได้ดี นอกจากนั้นยังต้องมีระบบการใช้อากาศผ่านรากของพืชด้วย ซึ่งผักที่โตในอวกาศนั้น โตขึ้นทางด้านบนเหมือนผักที่อยู่บนโลก แต่ได้ต้นที่สูงกว่า และการทดลองเกี่ยวกับหมอนไหมนั้น พวกเขาได้นำหนอนไหม 6 ตัวใส่แคปซูลพิเศษขึ้นไปอวกาศด้วย

แคปซูลที่ใส่หนอนไหมนั้น มีส่วนที่เชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อให้หนอนไหมมีอากาศถ่ายเท และมีส่วนที่เอาไว้รองรับมูลของหนอนด้วย เมื่อทีมของ หลิว หยาง นำหนอนไหมกลับลงมาที่พื้นโลก พวกเขาพบว่า หนอนนั้นเจริญเติบโตได้ดี และสามารถวางไข่เพื่อเป็นหนอนไหมรุ่นต่อไป ในส่วนของใยไหมที่หนอนไหมผลิตในอวกาศนั้น มีความแข็งแรงมากกว่าไหมที่ผลิตได้บนโลก

มาถึงเรื่องอาหารการกิน ในสมัยของ ดร.ซัคโก นั้นอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศนาซานั้น รสชาติจะไม่ค่อยอร่อย ทำให้พวกเขาต้องมีการแอบเติม ผงพริกปาปิกาลงไปเสมอ เวลาพวกเขากินน้ำ น้ำก็จะลอยออกจากถุงใส่เป็นเม็ดกลมๆ ซึ่งก็ลอยไปชนตรงนั้นตรงนี้ไม่หยุด ส่วนเวลาสระผมหรืออาบน้ำนั้น สิ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดร่างกายของพวกเขาจะมาในรูปแบบผงเหมือนกับแป้ง

ผิดกับอาหารที่หลิว หยาง ได้กินคือหน้าตามีหลากหลายมาก และในหนึ่งมื้อนั้นแต่ละคนจะได้กินอาหารประมาณ 20 กว่าชนิด ทั้งอาหารจานหลัก อาหารจานรอง อาหารเสริม อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และของขบเคี้ยว นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ทำให้เธอสามารถทำความสะอาดร่างกายได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น

สำหรับความประทับในการขึ้นไปในอวกาศ ทั้งคู่กล่าวเหมือนกันว่า ได้เห็นความไม่สิ้นสุดของจักรวาลนี้ ทำให้เห็นว่า เรานั้นก็แค่คนตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในอวกาศที่กว้างใหญ่แห่งนี้ และตื่นเต้นที่สุดตอนที่ได้เห็นบ้านเกิดตัวเองผ่านอวกาศ

ที่สุด 2 มนุษย์อวกาศ ซึ่งเดินทางมาเยือนไทยต่างวาระในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันได้กล่าวถึงอวกาศในมุมมองของตัวเองทิ้งท้าย สำหรับหลิวหยางนั้น “อวกาศไม่มีอากาศ แต่มีโอกาส” และสำหรับ ดร.ซัคโคนั้นได้กล่าวว่า “อย่าให้ความกลัวมาขวางความฝัน”
ดร.อัลเบิร์ต ซัคโค ขณะอยู่บนอวกาศ
หลิว หยาง
ดร.อัลเบิร์ต ซัคโค
หลิว หยาง ระหว่างมาร่วมกิจกรรมมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ดร.อัลเบิร์ต ซัคโค ระหว่างมาบรรยายพิเศษที่ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น