xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "สารพัดพิษ" ที่อยู่ใกล้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บึ้ง แมงมุมตัวใหญ่ที่พบได้ในป่าลึกของไทย
“ยาพิษ” ไม้ตายไม้เด็ดของบรรดาพ่อมดแม่มดในนิยาย ที่มีวัตถุดิบในการปรุงที่หาได้ตามธรรมชาติ จากสัตว์เอย จากพืชเอย หรือแม้แต่จากตัวละครในเทพนิยายอย่างยักษ์ หรือยูนิคอร์น ซึ่งเวลาปรุงก็ยุ่งยากวุ่นวายกว่าจะได้ยาพิษออกมาซักขวดหนึ่ง แต่สำหรับพวกสัตว์มีพิษนั้นสามารถฆ่าเราได้ง่าย แค่เพียงเราสัมผัสโดนตัวสัตว์มีพิษเหล่านั้น

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เก็บตกนิทรรศการ ‘สารพัดพิษ’ ในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2560 ซึ่งได้นำสัตว์และพืชมีพิษ มาจัดแสดงเพื่อที่จะเปิดโลกการเรียนรู้ถึงโทษของสารพิษ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถใช้พิษ มาทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางการแพทย์และความงามได้

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับสัตว์และพืชมีพิษ ก็ต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีพิษไว้เพื่ออะไร สำหรับผู้ล่าอย่างงู หรือแมงมุมนั้นพวกมันจำเป็นต้องมีพิษเพื่อใช้ล่าเหยื่อ แต่ในขณะเดียวกันเหยื่ออย่างกบบางชนิดหรือพืช ก็ต้องมีพิษไว้เพื่อป้องกันตัว...จะว่าไปแล้วก็ร้ายพอๆ กันทั้งผู้ล่าและเหยื่อ

บางคนอาจจะคุ้นๆ หูกับประโยคที่ว่า ผู้หญิงก็เหมือนกุหลาบ ทั้งสวยและอันตราย ซึ่งก็ไม่ต่างกับแมลงบางชนิด อย่างผีเสื้อที่ดูภายนอกนั้นสวยงาม แต่หากสัตว์ตัวใดเกิดตะกละและกินมันเข้าไปเป็นฝูงละก็ โอกาสรอดมีน้อย นอกจากนั้นยังมีพวกแมลงอย่างต่อชนิดต่างๆ มดแดง มดคันไฟ บางตัวหน้าตาสวยงานเกินว่าจะเป็นเพชฌฆาต

สิ่งมีชีวิตมีพิษที่จัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นั้น มีอยู่มากมาก ทั้งหมามุ่ย มันสำปะหลัง ลูกชิด แอปเปิล มะกล่ำตาหนู สำหรับลูกแอปเปิลที่จัดแสดงอยู่ภายในนิทรรศการนั้นจุดประเด็นให้ทีมข่าวรู้สึกสงสัยว่า แอปเปิลนั้นจะเป็นแอปเปิลอาบยาพิษ เหมือนในเรื่องสโนไวท์หรือไม่ แต่ความจริงแล้วแอปเปิลมีพิษอยู่ในตัวเอง โดยพิษของแอปเปิลจะอยู่ในส่วนที่เป็นเมล็ด ซึ่งต้องมีการกินเข้าไปเป็นปริมาณมากจึงจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

พืชอาหารบางอย่างที่เราใช้ทำทั้งอาหารจานหลักและขนมหวานอย่างมันสำปะหลังและลูกชิดนั้นก็มีพิษ ถ้าหากเรากินเข้าไปโดยไม่ผ่านกระบวนการล้างหรือผ่านความร้อน โดยมีการแบ่งพืชพิษออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ พิษต่อระบบอาหาร พิษต่อระบบเลือดและหัวใจ พิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง พิษที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง และพิษต่อระบบอื่นๆ

ถัดไปนั้นเป็นส่วนของสัตว์เลื้อยคลานอย่าง งู ตะขาบ แมงมุม มังกรโคโมโด ซึ่งมีทั้งตัวจริงและตัวที่อยู่ในโลกมาจัดแสดงให้ชม โดยสัตว์แต่ละชนิดก็มีระดับความอันตรายของพิษที่ไม่เท่ากัน สัตว์มีพิษบางตัวเมื่อกัดเราแล้วทำให้เราเสียชีวิตได้ทันที ส่วนสัตว์มีพิษบางชนิดแค่ทำให้เราอาการล่อแล่ แต่สัตว์มีพิษบางตัวนั้นจะทำอันตรายเราเมื่อเราได้รับพิษในปริมาณที่มากพอ หากได้รับพิษปริมาณน้อยก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้เลย

นอกจากจะมีแมลง แมง พืช สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมาจัดแสดงแล้วยังสัตว์ทะเลอย่าง ปลาปักเป้า แมงกะพรุนกล่อง แมงกะพรุนโปรตุเกส ที่ทำอันตรายนักท่องเที่ยวมานักต่อนักจากการกินและการสัมผัส หอยพิษมรณะอย่างหอยเต้าปูนซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น พวกมันชอบออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืนโดยการใช้งวงที่มีลูกดอกพิษยิงใส่เหยื่อ ทำให้เหยื่อมีอาการปวด เป็นอัมพาตหมดความรู้สึกและกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ

สัตว์ทะเลอย่างกระเบนนั้น มีพิษอยู่ที่เงี่ยงซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งยาว ปลายแหลมขอบทั้งสองมีรอยหยักเป็นฟันเลื้อย ด้านบนมีร่องจากโค่นถึงปลาย มีกลุ่มเซลล์สร้างพิษหรือต่อมพิษ อยู่ใต้ผิวชั้นนอก เมื่อเหยื่อโดนเงี่ยงกระเบนตำ แผลจะมีลักษณะคล้ายมีดบาด และ มีอาการปวดเป็นระยะ

ส่วนแมงดาทะเลทั้ง “แมงดาถ้วย” และ “แมงดาจาน” ทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้มีต่อมพิษอยู่ในร่างกาย แต่แมงดาทะเลสะสมพิษจากอาหารที่กินเข้าไป เช่น สาหร่ายเซลล์เดียวจำพวกไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate) และนอคติลูกา (Noctiluca) ซึ่งพิษเหล่านี้จะไม่ทำร้ายแมงดาทะเลโดยตรง แต่จะถูกสะสมไว้ที่ระบบทางเดินอาหารและไข่ของแมงดาทะเล โดยพิษดังกล่าวนั้นเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า

เหล่านี้เป็นความรู้เกี่ยวกับพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เก็บตกจากการมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งความรู้เหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์และช่วยชีวิตเราได้
แอปเปิลมีพิษอยู่ในเมล็ด
ตะขาบมีพิษ
งู


ฝักหมามุ่ย

กำลังโหลดความคิดเห็น