xs
xsm
sm
md
lg

สองศตวรรษแห่งชาตกาล Joseph Hooker บิดาพฤกษศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Joseph Hooker บิดาพฤกษศาสตร์
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1839 Joseph Dalton Hooker หนุ่มวัย 22 ปี ได้ออกเดินทางจากอังกฤษด้วยเรือ Erebus แห่งราชนาวีอังกฤษ เพื่อค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของขั้วใต้แม่เหล็กโลก กลางมหาสมุทร Pacific ทางตอนใต้ และเพื่อจะได้สำรวจมหาสมุทรส่วนนั้นด้วย โดยจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4 ปี และการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการสำรวจโลกด้วยเรือใบเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

ก่อนออกเดินทาง Hooker มีความกังวลที่วงการพฤกษศาสตร์ของอังกฤษมิได้มีนักพฤกษศาสตร์ระดับซูปสตาร์ที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า Newton ของฟิสิกส์ และ Darwin ของชีววิทยา ความไม่เท่าเทียมนี้จึงทำให้คนทั่วไปในสมัยนั้นคิดว่า นักพฤกษศาสตร์กับคนทำสวนไม่แตกต่างกันเลย คือมีสติปัญญาและความสามารถระดับเดียวกัน เพราะสิ่งที่นักพฤกษศาสตร์ทำเป็นงานหลัก คือเที่ยวเก็บต้นไม้ชนิดแปลกๆ ในสถานที่ต่างๆ มาตั้งชื่อเป็นภาษาละตินเท่านั้นเอง

Hooker จึงมีความประสงค์อย่างแรงกล้าจะพัฒนาวิชาพฤกษศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีหลักการ ประโยชน์ และทฤษฎีที่เป็นรูปธรรม ด้วยการเดินทางไกลไปเก็บพืชตัวอย่างจากดินแดนโพ้นทะเลมาปลูก และพัฒนาให้เป็นพืชเภสัช พืชเศรษฐกิจ และพืชวิชาการ จนกระทั่งสังคมตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญของวิชาพฤกษศาสตร์เหมือนศาสตร์อื่นๆ

ในการเดินทางไปสำรวจครั้งนั้น Hooker ไปในฐานะผู้ช่วยศัลยแพทย์ประจำเรือ มิใช่ในฐานะนักพฤกษศาสตร์ เพราะไม่มีใครเห็นความจำเป็นที่เรือจะต้องมี “คนทำสวน”

Hooker เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1817 (รัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ที่เมือง Halesworth ในแคว้น Suffolk ของประเทศอังกฤษ บิดาซึ่งเป็นศาสตราจารย์พฤกษศาสตร์มักนำลูกชายคนโปรดวัย 7 ขวบไปนั่งฟังการบรรยายที่มหาวิทยาลัยบ่อย Hooker จึงได้รับรู้เรื่องราวการผจญภัยของนักสำรวจที่มีชื่อเสียง เช่น Christopher Columbus, James Cook และ Marco Polo เป็นต้น

หลังจากที่จบชั้นมัธยมศึกษา Hooker ได้ไปเรียนต่อวิชาแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Glasgow จนจบการศึกษาเมื่ออายุ 22 ปี และทันทีที่บิดารู้ว่ากัปตัน James Clerk Ross แห่งเรือ Erebus จะเดินทางสำรวจโลก จึงได้เข้าไปขอให้ Ross นำบุตรชายของตนไปด้วย เพื่อสร้างและเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตให้ลูกชายสุดที่รัก

เรือ Erebus ได้ออกเดินทางจากอังกฤษและแวะพักที่ Madeira, Tenerife, Santiago, หมู่เกาะ Cape Verde และแหลม Good Hope จากนั้นเรือได้แล่นเข้าสู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย เกาะ Auckland และผ่านเส้นรุ้งที่ 78 องศาใต้ ซึ่งนับเป็นสถิติการเดินเรือเข้าใกล้ขั้วโลกใต้มากที่สุด หลังจากที่เรือได้เท้งเต้งอยู่ในทะเลใกล้ทวีป Antarctica เป็นเวลานาน 5 เดือน เรือได้หวนกลับไป Sydney, New Zealand แล้วเดินทางกลับถึงอังกฤษในเดือนกันยายน ปี 1843

ตลอดการเดินทาง Hooker ได้เก็บพืชตัวอย่างที่มีลักษณะแปลกและน่าสนใจกลับไปเป็นจำนวนมาก เมื่อกลับถึงบ้านเกิด ได้สมัครเป็นอาจารย์ในสังกัดภาควิชาพฤกษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh แต่ถูกปฏิเสธ Hooker จึงไปรับงานเป็นนักพฤกษศาสตร์ประจำหน่วย Geological Survey of Great Britain โดยมีหน้าที่เก็บสะสมฟอสซิลพืชที่ขุดพบใน Wales ในเวลาต่อมา Hooker ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปเยือน India กับ Nepal เพื่อนำพืชท้องถิ่นที่นั่นมาปลูกที่สวนพฤกษศาสตร์ Kew ในกรุงลอนดอน

ในปี 1847 Hooker จึงเดินทางไปเก็บพืชตัวอย่างในแถบภูเขาหิมาลัย และนับเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ใช้ทั้งเรือ ช้าง และม้าในการบุกป่า จนกระทั่งถึงเมือง Darjeeling ในอีกหนึ่งปีต่อมา

ตลอดการเดินทาง นอกจากจะทำหน้าที่เก็บพันธุ์พืชใหม่ๆ แล้ว Hooker ยังทำหน้าที่เขียนจดหมายถึง Darwin เพื่อรายงานพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ ที่เขาเห็นในอินเดียให้ Darwin ทราบด้วย ครั้นเมื่อเดินทางกลับถึงอังกฤษในปี 1850 ก็พบว่า บิดาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ Kew เรียบร้อยแล้ว และบิดาได้จัดหาเงินให้ บุตรชายเขียนเรียบเรียงตำราพฤกษศาสตร์ที่ได้ไปศึกษามาในเขต Antarctica และ India รวมกับที่กัปตัน James Cook และ Charles Darwin ได้เก็บรวบรวมมาจากการสำรวจโลกในโอกาสต่างๆ ด้วย Hooker จึงได้เขียนหนังสือ Flora Antarctica, Flora Novae-Zelandiae, Flora Tasmaniae และ Flora Indica

ในปี 1860 Hooker ได้เดินทางไปเยือน Palestine กับ Syria และอีก 11 ปีต่อมาได้แวะเยือน Morocco ถึงปี 1877 ได้ไปเยือนดินแดนภาคตะวันตกของอเมริกา และเวลาเดินทางไกลทุกครั้ง Hooker จะรวบรวมพืชกลับมามากมายเพื่อปลูกที่สวน Kew

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการเดินทางของ Hooker คือมีผลงานตีพิมพ์ และหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้มากมาย จนทำให้ Hooker ได้ชื่อว่าเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

เมื่ออายุ 38 ปี Hooker ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ Kew และอีก 10 ปีต่อมา ก็ได้รับคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสวน Kew อย่างเต็มตัวเหมือนบิดา รวมถึงเป็นสมาชิกของ Royal Society ด้วย

ในปี 1859 ที่หนังสือ The Origin of Species ของ Darwin ปรากฏในบรรณโลก หนังสือชื่อ Flora Tasmaniae ของ Hooker ก็ได้ออกตามในอีก 1 เดือนต่อมา และ Hooker ได้เขียนข้อความในบทนำว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin เป็นความคิดที่ถูกต้อง และเป็นความจริง Hooker จึงเป็นนักชีววิทยาคนแรกของโลกที่ออกมาสนับสนุน Darwin ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทอย่างเป็นทางการ

อันที่จริง Hooker ได้รู้จักกับ Darwin มาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะออกเดินทางไป Antarctica เสียอีก และ Darwin ได้ขอให้ Hooker ช่วยจัดจำแนกพืชที่ Darwin ขนมาจากทวีปอเมริกาใต้ออกตามสปีชีส์ ซึ่ง Hooker ก็จัดการเรียบร้อย และในการเดินทางไปแปซิฟิกครั้งนั้น ในยามว่าง Hooker จะอ่านหนังสือ Voyage of the Beagle ที่ Darwin เรียบเรียง ซึ่งได้ทำให้ Hooker รู้สึกประทับใจและศรัทธาในความสามารถของ Darwin มาก

ปี 2017 นับเป็นปีครบสองศตวรรษแห่งชาตกาลของ Hooker สวนพฤกษศาสตร์ Royal Botanical Gardens หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สวน Kew ในลอนดอนจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองวาระที่สำคัญนี้

ในงานมีการจัดแสดงพืชต่างๆ ที่ Hooker นำกลับมาจากแดนไกล จดหมายที่ Hooker เขียนด้วยลายมือ รวมถึงภาพวาดของพืชที่ Hooker วาดเอง เพราะในสมัยนั้น โลกยังไม่มีกล้องถ่ายรูป ดังนั้น นักชีววิทยาทุกคนจำเป็นต้องวาดรูปเป็น และผู้เข้าชมก็จะได้เห็นภาพของต้น rhododendron ที่ Hooker เห็นว่าชอบขึ้นในแถบ Sikkim บนภูเขาหิมาลัย และออกดอกสวยงาม ครั้นเมื่อสังคมสตรีไฮโซของอังกฤษได้เห็นต้นจริง หลายคนถึงกับคลั่งไคล้ และหลงใหลดอก rhododendron จนพากันเห่อกันเป็นแฟชั่น

แต่ Hooker ก็ใช่ว่าจะสนใจเฉพาะต้นไม้เท่านั้น เขายังวาดภาพสัตว์ และทิวทัศน์ด้วย ซึ่งผู้เข้าชมก็จะได้เห็นภาพชื่อ Choonjerma Pass ที่ Hooker วาดในปี 1848 ซึ่งแสดงทางผ่านแคบ และคดเคี้ยว ระหว่างภูเขาในประเทศเนปาล ตลอดวันเวลาที่ผ่านมาร่วม 170 ปี ไม่มีใครสนใจภาพวาดนี้ แม้ Hooker จะเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า นี่คือ ภูเขาที่สูงที่สุดในเนปาล โดยไม่รู้ชัดว่าสูงเท่าใด แต่ถึงวันนี้การวิเคราะห์ตำแหน่งที่ Hooker ยืนวาด และลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏในภาพทำให้นักภูมิศาสตร์ปัจจุบันรู้ว่า ภูเขาดังกล่าว คือ ภูเขาหิมาลัย และยอดเขาที่ Hooker เห็นคือ ยอดเขา Everest

นี่จึงเป็นภาพ Everest ที่นักสำรวจชาวยุโรปได้เห็นเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ในหนังสือ Handbook of the New Zealand Flora Hooker ก็ยังได้เขียนว่า ชาวพื้นเมืองชอบนำต้นไม้ลักษณะแปลกๆ มาให้ดู แต่ไม่สามารถบอกตำแหน่งที่ต้นไม้เหล่านั้นชอบขึ้นได้ ซึ่งทำให้ Hooker รู้สึกเสียใจ เพราะข้อมูลภูมิศาสตร์ของต้นไม้เป็นข้อมูลสำคัญที่เขาจำเป็นต้องมีเพื่อใช้สร้างทฤษฎีการกระจายพันธุ์ของพืช โดยจะโยงความเกี่ยวข้องระหว่างชนิดของพืชกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่ และความต้องการนี้ทำให้ Hooker จำเป็นต้องรู้วิธีทำแผนที่ด้วย เพราะชาวบ้านมักบอกชื่อของสถานที่ๆ ไม่ปรากฏในแผนที่ๆ เขาใช้ และบางครั้งก็ใช้ภาษาแปลกๆ ที่ล่ามที่ไปด้วยไม่เข้าใจ เช่น ภาษา Lepcha ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่ไม่เป็นที่พูดกัน

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Hooker คือ Flora of British India ซึ่งมีทั้งหมด 7 เล่ม และจากผลงานทุกชิ้นที่ทำมาได้ช่วยให้ Hooker ได้รับเกียรติยศสูงสุด คือ เหรียญ Order of Merit เมื่ออายุ 90 ปี

Hooker เสียชีวิตที่ Sunningdale ในแคว้น Berkshire เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1911 และอาร์คบิชอบแห่งมหาวิหาร Westminster ได้เสนอให้ฝังเถ้ากระดูกของ Hooker ใกล้หลุมฝังศพของ Darwin แต่ภรรยา Hooker ปฏิเสธ โดยขอให้ฝังศพของ Hooker ใกล้บิดาในสุสานที่อยู่ไม่ไกลจากสวน Kew

โลกมีพืชไม่ต่ำกว่า 30 ชนิดที่มีชื่อ Hooker และ Hookeriana รวมถึงหอยทาก (Notodiscus Hookeri) และสิงโตทะเล (Phocarctos Hookeri)

ส่วนงานเฉลิมฉลองนั้น นอกจากจะมีการจัดนิทรรศการ The Making of Modern Botany ที่สวน Kew แล้ว ที่บ้านเกิดของ Hooker คือที่ Halesworth ก็มีงานแสดง The Hooker Trial เช่นกัน และในอินเดีย ที่ Jawaharlal Nekru Tropical Botanic Garden and Research Institute ที่เมือง Thiruvananthapuram ก็มีการบรรยายชุด Joseph Dalton Hooker (1817-2017): A Bicentennial Retrospect

อ่านเพิ่มเติมจาก Imperial Nature: Joseph Hooker and the Practices of Victorian Science โดย Jim Endersby ปี 2008






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น