xs
xsm
sm
md
lg

เผยเทคนิคและอุปกรณ์ผู้คว้ารางวัลภาพดาราศาสตร์ประจำปี 2560

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำหรับคอลัมน์นี้ขอนำภาพผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2560 มาให้ทุกท่านดูกันว่า กว่าจะได้ภาพที่ชนะใจกรรมการ จนได้รางวัลที่ 1 มานั้น แต่ละท่านมีเทคนิควิธีการอย่างไรกันบ้าง รวมทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์ในการถ่ายภาพแบบไหน โดยในปี้นี้มีผู้ส่งภาพเข้าร่วมประกวดมากกว่า 260 ภาพ ซึ่งแต่ละภาพก็ล้วนแต่มีเทคนิคที่แตกต่างกันทั้งกระบวนโปรเซสภาพที่ทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ เอาล่ะครับ เรามาดูกันดีกว่าว่าปีนี้เหล่าช่างภาพดาราศาสตร์ทั้งหลายจะมีเทคนิคอะไรมาให้พวกเราได้เรียนรู้กันบ้างครับ

ประเภท Deep Sky Objects

ชื่อภาพ : Vela Supernova Remnant ภาพชนะเลิศ ประเภท Deep Sky Objects
ภาพโดย : นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
สถานที่ : ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
วัน/เดือน/ปี : 28 กุมภาพันธ์ถึง 5 มีนาคม 2560

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
Camera : กล้อง CCD SBIG STX-16803
Lens : ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง Takahashi FSQ-106 บนขาตามดาว Astro-Physics 900 GTO
Focal length : 530 mm.
Aperture : f/5.0
Exposure : 605 m.
Filter : L-R-G-B-Ha

เทคนิคการถ่ายภาพ (คำบรรยายจากผู้ถ่ายภาพ)
ถ่ายภาพด้วยกล้อง ซีซีดีโมโน(ขาวดำ) ผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงบนฐานตามดาว โดยใช้เวลาถ่ายภาพในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 5 มีนาคม 2017 ผ่านฟิลเตอร์ L-R-G-B-Ha โดยใช้เวลาถ่าย 10-15 นาทีต่อภาพ รวมเวลาถ่าย 605 นาที รวมทั้งถ่ายภาพ Bias, Dark, Flat ด้วยซอฟท์แวร์ Maxim DL โพรเซสภาพเบื้องต้นด้วยซอฟท์แวร์ CCD Stack แล้วส่ง tiff files ที่รวมภาพแต่ละแชนเนลแล้วไปโพรเซสเป็นภาพ LRHaGB-RHaGB ในซอฟท์แวร์ Photoshop และ Lightroom

ภาพนี้คงต้องบอกว่าผู้ถ่ายภาพมีความเชี่ยวชาญ และความรู้ความเข้าใจอยากมาก ซึ่งมีความอดทนและพยายามในการถ่ายภาพนานกว่า 6 วัน เวลาถ่ายภาพรวมกว่า 605 นาที ซึ่งยาวนานมากเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพนี้เพียงภาพเดียว ทำให้ได้ signal to noise ratio ที่ดีมาก ภาพถ่ายมีความใสเคลียร์ปราศจากสัญญาณรบกวน นอกจากนี้การที่ผู้ถ่ายเลือกใช้ CCD แบบขาวดำ ซึ่งต้องถ่ายภาพในแต่ละ Filter แล้วการเลือกใช้ Filter Ha มาใช้ร่วมเพื่อเก็บรายละเอียดของเนบิวลา ก็เป็นเทคนิคที่สำคัญที่ทำให้ภพามีรายละเอียดที่สุดยอดครับ

ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

ชื่อภาพ : Lucky Star ภาพชนะเลิศ ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
ภาพโดย : นางสาวชาติยา แก้วโย
สถานที่ : อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
วัน/เดือน/ปี : 26 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 04.48 น.

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
Camera : Nikon D750
Lens : Nikon AF-S NIKKOR 24 – 120 MM. F/4G ED VR
Focal length : 24 mm.
Aperture : f/4.0
ISO : 1250
Exposure : 13 sec

เทคนิคการถ่ายภาพ (คำบรรยายจากผู้ถ่ายภาพ)
ภาพนี้ผู้ถ่ายใช้ขาตั้งกล้อง ปรับโหมด M ไว้สำหรับถ่ายทางช้างเผือก เป็นความบังเอิญที่ต้องตั้งกล้องให้เป็นแนวตั้ง เนื่องจากเลนส์ที่มีกว้างสุดแค่ 24 มม. เลยตั้งใจจะถ่ายภาพทางช้างเผือกในแนวตั้งเรียงกันแล้วนำไป Process ต่อ เปิดค่ารูรับแสงกว้างสุดได้แค่ 4 จึงเพิ่ม ISO 1250 เพื่อให้แสงพอดี แล้วตั้งเวลาไว้ที่ 13 วินาที ซึ่งเป็น 13 วินาที ที่เก็บภาพดาวตกไว้ได้ทัน ปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop และ Lightroom

สำหรับภาพนี้นอกจากความพร้อมในการเตรียมตัว อุปกรณ์ ช่วงเวลา สถานที่ แต่หากขาดโชคดีแล้ว ก็ไม่สามารถถ่ายมาได้เช่นกัน คงต้องบอกว่าภาพปรากฏการณ์ที่จะถ่ายภาพดาวตกแบบไฟล์บอล ลูกใหญ่ๆแบบนี้ไว้ได้นั้นยากมากและไม่ได้เห็นแบบนี้กันบ่อยๆ และแว็ปแรกที่กรรมการเห็นต่างก็พูดแบบเดียวกันว่าภาพนี้สุดยอด ทั้งจังหว่ะและโอกาส จึงทำให้คว้ารางวัลประเภทปรากฏการณ์มาได้อย่างไม่ยากนัก ซึ่งภาพนี้สามารถแสดงให้เห็นการเสียดสีกับอากาศและถูกเผาไหม้ได้อย่างชัดเจน

ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

ชื่อภาพ : Saturn 2017 ภาพชนะเลิศ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
ภาพโดย : นายสิทธิ์ สิตไทย
สถานที่ : หนองแขม กรุงเทพฯ
วัน/เดือน/ปี : 16 มิถุนายน 2560 เวลา 22.37 น.

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
Camera : กล้อง CCD ZWO ASI290MM รุ่นชิฟขาวดำ
Lens : ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ Celestron C11 บนขาตั้งกล้องตามดาว Skywatcher EQ6Pro
Focal length : 2800mm. + Televue Powermate 2.5x = 7000mm.
Aperture : f/10.0
Exposure : ถ่ายภาพเป็นวีดีโอเฟรม ประมาณ 3000 เฟรม ต่อสี จำนวน 3 ไฟล์ภาพ RGB
Filter : R-G-B

เทคนิคการถ่ายภาพ (คำบรรยายจากผู้ถ่ายภาพ)
ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องตามดาว Skywatcher EQ6Pro เนื่องจากไม่ได้ไกด์ จึงต้องทำ Drift Alignment ก่อน เพื่อให้ดาวเสาร์ อยู่ในเฟรมให้ได้นานที่สุด โดยใช้โปรแกรม Fire Capture เพื่อจับภาพเป็นไฟล์วีดีโอ การ Focus สำคัญมาก ผู้ถ่ายโฟกัสดาวเสาร์นี้ จากวงแหวนของดาวเสาร์ เพื่อให้ภาพคมชัด และรอจังหวะให้ขาตั้งกล้องนิ่งที่สุด ถ่ายภาพโดยกำหนดไฟล์ละ 3000 เฟรม เป็นภาพขาวดำผ่านฟิลเตอร์ RGB คัดเฟรมที่ดีกว่า 70% (กำหนดให้รับภาพเฉพาะตำแหน่งของดาวเสาร์ เพื่อเพิ่ม frame rate) เมื่อได้ภาพวีดีโอมาแล้ว จากนั้นขั้นตอนการ Process ให้ได้ภาพนิ่งก็ใช้โปรแกรม AutoStackkert และ Registrax 6.0 และปรับสีในโปรแกรม Photoshop เป็นขั้นตอนสุดท้าย

ภาพนี้ผู้ถ่ายเลือกถ่ายดาวเสาร์ในช่วงที่ดาวสาร์ใกล้โลก ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ ทั้งยังมีความสว่างปรากฏมากกว่าช่วงอื่นๆ ซึ่งในทางดาราศาสตร์ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพดาวเคราะห์ โดยมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์นีปีนี้ก็ต้องบอกว่ามีมุมเอียงค่อนข้างมาก

ผู้ถ่ายมีความรู้ความชำนาญในการถ่ายภาพดาวเคราะห์เป็นอย่างดี มีการเลือกใช้อุปกรณ์ตลอดจนกระบวนการประมวลผลภาพได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ได้ภาพดาวเสาร์ที่มีรายละเอียดความคมชัดที่สุดยอด ดังจะเห็นในภาพว่าสามารถแสดงให้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ที่แบ่งออกเป็นวงแหวนหลัก วงแหวน A, วงแหวน B และวงแหวน C และช่องแคบในวงแหวน (ช่องแบ่งแคสสินี และช่องแคบเองเก้) ได้อย่างดี

ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

ชื่อภาพ : Blue Sapphire ภาพชนะเลิศ ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
ภาพโดย : นายวชิระ โธมัส
สถานที่ : อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
วัน/เดือน/ปี : 3 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 05.46น.

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
Camera : Nikon D750
Lens : Nikkor 18-35mm. บนขาตามดาว Vixen Polarie
Focal length : 18 mm.
Aperture : f/3.5
ISO : 800
Exposure :120s

เทคนิคการถ่ายภาพ (คำบรรยายจากผู้ถ่ายภาพ)
- ถ่ายทางช้างเผือก โดยตั้งกล้องบนมอร์เตอร์ตามดาว นาน 2 นาที
- ถ่ายฉากหน้า โดยใช้ค่าเดียวกันกับที่ถ่ายทางช้างเผือก แต่ ปิดตัวมอร์เตอร์ตามดาว
- นำภาพมา blend กันใน โปรแกรม photoshop

ภาพนี้ถือเป็นภาพทางช้างเผือกที่ได้ทั้งรายละเอียด สีสัน และองค์ประกอบต่างๆของบริเวณใจกลางทางช้างเผือกได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ทั้งเนบิวลาสว่าง เนบิวลาเรืองแสง เนบิวลามืด รวมทั้งเนบิวลา Rho Ophiuchus ได้อีกด้วย

การใช้เทคนิคการถ่ายภาพบนขาตามดาวก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ ช่างภาพดาราศาตร์มักเลือกใช้เพื่อให้ได้ภาพที่มี signal to noise ratio ที่ดีสัญญาณรบกวนที่ต่ำ

ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรกาศของโลก

ชื่อภาพ : Two Rings over Chao Phraya River ภาพชนะเลิศ ปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรกาศของโลก
ภาพโดย : รุจิรา สาธิตภัทร

อุปกรณ์และการตั้งค่าที่ใช้ในการถ่ายภาพ
Camera : CANON EOS 60D
Lens : CANON EF-S10-18mm. f4.5-5.6 IS STM
Focal length : 10 mm.
Aperture : f/4.5
ISO : 100
Exposure : 1/6400 sec

เทคนิคการถ่ายภาพ (คำบรรยายจากผู้ถ่ายภาพ)
- ใช้เทคนิคการนำหลายภาพมาต่อกันให้เป็นภาพเดียว (Stitching) ด้วยโปรแกรม Image Composite Editor
- Clone ขอบภาพเพื่อปิดส่วนที่เป็นพื้นดำจากการต่อภาพ ด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop CS6
- Process ภาพ ด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop Lightroom CC

โดยภาพนี้เป็นปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลดทั้ง 4 แบบ ในภาพเดียวกัน ทั้งทรงกลดวงกลมขนาด 22 องศา, ทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ มีรูปร่างเป็นวงรี, ทรงกลดเส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล ดูคล้ายสายรุ้งอยู่ด้านล่างวงกลม และทรงกลดวงกลมพาร์ฮีลิก เป็นวงกลมซึ่งลากผ่านดวงอาทิตย์ จึงทำให้เป็นที่สนใจ เพราะเกิดขึ้นได้ยากมาก ผู้ถ่ายภาพสามารถที่จะบันทึกภาพรายละเอียดส่วนต่างๆ ของปรากฏการณ์ที่ครบถ้วน ซึ่งจะเห็นจากเทคนิคเบื้องต้นว่าต้องใช้การถ่ายหลายๆภาพมาต่อกัน

ทั้ง 5 ภาพที่นำมาเสนอเทคนิควิธีการและการเลือกใช้อุปกรณ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ถ่ายภาพมีความตั้งใจในการถ่ายภาพ ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ และอดทนในการถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพสวยๆ ออกมาให้เราได้ชื่นชมกัน ก็ต้องขอยกนิ้วให้กับความพยายามและความสามารถของทุกท่าน ที่สุดยอดกันทุกภาพครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น