สถาบันคลังสมองของชาติ ผนึกกำลัง สกว. และเอกชน เปิดเวทีกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “Intellectual Property (IP) for Thailand 4.0” เมื่อ 7 สิงหาคม 2560 ซึ่งจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัท เอซิส แอสโซซิเอทส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย รวมถึงนักวิจัยที่มีความสนใจ ระหว่างวันที่ 7-8 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ
ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติกล่าวว่า การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ของประเทศ ภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ทำให้งานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมเป็นลำดับที่ 52 ของโลก และลำดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในงานวิจัยสร้างสรรค์และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของไทย รวมถึงการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีหลายสาเหตุ อาทิ นักวิจัยยังไม่เห็นถึงความสำคัญหรือขาดความเข้าใจ ไม่ให้ความสำคัญกับการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรหรือทำ Patent mapping ก่อนการวิจัย ส่งผลให้จดทะเบียนสิทธิบัตรได้ไม่มากนัก คิดเป็นอัตราส่วน 15:85 เมื่อเทียบกับต่างชาติที่ยื่นขอจดทะเบียนในประเทศไทย
นอกจากนี้งานวิจัยยังไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและผลงานวิจัย หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินงานเพื่อคลี่คลายข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ การจัดสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา โดยเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ รวมถึงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของภาคเอกชน องค์กรของรัฐ และมหาวิทยาลัยทั้งกรณีของต่างประเทศและของไทย โดยเน้นไปที่ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และความลับทางการค้า
ขณะที่นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “แผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ 4.0” ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำแผนที่นำทางระยะ 20 ปี เพื่อปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ การสร้างสรรค์ การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ ซึ่งไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือ เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
“ประเทศไทยยังอ่อนแอด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าและบริการ ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ให้ประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยแผนที่นำทางในการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและปัญญา จากการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตโดยลดต้นทุนเป็นเน้นเทคโนโลยี และจากผู้ประกอบการทั่วไปเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ด้านการสร้างสรรค์ได้มีการจัดทำระบบเรียนรู้ทรัพย์สินทางปัญญาทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิสก์ บทเรียนในรูปแบบแอนิเมชันสำหรับหลักสูตรความรู้ทรัพย์สินทางปัญญาพื้นฐานผ่านเว็บไซต์ http://elearning.ipthailand.go.th รวมถึงรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ ด้านความคุ้มครองได้จัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และบุคลากร รวมถึงปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและรองรับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น กฎหมายสิทธิบัตร เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาการจดทะเบียน และรองรับพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ด้านสาธารณสุข รวมถึงรองรับหลักการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น กฎหมายเครื่องหมายการค้า เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า โดยแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การตั้งตัวแทนหรือการมอบอำนาจ และเพิ่มหลักเกณฑ์การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นเสียง การแก้ไขการออกหนังสือสำคัญและใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน รายการจดทะเบียน การต่ออายุการจดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียน เป็นต้น ตลอดจนกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาแล้วสำหรับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์
ด้านการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการด้านสินทรัพย์ทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE center) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจรให้ตรงกับความต้องการของตลาด แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1) เทคโนแล็บ ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มทิศทางทางเทคโนโลยี แนวโน้ม และข้อมูลสิทธิบัตร 2) ไอเดียแล็บ เป็นพี่เลี้ยงในการบ่มเพาะเอสเอ็มอีให้นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ และพัฒนาสินค้าและบริการ 3) แวลูแล็บ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่องค์กรธุรกิจไทยให้มีระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการตลาด การประเมินมูลค่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการจับคู่ธุรกิจ/ขยายตลาดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านเว็บไซต์กลาง 4) อินเตอร์แล็บ ให้คำปรึกษาแนะนำการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการ ไกล่เกลี่ยข้อพาทและแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จัดอบรมพัฒนาต่อยอดสินค้าและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างความแตกต่างแก่สินค้า รวมถึงจัดทำระบบศูนย์รวมความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์คิดค้น นักสร้างสรรค์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา
ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาดพื้นที่ต่าง ๆ เร่งรัดการป้องกันปราบปรามและลงโทษ ทำลายของกลางที่คดีถึงที่สุดเพื่อสร้างความมั่นใจแก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและนักลงทุน รวมถึงรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาแก่ทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทย “ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม” ขณะที่ด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการประชุม WIPO เพื่อเตรียมผลักดันการเจรจาภายใต้กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกอย่างเป็นระบบ และแต่งตั้งคณะทำงานวางระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางในการวางระบบ ตลอดจนแนวทางในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงผลักดันการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องและเข้าร่วมการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ