แม้ผู้เชี่ยวชาญได้ใช้วิทยาศาสตร์มาไขปริศนาอียิปต์โบราณมากว่า 200 ปีแล้ว แต่ปิรามิดในกีซาจนถึงสุสานฟาโรห์แห่งลักซอร์อนุสรณ์ของความยิ่งใหญ่ในอดีตยังคงความลึกลับไว้อยู่ มาถึงวันนี้นักอียิปต์วิทยาขยับไปขั้นด้วยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้นเพื่อดึงเอาความลับในอดีตออกมาโดยไม่ต้องทำลายชิ้นส่วนวัตถุโบราณ
ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว นับแต่ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) นำทัพบุกอียิปต์พร้อมนักปราชญ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งได้วางรากฐานการทำงานด้านอียิปต์วิทยายุคใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือไขความลับในขุมทรัพย์ของดินแดนไอยคุปต์
มาถึงศตวรรษที่ 21 เอเอฟพีรายงานว่า พวกเขาได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำขึ้นไปอีกทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการทดสอบทางเคมีเพื่อหาอายุของสิ่งประดิษฐ์โบราณ ขณะที่การทดสอบทางเคมียังต้องใช้เศษตัวอย่างจำนวนหนึ่ง แต่ในส่วนของเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังนำมาใช้นั้นจะไม่ทำลายตัวอย่างวัตถุโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
“สแกนปิรามิดส์” (ScanPyramids) เป็นโครงการที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ไปไขความลึกลับของปิรามิดคูฟู (Khufu Pyramid) ที่อยู่ใกล้ๆ กรุงไคโร และเป็นหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่าที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงหนึ่งเดียว โดยเทคโนโลยีของโครงการนี้จะกล้องถ่ายภาพความร้อนบันทึกรังสีอินฟราเรดและกล้องบันทึกรังสีมิวออน (muography) ซึ่งเป็นเทคนิคบันทึกภาพด้วยอนุภาคมิวออนในวัตถุต้องสงสัย
โครงการสแกนปิรามิดส์ได้ประกาศมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้วว่า ปิรามิดคูฟูนี้อาจจะยังมีโพรงที่ตกสำรวจ ซึ่ง เมห์ดิ ทายูบิ (Mehdi Tayoubi) นักวางยุทธศาสตร์นวัตกรรมและประธานสถาบันพิทักษ์มรดกด้วยนวัตกรรม (HIP Institute) ที่เดินหน้าโครงการนี้กล่าวว่า อุปกรณ์ทั้งหมดที่โครงการติดตั้งนั้นได้รับการออกแบบเพื่อค้นหาตำแหน่งโพรงที่ตกสำรวจ ซึ่งพวกเขารู้ว่ามีแน่ๆ 1 แห่ง และพยายามค้นหาว่าอยู่ตรงไหน
สำหรับอุปกรณ์บันทึกรังสีมิวออนรวมทั้งเครื่องมือวิเคราะห์สารแขวนลอยทางเคมีนั้นได้มาจากมหาวิทยาลัยนาโกยา (University of Nagoya) ในญี่ปุ่น ส่วนเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ได้มาจากห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องเร่งอนุภาคความเร็วสูงแห่งญี่ปุ่น (KEK Japanese Research Laboratory) ส่วนกล้องส่องมิวออนนั้นได้มาจากคณะกรรมการพลังงานอะตอมฝรั่งเศส (French Atomic Energy Commission) ซึ่งผลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้จะนำไปเปรียบเทียบกับภาพอินฟราเรดและภาพสามมิติ
นักโบราณคดีบางคนได้ความหวังต่อเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ว่าจะช่วยหาตำแหน่งฝังพระศพของพระนางเนเฟอร์ติติ (Nefertiti) ราชินีผู้เป็นตำนานของฟาโรห์อาเคนาเตน (King Akhenaten) กษัตริย์ผู้นำแนวคิดพระเจ้าองค์เดียวมาสู่อียิปต์ และยังคงมีปริศนาเกี่ยวกับพระนางเนเฟอร์ติติค้างคาอยู่ โดยรูปปั้นท่อนบนของพระนางนั้นมีชื่อเสียงและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่เบอร์ลิน เยอรมนี
ขณะที่ นิโคลัส รีฟส์ (Nicholas Reeve) นักอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษ เชื่อว่าพระศพของพระนางเฟอร์เนติตินั้นถูกซ่อนอยู่ในห้องลับภายในสุสานฟาโรห์ตัตันคามุน (Tutankhamun) ทางตอนใต้ของหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) และเมื่อปี 2015 นักโบราณคดีได้ใช้เรดาร์สแกนสุสานนั้นด้วยความหวังว่าจะพบร่องรอยบางอย่าง
ทว่าทั้งทฤษฎีของรีฟส์และผลการสแกนที่ไม่มีข้อสรุปนั้นไม่ได้รับความสนใจจากนักอียิปต์วิทยาคนอื่นๆ ซึ่งในจำนวนนั้นมี ซาฮี ฮาวาส (Zahi Hawass) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงโบราณวัตถุของอียิปต์ เป็นอีกคนที่ไม่สนใจทฤษฎีดังกล่าวเช่นกัน แต่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิโค (Politecnico University) ในตูริน อิตาลี วางแผนที่จะทดลองครั้งใหม่โดยเทคนิคบันทึกภาพตัดขวางโทโมกราฟี (tomography) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการแพทย์ กับเทคนิควัดสนามแม่เหล็กแมกนีโตเมทรี (magnetometry) ค้นหาตำแหน่งซ่อนพระศพของพระนางเนเฟอร์ติติอีกครั้ง แต่ทั้งทีมโปลีเทคนิโคและกระทรวงโบราณวัตถุของอียิปต์ ต่างไม่มีแนวโน้มที่จะหารือถึงความพยายามครั้งใหม่นี้
ในอีกมุมหนึ่งนักอียิปต์วิทยากำลังเริ่มต้นโครงการที่จะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชวงศ์อียิปต์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยทางสถาบันโบราณคดีตะวันออกฝรั่งเศส (French Institute of Eastern Archaeology: IFAO) ในกรุงไคโรนั้นมีห้องปฏิบัติการหาอายุโบราณวัตถุที่ทีมนักวิจัยจะนำไปใช้ในโครงการสแกนปิรามิดส์
เอนิตา กีเลส (Anita Quiles) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันโบราณคดีตะวันออกฝรั่งเศส กล่าวว่าการลำดับเวลาของอียิปต์โบราณนั้นยังไม่ชัดเจน ตอนนั้นทำได้เพียงใช้การลำดับเวลาเทียบเคียง โดยอ้างอิงการครองราชย์กับราชวงศ์ แต่ก็ไม่ทราบวันเวลาที่แน่ชัด ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีในการศึกษานี้ซึ่งรวมถึงการทดลองทางเคมีด้วย
แม้จะใช้วิทยาศาสตร์ไขปริศนาโลกอียิปต์โบราณ แต่นักอียิปต์วิทยาระบุว่าวิทยาศาสตร์ไม่อาจแทนที่นักโบราณคดีและการลุยงานในพื้นที่ได้ โดยฮาวาสกล่าวว่าวิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญต่อโบราณคดี แต่เป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ที่จะต้องไม่ปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์ประกาศรายละเอียดถึงสิ่งที่ค้นพบโดยที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากนักอียิปต์วิทยาเสียก่อน