นักวิทยาศาสตร์ล่องเรือออกศึกษา “ซีแลนเดีย” ทวีปใหม่ใต้มหาสมุทรที่ตกสำรวจ และไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง
ซีแลนเดีย (Zealandia) เป็นดินแดนที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย และดินแดนแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินกอนด์วานา (Gondwana) ในอดีตก่อนจะแยกตัวออกมาเมื่อประมาณ 75 ล้านปีก่อน
เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาทีมนักวิจัยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการในวารสาร GSA Today ของสมาคมธรณีวิทยาอเมริกา โดยระบุถึงกรณีของซีแลนเดียว่า ควรได้รับการจัดให้เป็นทวีปใหม่ เพราะดินแดนดังกล่าวมีเอกลักษณ์ทางธรณีวิทยาเด่นชัดที่เข้าเกณฑ์การเป็นทวีปเช่นเดียวกับดินแดนอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ยกตัวเหนือบริเวณรอบๆ ซึ่งมีลักษณะทางธรณีที่แตกต่างอย่างชัดเจนและมีเปลือกโลกที่หนากว่าบริเวณพื้นมหาสมุทรค่อนข้างมาก
สำหรับทวีปที่ตกสำรวจนี้มีพื้นที่ครอบคลุม 5 ล้านตารางกิโลเมตร กินบริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของนิวซีแลนด์ขึ้นเหนือไปยังนิวคาเลโดเนีย (New Caledonia) อาณาคมพิเศษของฝรั่งเศส ส่วนทางฝั่งตะวันตกติดกับที่ราบสูงเคนน์ (Kenn Plateau) ทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้แถลงถึงการออกสำรวจทวีปใหม่นี้ โดยเรือขุดเจาะจอยด์สเรโซลูชัน (Joides Resolution) จะขุดสำรวจตะกอนดินและหินที่กองอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร เพื่อหาคำตอบว่าภูมิภาคดังกล่าวนี้มีพฤติกรรมอย่างไรตลอดหลายสิบล้านปีที่ผ่านมา
ตะกอนที่ถูกขุดเจาะนั้นจะนำขึ้นมาศึกษาบนเรือ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนาเกี่ยวกับอดีตของมหาสมุทร สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว สิ่งมีชีวิตใต้พท้นมหาสมุทร แผ่นเปลือกโลก รวมถึงบริเวณที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว
เจอร์รี ดิคเกนส์ (Jerry Dickens) นักวิทยาศาสตร์ระดับหัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ในเท็กซัส สหรัฐฯ กล่าวว่าซีแลนเดียนี้เป็นบริเวณที่สำคัญมากในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก โดยขณะที่ออสเตรเลียขยับขึ้นเหนือนั้นก็เกิดทะเลทัสแมนขึ้น การไหลเวียนของกระแสน้ำโลกก็เปลี่ยนรูปแบบ และความลึกของน้ำเหนือซีแลนเดียก็ผันผวน บริเวณนี้จึงเคยสำคัญในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงของโลก
สำหรับการสำรวจทวีปใหม่นี้จะใช้เวลานาน 2 เดือน โดยทีมเริ่มออกสำรวจตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.60 ซึ่ง เนวิลล์ เอกซอน (Neville Exon) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า การสำรวจนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับแผ่นเปลือกโลกเมื่อประมาณ 53 ล้านปีก่อน ซึ่งช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิด “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) ซึ่งเป็นจุดชุกชุมของภูเขาไฟและแผ่นดินไหวในมหาสมุทรแปซิฟิก
สำหรับรายงานวิชาการที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน ก.พ.นั้นเป็นผลการศึกษาที่มีนิค มอร์ติเมอร์ (Nick Mortimer) จาก GNS Science สถาบันศึกษาทางธรณีวิทยาของนิวซีแลนด์ เป็น หัวหน้าทีม ซึ่งเขาระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญใช้เวลากว่า20 ปี รวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้ซีแลนเดียเป็นทวีป แต่ความพยายามนั้นก็ล่มไม่เป็นท่าเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ แต่หากเราเชื่อมต่อมหาสมุทรได้ก็จะทำให้ทุกคนกระจ่างว่าเรามีทวีปขนาดใหญ่ที่เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่อยู่ใต้น้ำ