xs
xsm
sm
md
lg

ฟัง “คนเลี้ยงสัตว์ทดลอง” เล่าเบื้องหลังงานวิจัยมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประยงค์ สลุงอยู่ ผู้มีประสบการณ์เลี้ยงสัตว์ทดลองกว่า 15 ปี (ซ้าย)
“สัตว์ทดลอง” คือหนึ่งในใบเบิกทางของผลงานวิทยาศาสตร์หลายๆ สาขา ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ สาธารณสุข การเกษตร หรือแม้แต่วงการเครื่องสำอางต่างๆ และงานวิจัยจะไม่ได้การยอมรับหากสุขภาพของสัตว์ทดลองไม่อยู่ในมาตรฐาน ดังนั้น คนเลี้ยงสัตว์ทดลอง” จึงเป็นอีกกองหนุนที่สำคัญในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม

“ปัจจุบันการพัฒนาประเทศในยุคประเทศไทย 4.0 รัฐได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นสำคัญ แต่การที่จะได้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจังนั้นจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ดี ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ เรื่องของการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์นั้น นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวไว้ระหว่างเปิดการประชุมวิชาการ การเลี้ยงสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 6 และงานแสดงสินค้า ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 25 ก.ค.60 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด

ภายในงานนอกจากงานสัมมนาและจัดแสดงสินค้าแล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัลพนักงานเลี้ยงสัตว์ทดลองดีเด่น ซึ่งผู้ได้รับรางวัลประจำปีนี้คือ นายประยงค์ สลุงอยู่ จากกลุ่มสัตว์ทดลอง สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ และเขาเล่าถึงงานที่รับผิดชอบให้แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า สัตว์ทดลองไม่ได้มีแค่ “หนูแรท” (Rat) เท่านั้น แต่ยังมีสัตว์อื่นๆ อย่างไก่ สุกร โค และกระบือด้วย

สำหรับการดูแลสัตว์ทดลองนั้น นายประยงค์กล่าวมีความแตกต่างในการดูแลจากสัตว์ทั่วไป ตรงที่ ผู้ดูแลต้องรักษาความสะอาดและทำความสะอาดตนเองก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณที่มีการเลี้ยงสัตว์ทดลองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนชุดเป็นชุดปลอดเชื้อ หากในสถานที่สัตว์ทดลองมีระบบการดูแลสัตว์ทดลองมากกว่าหนึ่งระบบ ผู้รับผิดชอบในการดูแลสัตว์ทดลองนั้นต้องทำความสะอาดตัวเองใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนชุดใหม่ทุกครั้งหลังจากออกจากระบบแรก

การดูแลรักษาความสะอาดตัวเองของผู้เลี้ยงสัตว์ทดลองนี้ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากระบบการเลี้ยงดูหนึ่งไปสู่ระบบการเลี้ยงดูอีกแบบหนึ่ง และในส่วนของภาชนะใส่น้ำกับอาหารก็ต้องฆ่าเชื้อก่อน อีกทั้งภายในห้องเลี้ยงสัตว์ต้องได้รับการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมถึงมีระบบดูดอากาศเข้า- ออก ส่วนอาหารนั้นเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มาจากโรงงาน ซึ่งต้องผ่านการฆ่าเชื้อ ฉายรังสีมาเรียบร้อยแล้ว

“คนที่จะมาเป็นพนักงานเลี้ยงสัตว์ทดลองได้ สิ่งแรกเริ่มที่ต้องมีเลยคือ ต้องมีใจรักสัตว์ ไม่ใช่มาทำ มาเลี้ยงแบบรีบๆ แล้วก็รีบเลิกงานไป และในขณะเลี้ยงก็ต้องดูแลเค้าเป็นอย่างดีทั้งเรื่องอาหารการกิน ว่าสัตว์ได้รับอาหารที่ดีไหม สังเกตดูร่างกายของสัตว์ว่า แข็งแรงไหมมีการขับถ่ายเป็นอย่างไร และต้องดูแลเค้าราวกับว่า สัตว์ทดลองเป็นคนสำคัญของเรา” นายประยงค์กล่าวถึงคุณสมบัติในการเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ทดลอง
นายประยงค์ สลุงอยู่  (กลาง) รับรางวัลพนักงานเลี้ยงสัตว์ทดลองดีเด่น
นอกจากมอบรางวัลแก่พนักงานเลี้ยงสัตว์ทดลองแล้ว ภายในงานประชุมวิชาการการเลี้ยงสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ยังได้มอบเกียรติบัตรรับรองคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ (คกส.) ให้แก่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งนับเป็นองค์กรลำดับที่ 4 ของประเทศที่ได้รับการรับรองดังกล่าวจากทาง วช.

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยและเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของสถานที่ดำเนินการ ไบโอเทค บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงจุดแข็งที่ทำให้ไบโอเทคได้รับรางวัลดังกล่าวว่า มาจากความมุ่งมั่นที่จะทำงานวิจัยให้ได้อย่างมีคุณภาพ และในงานกำกับดูแลการใช้สัตว์ทดลองนั้นต้องทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งการได้รับการรับรองมาตรฐานนั้นเป็นการบอกถึงการกำกับดูแลของคณะกรรมการ และช่วยเหลือนักวิจัยในการทำงาน รวมทั้งเรื่องการจัดการเอกสาร เรื่องความถูกต้องของเอกสารและการจัดการพิจารณา พร้อมทั้งมีขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้องตรงตาม วช. กำหนด
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น