ฟู้ดอินโนโพลิสเปิดศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต หวังดันผู้ประกอบการอาหารไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (ฟู้ดอินโนโพลิส) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกิจกรรม “Food Innopolis Open house Future Food Lab” ณ เมืองนวัตกรรมอาหาร ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ในวันที่ 19 ก.ค.60 ซึ่งมีผู้ประกอบการด้านอาหารสนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 ราย
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ กรรมการผู้จัดการเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้ง ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต (Future Food Lab) ในลักษณะการดำเนินงานแบบ one stop service ด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการด้านอาหารลงทะเบียนเข้าร่วมงานแล้วกว่า 300 คน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าเยี่ยมชม ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต เพื่อเข้าใจและมีความร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหารในนาคต
“ศูนย์วิจัยอาหารแห่งอนาคต เป็นหน่วยงานสร้างนวัตกรรมที่ผสมผสานความรู้ เทคโนโลยี เกี่ยวกับอาหาร ความคิดเชิงสร้างสรรค์ และการออกแบบอย่างลงตัว เอื้อต่อการสร้างรูปแบบ ภาพลักษณ์ และอัตตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ทันสมัย ตอบโจทย์ของลูกค้าและตลาด สร้างความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในทุกระดับ รวมถึงสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพ นับเป็นการตอบโจทย์ประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0” ซีอีโอฟู้ดอินโนโพลิสกล่าว
ด้าน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และทคโนโลยี ซึ่งเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับ SMEs ด้วย Future Food Lab” กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนประเทศในยุคของประเทศไทย 4.0 และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาการส่งออกอาหารของไทยมีมูลค่าสูงถึง 9.7 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 12.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 12 ของโลก ในการส่งออกอาหาร สำหรับในปี 2560 นี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านบาท
"ถึงแม้สินค้าอาหารของเราหลายรายการ จะมีมูลค่าการส่งออกอยู่ใน 5 อันดับแรกในตลาดโลก เช่น ข้าว ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องปรุงรส แต่ถ้าเรายังเน้นการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในรูปของวัตถุดิบและการแปรรูปขั้นต้น ในอนาคตอุตสาหกรรมอาหารไทยจะไม่สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดสากล โดยเฉพาะในยุคที่พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารไทยต้องเร่งปรับตัว นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก" ดร.อรรชกา กล่าว
ดร.อรรชกาอ้างถึงการสำรวจข้อมูลการวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน ประจำปี 2559 พบว่าภาคเอกชนลงทุนวิจัยพัฒนารวมทั้งสิ้นประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอาหารมีการลงทุนวิจัยพัฒนาสูงสุดในภาคการผลิตของประเทศ คือประมาณ 12,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
"นวัตกรรมอาหารจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 เท่า และบางผลิตภัณฑ์อาจเพิ่มมูลค่าได้กว่า 10 เท่า หรือ100 เท่า เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหาร พร้อมทาน อาหารฮาลาล อาหารที่เน้นประโยชน์เฉพาะ อาหารเสริมหรืออาหารที่มีผลในเชิงรักษาโรค และสารสกัดจากวัตถุดิบอาหาร ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการที่ทั้งสามหน่วยงานจะเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการอาหารในทุกระดับและครบทุกมิติ เป็นการตอบโจทย์ประเทศภายในนโยบายประเทศไทย 4.0” ดร.อรรชกา กล่าว