เด็กไทยคว้ารางวัลพิเศษจาก “มอนซานโต้” บนเวทีแข่งขันโครงงานวิทย์ระดับโลก “อินเทล ไอเซฟ 2017” ด้วยผลงานสารสกัดจาก “หญ้าสาบแร้ง” ควบคุมโรคใบหยิกในมะเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศได้
เด็กไทยนำโครงงานวิทยาศาสตร์ คว้าสเปเชียลอวอร์ด (Special Award) ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สาขาพืชศาสตร์ จาก “มอนซานโต้” (Monsanto Company) บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2017 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศมาร่วมแข่งขัน ณ ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก (The Intel International Science and Engineering Fair 2017) หรือ อินเทลไอเซฟ (Intel ISEF) กิจกรรมวิทยาศาสตร์สุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วมการประกวด ในระหว่างวันที่ 14 - 19 พ.ค.60 ที่เมืองลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เมื่อค่ำวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาทีมเยาวชนไทยประกอบด้วย น.ส.นฤภร แพงมา น.ส.จรรยพร โกฏิมนัสวนิขย์ และนายวิชชากร นันทัยเกื้อกูล นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฝ่ายมัธยมศึกษา) มอดินแดง ได้รับสเปเชียลอวอร์ด (Special Award) หรือรางวัลพิเศษจาก “มอนซานโต้” (Monsanto Company) บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร หนึ่งในผู้สนับสนุนการประกวดของเวทีดังกล่าว
ยาวชนทั้ง 3 คนได้รับ คือรางวัลพิเศษด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สาขาพืชศาสตร์ จาก มอนซานโต้ไปได้ด้วยผลงาน “สารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาปแร้ง ควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดา”
น.ส.นฤภรให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ทันทีที่ได้ยินเสียงประกาศว่า “ไทยแลนด์” และชื่อโครงงาน เธอและเพื่อนๆ ในทีมรู้สึกดีใจเป็นที่สุด เพราะเวทีนี้เป็นการรวบรวมสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนกว่า 77 ประเทศทั่วโลกมาร่วมประกวดแข่งขัน จึงมีโอกาสยากมากที่จะได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง การได้รางวัลนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจว่า ผลงานที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปมากมาย ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ด้าน น.ส.จรรยพรกล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากการที่พวกเธอเห็นว่า มะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออก แต่มะเขือเทศมักถูกโรคใบหงิกเหลืองคุกคาม จึงทำให้ผลผลิตเสียหายได้เกือบ 100% โดยโรคนี้จะเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ 1. เชื้อไวรัส TYLCV ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา 2. แมลงพาหะที่นำเชื้อไปสู่พืช และ 3. วัชพืชในแปลงที่เป็นแหล่งให้แมลงพาหะมาอาศัย โดยเฉพาะในระหว่างที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงพาหะบนต้นมะเขือเทศ แมลงพาหะก็จะไปอาศัยในวัชพืชแทน ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการกำจัด ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พวกตนจึงต้องการหาสารจากพืชวงศ์คอมโพซิเต (Compositae) ที่มีการรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพว่า สามารถกำจัดไวรัส แมลง และวัชพืช มาควบคุมการเกิดโรค TYLC ได้มาแก้ปัญหาดังกล่าว
ส่วนนายวิชชากรกล่าวต่อว่า ในที่สุดทีมก็ได้พบว่า “หญ้าสาบแร้ง” เป็นพืชที่เหมาะที่จะทำเป็นสารชีวภาพ โดยสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้งมีสารที่สามารถควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกเหลือง (tomato yellow leaf curl) ในมะเขือเทศพันธุ์สีดาได้ จากนั้นได้ทดลองทั้งในสภาพแปลงทดลอง และแปลงปลูกของเกษตรกร
“ผลการทดลองที่ออกมาก็สอดคล้องกัน คือ 1. แม้สารสกัดหยาบไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ แต่มีผลต่อการชะลอการแสดงอาการของโรค 2. กำจัดแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะของโรค และ 3. สามารถกำจัดวัชพืชได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมะเขือเทศสูงขึ้น ที่สำคัญสามารถลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร จึงเป็นการช่วยลดต้นทุน รวมถึงอันตรายจากสารเคมี ที่จะเกิดต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมได” นายวิชชากรกล่าว