xs
xsm
sm
md
lg

สมกับเป็นนักล่าจอมพลัง “ทีเรกซ์” มีแรงกัดเทียบเท่าน้ำหนักรถ 3 คัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอสซิลของทีเรกซ์ที่ชื่อ SUE ซึ่งถูกส่งไปศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ฟิล์ด (Field Museum) ที่ชิคาโก อิลลินอยส์ สหรัฐฯ (REUTERS/Jim Young/File Photo)
ขึ้นชื่อว่า “ทีเรกซ์” ก็ฟังดูดุร้ายอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังได้ค้นพบข้อมูลที่น่าทึ่งขึ้นไปอีกว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดนี้สามารถขับเคี้ยวกระดูกและกลืนกินได้อย่างง่ายดาย ด้วยแรงบดเคี้ยวของกรามที่เทียบเท่าน้ำหนักรถยนต์ 3 คัน

การค้นพบครั้งนี้ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ศึกษากายวิภาคของกรามทีเรกซ์ (T. rex) หรือ ไทแรนนอซอรัสเรกซ์ (Tyrannosaurus rex) และศึกษาญาติที่ยังมีชีวิตมีอยู่อย่างจระเข้และนก

ทางด้านเอเอฟพีระบุผลการศึกษาว่า กรามของทีเรกซ์มีแรงกัดประมาณ 3,630 กิโลกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับรถขนาดกลางประมาณ 3 คัน

เกรกอรี อีริคสัน (Gregory Erickson) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตท (Florida State University) กล่าวว่า ทีเรกซ์สามารถกัดอะไรที่ต้องการ ตราบเท่าที่สิ่งนั้นเป็นเนื้อและกระดูก

ในการหาพลังการเคี้ยวของทีเรกซ์นั้น ทีมวิจัยยังคำนวณหาว่าแรงเคี้ยวนั้นถูกส่งผ่านเขี้ยวแหลมๆ ทรงกรวยที่ยาวถึง 18 เซ็นติเมตรอย่างไร โดยพบว่าแรงกัดของฟันแต่ละซี่นั้นอยู่ที่ 30,300 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร ซึ่งเป็นการวัดพลังบนบริเวณที่มีการสัมผัสฟันเพิ่มเติม

รอยกัดบนฟอสซิลกระดูกของไดโนเสาร์ที่มีเขาอย่างไตรเซราทอปส์ (Triceratops) ซึ่งอาศัยร่วมยุคกับทีเรกซ์เมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อนทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือนั้น บ่งบอกว่าทีเรกซ์เป็นนักเคี้ยวกระดูก ความสามารถในการบดและกินกระดูกนี่เองทำให้ทีเรกซ์ซึ่งตัวยาวถึง 13 เมตร และหนักถึง 7 ตัน กลายเป็นนักล่าที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้

พอล กิแนค (Paul Gignac) นักบรรพชีวินวิทยาจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอกลาโฮมาสเตท (Oklahoma State University Center for Health Sciences) หัวหน้าทีมศึกษาครั้งนี้ที่ได้ตีพิมพ์ลงวารสารไซแอนทิฟิกรีพอร์ทส์ (Scientific Reports) กล่าวว่า นักล่าที่สามารถเคี้ยวกระดูกได้นั้นจะเข้าถึงแหล่งอาหารที่ได้ให้ผลตอบแทนคุ้มกับความเสี่ยง อย่างแร่ธาตุที่สร้างกระดูกขึ้นมารวมถึงไขอุดมไขมันที่อยู่ในกระดูก

สำหรับนักล่าในธรรมชาติที่มีอยุ่ปัจจุบันอย่างไฮยีนา และหมาป่านั้นก็สามารถใช้ฟันบดกระดูกเพื่อกินไขที่อุดมสารอาหารได้ ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่ฟันกรามซึ่งสบกันได้พอดีทั้งบนและล่าง อันเป็นลักษณะพื้นฐานของสัตว์กินเนื้อที่เลี้ยงลูกด้วยนม แต่สำหรับทีเรกซ์แล้วไม่มีโครงสร้างฟันเช่นนั้น ทำให้เกิดคำถามว่านักล่าดึกดำบรรพ์นี้จัดการกับแรงต้านของกระดูกที่มีขนาดเท่าซุงท่อนเล็กๆ ได้อย่างไร

เอเอฟพีเผยเคล็ดลับดังกล่าวจากคำอธิบายของกิแนคว่า สำหรับทีเรกซ์นั้นมีตัวช่วยสำคัญที่ช่วยในการบดเคี้ยวกระดูก นั่นคือฟันที่มีรากแข็งแรง และจะขึ้นมาทดแทนเมื่อแตกหักทุกๆ 2 ปี

แม้ว่ามีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ประเมินถึงแรงกัดของทีเรกซ์มาก่อน แต่ทีมนักวิจัยจากงานวิจัยล่าสุดนี้ บอกว่างานวิจัยของพวกเขานั้นมีความซับซ้อนมากกว่า โดยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพวกเขาได้รับการพัฒนาขึ้นและทดสอบกับจระเข้ พร้อมๆ กับทีมวิจัยที่ศึกษาว่ากล้ามเนื้อแต่ละส่วนนั้นส่งผลต่อแรงกัดอย่างไร

ทั้งนี้ ทีมวิจัยสรุปว่าทีเรกซ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแรงกดของฟันแต่ละซี่แรงที่สุดเท่าที่เคยศึกษากันมา ส่วนแรงกัดนั้นก็ทรงพลังนำห่างสิ่งมีชีวิตใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ทีเรกซ์ก็ไม่ได้มีแรงกัดที่มากที่สุก โดยรอยเตอร์ยกตัวอย่างการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 ว่า จระเข้ดึกดำบรรพ์ขนาดยักษ์ที่ชื่อ ไดโนซุชัส (Deinosuchus) ซึ่งอาศัยบนโลกก่อนทีเรกซ์หลายล้านปีและมีน้ำหนักที่มากกว่ามหาศาลนั้น มีแรงกัดมากถึง 10,400 กิโลกรัม






กำลังโหลดความคิดเห็น