หลายครั้งที่สินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยทั้งโอทอปและเอสเอ็มอีนั้นดูน่ากิน-น่าใช้ แต่ผู้บริโภคหลายรายตัดใจมองผ่าน เพราะไม่แน่ใจในมาตรฐานความปลอดภัย และผู้ประกอบการเล็กๆ หลายรายก็เข้าไม่ถึงการตรวจวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐานเพื่อรับรองความปลอดภัยของสินค้า แต่โอกาสของรายย่อยกำลังมาพร้อมกับ “แล็บประชารัฐ”
สัญลักษณ์ตัว Q ที่บ่งบอกถึงมาตรฐานและความปลอดภัยในสินค้าอาหารและการเกษตร น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่คุ้นตาสำหรับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย สัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงถึงการผ่านการทดสอบจาก บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Central Lab Thai
สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง เผยว่า ทางบริษัทซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของภาครัฐที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น มีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางด้านอาหารอย่างรอบด้าน และมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่ครบครันมากที่สุด อีกทั้งยังตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากกระบวนการปลูก การตรวจวิเคราะห์ดิน น้ำและอากาศ เพื่อวิเคราะห์ความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ไปจนถึงสินค้าแปรรูปเป็นอาหาร หรือแม้แต่เครื่องสำอาง
จุดเริ่มต้นของห้องปฏิบัติการกลางนั้น สุรชัยเล่าว่า เมื่อปี 2546 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้ตั้งห้องปฏิบัติการกลางขึ้นเพื่อรองรับปีอาหารปลอดภัย (Food Safety Year) ในปี 2547 โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นห้องปฏิบัติการ 100% แบ่งเป็นกระทรวงการคลังถือหุ้น 49% และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 51% โดยงานตรวจวิเคราะห์จะเน้นเรื่องการเกษตรเป็นหลัก และเน้นหนักเรื่องวัตุดิบและผลผลิตการเกษตร
กรรมการผู้จัดการห้องปฏิบัติการกลางระบุว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาทางห้องปฏิบัติการกลางได้วิเคราะห์ตัวอย่างซึ่งเป็นสินค้าส่งออกถึง 80% คิดเป็นจำนวนกว่า 200,000 ตัวอย่าง โดยพันธกิจเดิมจะเน้นเรื่องการหารายได้เข้าประเทศ ทว่าในปี 2560 นี้ได้เริ่ม “แล็บประชารัฐ” พันธกิจใหม่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น โดยพันธกิจใหม่นั้นจะให้โอกาสผู้ประกอบการรายย่อยได้เข้าถึงการทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของห้องปฏิบัติการกลางได้ง่ายขึ้น
“จากการสำรวจของ สสว.เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สิ่งที่ลูกค้าให้ความสนใจในสินค้าอาหารอันดับแรกคือเรื่อง ความร่อย รองลงมาคือเรื่องความปลอดภัย จากนั้นเป็นเรื่องความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ แล้วค่อยพิจารณาเรื่องราคา สำหรับเรื่องความอร่อยนั้นสินค้าโอทอปหรือเอสเอ็มอีได้รับการยอมรับอยู่แล้ว แต่เรื่องความปลอดภัยนั้นผู้ประกอบการรายย่อยยังเข้าไม่ถึงบริหารของห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน ซึ่งถ้าอยากกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น ก็ต้องทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ” สุรชัยระบุ
สุรชัยระบุว่าห้องปฏิบัติการกลางได้รับมาตรฐานสากลทางห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์และให้ใบรับรองได้ว่าสินค้านั้นผ่านการตรวจสอบหรือไม่ และผู้ประกอบการสามารถนำผลตรวจไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขายสินค้าได้ แต่ไม่ใช่การขึ้นทะเบียนรับรองความปลอดภัยเหมือนมาตรฐาน อย.ที่มีรายละเอียดและความซับซ้อนมากกว่า
บริการของห้องปฏิบัติการกลางแบ่งเป็น 2 ด้าน คือบริการตรวจวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาสารเคมีตกค้าง การตรวจยาปฏิชีวนะ การตรวจเชื้อก่อโรคการตรวจจีเอ็มโอ (GMO) หรือการปนเปื้อนของดีเอ็นเอสัตว์ในอาหาร และบริการตรวจรับรองมาตรฐานนอกห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจประเมินและรับรองคุณภาพและผลผลิต การตรวจรับรองด้านพืช การตรวจวิเคราะห์คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการใช้บริการแก่ผู้ประกอบการรายน่อยนั้น สุรชัยกล่าวว่าจะเน้นการตรวจเรื่องความปลอดภัย ซึ่งมีรายการตรวจที่ไม่มากเท่าการตรวจวิเคราะห์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจลง โดยมีค่าใช้จ่ายในหลักพันถึงหมื่นบาทขึ้นอยู่กับรายการทดสอบ อีกทั้งห้องปฏิบัติการยังแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรที่สามารถสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายด้วย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) กองทุนหมู่บ้าน และ สสว.
ก่อนหน้านี้ห้องปฏิบัติการกลางยังมีความร่วมมือกับ สสว. ซึ่งได้ให้การสนับสนุนคูปองส่วนลดการตรวจวิเคราะห์แก่ผู้ประกอบการรายย่อยรายละ 5,000 บาท โดยมีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ารับการสนับสนุนประมาณ 2,000 ราย และกำลังมีแผนจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นรอบที่สองด้วย
สำหรับเรื่องความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้ประกอบทั่วประเทศนั้น ห้องปฏิบัติการกลางมี 6 ศูนย์บริการที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สงขลา และกรุงเทพฯ และอนาคตจะเพิ่มจุดบริการด้วยการตั้งศูนย์รับตัวอย่างโดยจะแต่งตั้งหน่วยงานในจังหวัด ซึ่งจะประเดิมจาก 18 กลุ่มจังหวัดที่รัฐบาลทำนโยบายผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy)
เมื่อเปรียบเทียบกับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ทั้งในสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนแล้ว สุรชัยกล่าวว่าห้องปฏิบัติการกลางสามารถลงไปหาผู้ประกอบการรายย่อยได้มากกว่า ทั้งการเป็นห้องปฏิบัติการของรัฐและยังแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยได้