xs
xsm
sm
md
lg

ของในครัว “น้ำส้มสายชู” ช่วยกอบกู้แนวปะการัง “เกรทแบริเออร์รีฟ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ภาพความพยายามในการใช้น้ำสมสายชูเพื่อกำจัดดาวมงกุฏหนาม (LISA BOSTROM EINARSSON / JAMES COOK UNIVERSITY / AFP)
นักวิทยาศาสตร์พบวิธีง่ายๆ ที่จะกำจัด “ดาวมงกุฏหนาม” ตัวกินปะการังที่มีส่วนทำลายแนวปะการัง “เกรทแบริเออร์รีฟ” ที่ออสเตรเลีย โดยใช้น้ำส้มสายชูทั่วไปที่ใช้ตามครัวเรือน เพื่อจัดการดาวทะเลที่เป็นภัยต่อปะการังได้อย่างปลอดภัย

แม้ว่าดาวทะเลจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตามธรรมชาติ แต่มลภาวะได้ส่งผลให้ดาวมงกุฏ ที่ชอบกัดกินปะการังนั้น เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการังที่เป็นมรดกโลก อีกทั้งยังเจ็บป่วยจากการพอกขาวอย่างต่อเนื่อง 2 ปี

ก่อนจะค้นพบวิธีใหม่ที่ปลอดภัยนั้น เอเอฟพีรายงานว่ามีวิธีอื่นคือการเลือกใช้สารเคมีราคาแพงอย่าง “เกลือน้ำดี” เพื่อพยายามกำจัดดาวมงกุฏหนามที่กัดกินปะการังเร็วกว่าที่ปะการังจะฟื้นตัวได้ แต่สารเคมีนี้ก็ส่งผลร้ายต่อสิ่งสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่นๆ ด้วย

ทว่าจากการทดสอบโดยมหาวิทยาลัยเจมส์คุก (James Cook University) ซึ่งร่วมมือกับ องค์การอุทยานทางทะเลเกรทแบริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef Marine Park Authority) หรือ GBRMPA แสดงให้เห็นว่า น้ำส้มสายชูนั้นมีความปลอดภัย ได้ผลดีและราคาถูก

ลิซา บอสตรอม-ไอนาร์สสัน (Bostrom-Einarsson) หัวหน้าทีมศึกษากล่าวว่า ทดสอบฉีดน้ำส้มสายชูใส่ดาวมงกุฏหนามที่ 4 ตำแหน่งของแนวปะการังตลอด 6 สัปดาห์ พบว่าดาวทะเลตายภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น

“เราบันทึกการฟื้นชีพของปะการัง ความชุกของโรคปะการัง ความหลากหลายและชุกชุมของปลา โรคปลา และความอุดมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งก่อน หลัง และขณะทดลองศึกษาในช่วงเวลา 6 สัปดาห์ และไม่พบผลกระทบที่เสียหาย” บอสตรอม-ไอนาร์สสันกล่าว

ทั้งนี้ การจัดการให้ดาวมงกุฏหนามอยู่ภายใต้การควบคุมนั้นเป็นงานยากลำบาก โดยทีมดำน้ำต้องฉีดน้ำส้มสายชูใส่ดาวทะเลทีละตัว ก่อนที่ดาวทะเลจะตายและแตกสลาย ถึงแม้จะเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมาก แต่ก็ให้ประสิทธิภาพที่มากกว่าการจับขึ้นมาจากน้ำแล้วฆ่าทิ้ง

จากการศึกษาชิ้นใหญ่เมื่อปี 2012 เกี่ยวกับสุขภาพของปะการัง เผยให้เห็นว่าตลอด 27 ปีที่ผ่านมา ปะการังลดลงไปกว่าครึ่ง และมีปะการังถึง 42% ที่เสียหายจากดาวมงกุฏหนามนี้

ทางด้าน เฟรด นูซิฟอรา (Fred Nucifora) ผู้อำนวยการฝ่ายท่องเที่ยวและบริการของ GBRMPA กล่าวว่า วิธีใหม่นั้นจะใช้กับปะการังเป้าหมายที่ได้รับการระบุว่า มีคุณค่าควรแต่การอนุรักษ์และมูลค่าทางการท่องเที่ยวสูง โดยการจำกัดดาวมงกุฏหนามนั้นเป็นกิจกรรมการจัดการที่สำคัญเพื่อปกป้องปะการังและกระตุ้นภูมิต้านทานของแนวปะการัง โดยเฉพาะการฟื้นคืนปะกรังที่ฟอกขาว

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ยังได้เผยว่า แนวปะการังของเกรทแบริเออร์รีฟเป็นแนวยาว 2,300 กิโลเมตรนั้น ป่วยจากการฟอกขาวเป็นรอบที่ 2 เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น และบางส่วนนั้นไม่อาจฟื้นคืนได้อีก

สำหรับแนวปะการังเกรทแบริเออร์นั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย โดยคิดเป็นรายได้ปีละ 5.2 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ เกื้อหนุนการดำรงชีวิตของคนราว 70,000 คน และมีคำเตือนว่า การตายของปะการังนั้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าว คิดเป็นรายได้เทียบเท่าเงินจากนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน

แม้ว่านวัตกรรมจากวิธีใหม่จะเป็นข่าวดี แต่บอสตรอม-ไอนาร์สสันกล่าวว่า ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดดาวมงกุฏหนามทั้งหมด ตอนนี้มีดาวมงกุฏหนามหลายล้านตัวที่แนวปะการังเกรทแบริเออร์ แต่ดาวทะเลตัวเมียก็ผลิตไข่ได้มากถึง 65 ล้านฟองต่อฤดูผสมพันธุ์

“อาจต้องใช้ความพยายามมหาศาลเพื่อพยายามและกำจัดดาวมงกุฏหนามทีละตัว แต่เรารู้ดีว่านั่นเป็นความพยายามที่ยั่งยืนที่จะพิทักษ์ปะการังได้โดยตรง” บอสตรอม-ไอนาร์สสันกล่าว

ตอนนี้น้ำสมสายชูได้เพิ่มเข้าไปในบัญชีสารเคมีควบคุมที่ได้รับยอมรับจาก GBRMPA แล้ว นั่นหมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับอนุญาตให้เริ่มใช้สารเคมีจากห้องครัวนี้ เพื่อควบคุมประชากรดาวมงกุฏหนามได้
 ภาพความพยายามในการใช้น้ำสมสายชูเพื่อกำจัดดาวมงกุฏหนาม (LISA BOSTROM EINARSSON / JAMES COOK UNIVERSITY / AFP)
 ภาพความพยายามในการใช้น้ำสมสายชูเพื่อกำจัดดาวมงกุฏหนาม (LISA BOSTROM EINARSSON / JAMES COOK UNIVERSITY / AFP)






กำลังโหลดความคิดเห็น