xs
xsm
sm
md
lg

เทพนิยายและนิทานพื้นบ้าน: กำเนิดและความสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพประกอบเรื่องเล่า Sleeping Beauty โดย Walter Crane
นับเป็นเวลานานร่วมหกศตวรรษแล้ว ที่ชาวยุโรปทุกวัยทั้งผู้ใหญ่และเด็กชอบอ่านเทพนิยายที่มีสัตว์สามารถพูดภาษาคนได้ และมีตัวละครในเรื่องเป็นเทพธิดา แม่มด ยักษ์ กับคนแคระซึ่งล้วนมีอิทธิฤทธิ์และอิทธิพลเหนือคนธรรมดา และเนื้อหาของเรื่องส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับกษัตริย์และราชวงศ์ อาทิเช่น เจ้าชาย เจ้าหญิงซึ่งถูกเนรเทศออกจากพระราชวัง เพราะถูกขุนนางชั่ว หรือพระมารดาเลี้ยงทรงกลั่นแกล้ง ทำให้ต้องทรงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางภยันตรายตลอดเวลา แต่ในที่สุดเคราะห์กรรมทั้งหลายก็อันตรธาน และเคราะห์ดีก็บังเกิด เมื่อเหล่าคนร้ายถูกกำจัดจนหมดสิ้น จากนั้นเจ้าชายกับเจ้าหญิงก็ทรงหวนกลับพระราชวัง และทรงมีความเกษมสำราญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังในเทพนิยายรวมเล่มชื่อ “Le Piacevoli Nolti” (The Pleasant Nights คืนชื่นสุข) ที่นักประพันธ์ชาวอิตาลีชื่อ Gian Francesco Strapola ได้เผยแพร่เมื่อ ค.ศ.1551 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) และเป็นเทพนิยายที่ชาวเวนิสนิยมอ่าน มีเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึง เจ้าชาย Guerrino ว่า ทรงทำให้พระบิดาพิโรธ เพราะทรงลอบปล่อยคนป่าที่พระบิดาทรงกักขังไว้ เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าชายทรงน้อยพระทัยจึงหนีออกจากราชวัง ไปเผชิญภัยในโลกภายนอก แต่ในที่สุดได้ทรงเข้าพิธีสมรสกับเจ้าหญิง Potentiana และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์

นอกจากเรื่องนี้แล้ว Strapola ก็ยังมีผลงานเทพนิยายอื่นๆ อีกมาก เช่น เรื่องหนุ่มขอทานที่ได้แต่งงานกับเจ้าหญิง เนื้อเรื่องมีพระเอกที่ถือกำเนิดในสลัมและได้ไปเสวยสุขในบั้นปลาย เป็นนิทานแนวที่ผู้คนในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) นิยมอ่านกันมาก

สำหรับนักประพันธ์รุ่นหลัง Strapola มีคนหนึ่งชื่อ Giambatista Basile ซึ่งได้แต่งเทพนิยายเรื่อง Cinderella ที่โลกรู้จักดี ซึ่งมีเนื้อหาว่า หญิงสาวสวยถูกมารดาเลี้ยงกลั่นแกล้ง แต่ในที่สุดนางก็ได้เข้าพิธีสมรสกับเจ้าชาย

การศึกษาประวัติความเป็นมาของเทพนิยายเหล่านี้ทำให้พบว่าทั้ง Strapola และ Basile ได้แนวคิดจาก Boccaccio ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นคนโปรดปรานการประพันธ์ในแนวต้นร้ายปลายดี ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสุขใจ เมื่ออ่านจบ เช่นในปี 1348 ที่เมือง Florence ของอิตาลีมีกาฬโรคระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนล้มตายมากมาย บรรยากาศในเมืองจึงมีแต่ความทุกข์ และเศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงพึ่งพาการอ่านเทพนิยายเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจ

ในฝรั่งเศสก็มีนักเขียนเทพนิยายที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Charles Perrault ผู้มีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ประชาชนฝรั่งเศสเห็นพ้องกันว่า พระองค์ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ผลงานสำคัญของ Perrault คือการเรียบเรียงเรื่องเจ้าหญิงนิทราและ Cinderella ของ Basile ให้ปราศจากความหยาบกร้านของสังคมชั้นต่ำ เพื่อความสำราญของคนในสังคมชั้นสูงสมัยนั้น

ส่วนในเยอรมนีมีสองพี่น้องตระกูล Grimm ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการเขียนเทพนิยาย คนพี่ชื่อ Jacob และคนน้องชื่อ Wilhelm ทั้งสองได้นำนิยายพื้นบ้านของเยอรมันที่ตลกและสนุก มารวบรวมเป็นเล่มชื่อ Kinder-und Hausmäechen (Children’s and Household Tales) เพื่อเผยแพร่ในปี 1812 และหนังสือได้รับการตอบรับที่ดีมากจากคนอ่าน จนอีก 11 ปีต่อมา หนังสือก็ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อว่า German Popular Stories แต่ในเวลาต่อมาต่อมาได้ใช้ชื่อ Grimm’s Fairy Tales ให้โลกรู้จักจวบจนวันนี้

เมื่อย่างเข้าปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวยุโรปได้เริ่มสนใจแสวงหารสชาติที่แปลกใหม่ในการอ่านเทพนิยาย เจ้าของร้านขายหนังสือในเยอรมนีจึงพยายามขายความคิดที่ว่า เทพนิยายเยอรมันถือกำเนิดมาจากนิทานพื้นบ้านที่ชาวบ้านเล่าสู่กันฟัง พี่น้องตระกูล Grimm เองก็คิดว่านิทานที่คนทั้งสองได้รวบรวมมา เป็นเรื่องที่ชาวเยอรมันทุกคนเคยได้ยินได้ฟังจากบรรพบุรุษในชนบท และได้ถูกถ่ายทอดจากปากสู่ปาก หาได้มาจากการอ่านเทพนิยายที่ตีพิมพ์เป็นเล่มไม่ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก

หลักการที่พี่น้องตระกูล Grimm ใช้ในการเขียนเทพนิยายได้รับการพัฒนา และถูกนำมาเป็นรากฐานในการเขียนเทพนิยายในปัจจุบันว่า นักเขียนเทพนิยายไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุน เพราะเทพนิยายเป็นเพียงเรื่องที่ใช้จินตนาการหรือประสบการณ์ของผู้เขียนในการแต่งให้ผู้อ่านเข้าใจจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านทั่วไปในเวลานั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า แม้เนื้อหาของเทพนิยายฝรั่งเศส และเยอรมันจะคล้ายคลึงกัน แต่ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของคนในชาติทั้งสองทำให้รายละเอียดของเนื้อเรื่องแตกต่างกัน

ในปี 1984 Robert Darnton แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาประเด็นที่มาของเทพนิยาย และได้เผยแพร่ผลงานในวารสาร New York Review of Books ว่า เมื่อชาวชนบทอพยพเข้ามาทำงานในเมือง คนเหล่านี้ยังจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่บรรพบุรุษของตนได้เคยเล่าให้ฟัง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก เช่นเมื่อ Charles Perrault ได้ฟังเรื่องที่สาวใช้ในบ้านเล่าให้ฟัง เขาจึงนำเรื่องเล่านี้ไปเล่าต่อ ถึงปี 1690 จึงได้รวบรวมนำเรื่องเล่าทั้งหมดเสนอต่อ Academie Francaise นั่นคือ เทพนิยายของเขาถือกำเนิดจากเรื่องเล่าของคนใช้ในบ้าน

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดนักวิชาการจึงสนใจโลกแห่งจินตนาการของชาวบ้านที่ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานมาเล่าเทพนิยายและนิทานพื้นบ้านให้ลูกหลานฟัง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าใครคือผู้เขียน หรือผู้เรียบเรียงนิยายเหล่านั้น คำตอบมีว่า เพราะนิยายที่นำมาเล่าล้วนแสดงเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษที่ผู้เล่าต้องการให้ลูกหลานรู้และพยายามอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป

ในโลกตะวันออกก็มีเรื่องเล่าที่เป็นนิยายพื้นบ้านเช่นกัน ที่ผู้คนได้เล่ากันมาหลายชั่วอายุคน จนอาจถือได้ว่านิทานพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติก็ได้ การเล่านิทานพื้นบ้านหรือเทพนิยายให้เด็กๆ ฟังจึงเป็นการสอนและการอบรมรูปแบบหนึ่งที่มุ่งให้เด็กๆ เข้าใจโลก เราคงต้องยอมรับว่า เมื่อเราโตขึ้น เนื้อหาวิชาการที่ครูสอนหรือที่อาจารย์บรรยายในห้องเรียน เราอาจจะจำไม่ได้ แต่เราไม่เคยลืมนิทานที่ผู้ใหญ่หรือญาติเล่าให้ฟังตอนเป็นเด็ก เพราะนิทานเหล่านี้สร้างความรู้สึกที่ดีในจิตใจของคนฟัง ให้เกิดจินตนาการด้านสร้างสรรค์ รวมถึงการให้รู้จักตนเอง คนอื่น และสังคมรอบข้าง นิทานที่ครูเล่าในห้องเรียน มักช่วยเด็กในการพัฒนาการเรียนรู้ ด้านภาษาพูดและภาษาเขียน รวมถึงให้เด็ก รู้สึกรักที่จะเรียนวรรณกรรมดีๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นถ้านิทานที่ครูเล่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรัก ความยุติธรรมและความเมตตาปราณีด้วย เด็กก็จะได้เรียนรู้ และรับไปปฏิบัติ เพื่อจะได้รู้วิธีการที่จะอยู่อย่างเป็นสุขต่อไปในอนาคต

ดังนั้นเทพนิยายหรือนิทานชาวบ้านที่เล่าให้เด็กฟัง จึงเป็นอะไรบางอย่างที่มีค่ามากกว่าความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ให้การศึกษาและความรู้สึกอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติด้วย

ในปี 2003 องค์การ UNESCO จึงประกาศให้นิทานพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้รูปแบบหนึ่งที่คนในชาติต้องอนุรักษ์ ให้ผู้คนต่างชาติต่างภาษาและต่างวัฒนธรรมได้เข้าใจกัน รู้ค่านิยม และความเชื่อต่างๆ ของกันและกัน

แม้ว่าทุกวันนี้ เด็กส่วนใหญ่จะคิดว่า นิทานพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมโบราณ ที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อการดำรงชีวิตของใครในปัจจุบัน แต่นิทานพื้นบ้านก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากวรรณกรรมอื่นๆ ซึ่งทำให้เป็นที่น่าศึกษา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

นิทานพื้นบ้านมักได้รับการถ่ายทอดจากปากสู่ปาก และจากคนสู่คนมาหลายชั่วอายุคน จนในที่สุดได้ถูกบันทึกลงเป็นเอกสาร แต่อาจได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปบ้างตามกาลเวลา เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย แต่ภูมิปัญญาของชาวบ้านผู้คิดสร้างนิทานก็ยังปรากฏให้เห็นความนึกคิดและสภาพความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษในอดีต จนเราปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงชีวิตในอดีตกับชีวิตปัจจุบันและอนาคตได้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของนิทานพื้นบ้าน และเทพนิยาย คือ เหตุการณ์ในเนื้อเรื่องมักอุบัติในดินแดนไกลโพ้นที่มีสัตว์พูดได้ เจ้าชาย เจ้าหญิง ยักษ์ นางฟ้า เทพยดา ชาวนา ขอทาน ฯลฯ ทำให้เด็กที่อ่านอาจ “อิน” กับโลกจินตนาการ จนทำให้เกิดคำถามวิทยาศาสตร์ว่า คนเราจะรู้และพูดภาษาสัตว์ได้หรือไม่ เหตุใดคนธรรมดาจึงสูงได้ไม่เท่ายักษ์ และเหาะไม่ได้เหมือนเทวดา ฯลฯ สำหรับเด็กที่ช่างสงสัย การอ่านเทพนิยาย หรือนิทานพื้นบ้าน จะเป็นตัวช่วยสร้างนักวิทยาศาสตร์ได้วิธีหนึ่ง

ตามปกติคนที่อ่านนิทานพื้นบ้าน และเทพนิยายมักจะรู้ตัวว่า แทบทุกเรื่องมีตอนจบที่สวย คนที่ทำดีจะได้รับผลตอบแทนดี และคนทำชั่วจะถูกลงโทษ เจ้าชายกับเจ้าหญิงจะได้ครองชีวิตคู่อย่างมีความสุขจวบจนฟ้าดินสลาย การตระหนักรู้คุณค่าเหล่านี้จากการอ่านหรือฟัง ทำให้ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องกำหนดค่านิยมมากมายให้เด็กท่องจำ เพียงแต่เล่านิทานสอนใจว่า ถ้าจะให้สังคมสงบสุข เด็กและผู้ใหญ่ควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไรบ้าง

เราคงต้องยอมรับว่า นิทานพื้นบ้านและเทพนิยายบางเรื่องจะทำให้เด็กมีความต้องการจะได้ประสบด้วยตนเอง แต่ในโลกของความจริง เขาจะไม่มีวันได้พบเหตุการณ์นั้น เช่น มังกรบิน หรือพญานาคที่พ่นไฟจากปาก จนอาจรู้สึกกลัว และฝังใจจนเติบใหญ่ เขาจึงจะรู้ว่า การบินได้ของสัตว์ เช่น มังกร และการพ่นไฟจากปากของพญานาคเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อได้เรียนและเข้าใจวิทยาศาสตร์

ความน่าสนใจประการสุดท้ายสำหรับนิทานพื้นบ้าน คือ การเป็นมรดกทางภาษา เพราะเวลาครูเล่านิทาน การที่เด็กได้ฟังเรื่องที่เล่าอย่างมีรสชาติ จะทำให้เด็กตื่นเต้นและสนใจการใช้ภาษาในการพูด และการเขียนของตนเองในภายหลัง
โลกทุกวันนี้เป็นโลกาภิวัตน์ที่คนทุกชาติยอมรับในวิวัฒนาการที่หลากหลายของกันและกัน เพราะนิทานพื้นบ้านตามปกติถือกำเนิดจากความคิด ความเชื่อ ประเพณี และค่านิยมของสังคมดังนั้น เด็กที่อ่านเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านก็จะมีความเข้าใจในวัฒนธรรม และซาบซึ้งในประเพณีของชนชาติอื่น ความเข้าใจนี้จะทำให้คนทุกชาติได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีสติปัญญา เหมือนที่ Albert Einstein ได้เคยกล่าวว่า “ถ้าคุณต้องการให้ลูกของคุณฉลาด ก็อ่านเทพนิยายให้เขาฟัง และถ้าต้องการให้ลูกฉลาดมากยิ่งขึ้นไปอีกก็อ่านเทพนิยายให้เขาฟังมากยิ่งขึ้น”

ตัวอย่างนิทานพื้นบ้านของอินโดนีเซีย เรื่อง “เทพธิดาข้าว”

ในสมัยก่อนบนเกาะชะวาไม่มีต้นข้าวเลย คนจึงต้องบริโภคมันสสำปะหลังแทน เพราะข้าวเป็นอาหารของเทพเจ้า ดังนั้นบนสวรรค์จึงมีการปลูกข้าว

วันหนึ่ง ชายคนหนึ่งได้เดินทางไปเฝ้าเทวดา และเห็นเทวดากำลังเสวยข้าวที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต จึงอยากลิ้มรสมาก เพราะได้ดมกลิ่นหอมของข้าว จึงทูลขออนุญาตจากเทพธิดาข้าวให้อยู่ต่อในสวรรค์เพื่อจะได้เรียนวิธีปลูกข้าว และเทพธิดาก็ทรงอนุญาต และทรงสอนวิธีไถนา ทดน้ำ พรวนดิน และหว่านเมล็ดข้าว เมื่อต้นข้าวตกรวง ก็ทรงสอนให้หนุ่มรู้จักเกี่ยวข้าว และสีข้าว รวมถึงวิธีหุงข้าวด้วย และชายหนุ่มก็ได้กินข้าวที่ตนได้คาดหวังและคอยมานาน

จนเวลาผ่านไปหลายปี ชายหนุ่มรู้สึกต้องการให้เพื่อนบ้าน และทุกคนในครอบครัวได้กินข้าวบ้าง จึงขโมยต้นข้าวเพื่อแอบนำกลับไปปลูกบนโลก และแสดงวิธีการปลูกข้าวที่ได้ฝึกฝนมาให้เพื่อนบ้านดู

ในเวลาไม่นาน เกาะชะวาทั้งเกาะก็เต็มไปด้วยนาข้าว และเมื่อเทพเจ้าเสด็จมาเยือนโลก เห็นรวงข้าวสีทองเต็มโลก ทรงตกพระทัย และพิโรธมาก เพราะมนุษย์ไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกข้าว

ทันทีที่รู้ข่าวร้าย เทพธิดาข้าวทรงตระหนักได้ในทันทีว่า ชายหนุ่มได้ขโมยต้นข้าวไป โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงทรงตำหนิชายหนุ่ม และได้เขาก็ได้ชี้แจงว่า เขาไม่ได้ขโมยไปเพื่อตนเอง แต่เพื่อเพื่อนๆ ทุกคน

เทพธิดาทรงประทานอภัย และบอกให้ขออนุญาตเจ้าของก่อนจะหยิบอะไรไปทุกครั้ง เพื่อเป็นการลงโทษ เทพธิดาทรงไม่ประทานอนุญาตให้มนุษย์คนใดไปเยือนสวรรค์อีก และขอให้ชายหนุ่มดูแลต้นข้าวให้ดี เพื่อให้ผู้คนได้บริโภคอาหารจากสวรรค์ แต่ถ้าไม่เชื่อฟังคำสั่งนี้ เทพธิดาก็จะทรงส่งภัยพิบัติมาทำลายไร่นาจนหมดสิ้น และก่อนเสด็จกลับสวรรค์ เทพธิดาข้าวได้โปรดให้ชาวนารู้ว่า ชาวนาต้องปลูกข้าวในเวลาที่เหมาะสม โดยจะส่งดอกมะลิให้ปรากฏเป็นดาว 3 ดวงที่เข็มกลัดของดาวนายพราน (Orion) ในท้องฟ้าให้เห็น

อ่านเพิ่มเติมจาก “On the Origin of Stories: Evolution, cognition and fiction โดย Brian Boyd จัดพิมพ์โดย Belknap Press ปี 2009
ภาพประกอบเรื่องเล่า Cinderella โดย Anne Anderson
ภาพประกอบเรื่องเล่า  Little Red Riding Hood หรือ หนูน้อยหมวกแดง โดย Arthur Rackham






เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น