เต่าน้ำจืดหายากในกัมพูชาเพิ่งฟักเพิ่มมา 9 ตัว จุดประกายความหวังในการอนุรักษ์เต่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หลังจากชาวบ้านไปพบรังไข่เต่าริมแม่น้ำที่เกาะกง ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่พบเต่าดังกล่าว
เต่าหลวงกัมพูชา (Cambodian royal turtle) เพิ่งฟักออกจากไข่ 9 ตัว หลังชาวบ้านไปพบรังที่มีไข่เต่าชนิดนี้ 14 ฟองอยู่บนกองทรายริมแม่น้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกง ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่พบเต่าชนิดนี้อาศัยอยู่ในกัมพูชา โดยเต่าหลวงกัมพูชาได้ชื่อนี้เนื่องจากในอดีตมีเพียงราชวงศ์ของกัมพูชาเท่านั้นที่บริโภคไข่เต่าชนิดนี้ได้
ก่อนหน้านี้เชื่อว่าเต่าน้ำจืดชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วในกัมพูชาเมื่อปี 2000 จนกระทั่งได้ค้นพบประชากรเต่าจำนวนหนึ่งอีกครั้งที่แม่น้ำซแรอัมเบล (Sre Ambel river) ซึ่งนับแต่นั้นสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WSC) และรัฐบาลกัมพูชาได้ต่างพยายามปกป้องเต่าสปีชีส์นี้ ด้วยโครงการจ้างอดีตผู้เก็บไข่เต่าให้มาทำหน้าที่ค้นหาและพิทักษ์รังเต่าแทน
ทางด้านสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแถลงว่า สำหรับลูกเต่า 9 ตัวที่เพิ่งฟักออกมานั้นจะไปอยู่รวมกับเต่าอีก200 ตัว ที่อยู่ในศูนย์อนุรักษ์ใกล้ๆ เพื่อให้ศูนย์เลี้ยงดู และอาจจะขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต และทางสมาคมยังเตือนด้วยว่า การขุดทราย การตัดไม้และทำประมงอย่างผิดกฎหมายนั้น ยังคงคุกคามเต่าหลวงที่เหลืออยู่น้อยในธรรมชาติ
ด้าน สม สิทธา (Som Sitha) ที่ปรึกษาเชิงเทคนิคของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับการอนุรักษ์เต่าหลวงกัมพูชาว่า ปีนี้เพิ่งพบรังไข่เต่าเพียงรังเดียว ขณะที่ปี 2016 พบสองรัง และปี 2015 พบสามรัง
การทำลายป่าและลักลอบตัดไม้นั้นได้กวาดล้างสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์ในกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนและมีปัญหาคอรัปชันมากที่สุดในเอเชีย โดยเมื่อปีที่แล้วมีประกาศว่าเสือได้สูญพันธุ์ไปจากกัมพูชาแล้ว โดยมีภาพสุดท้ายของแมวใหญ่บันทึกได้ด้วยกล้องดักถ่ายเมื่อปี 2007