ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถหาคำตอบได้ว่า “เบบี้หลุย” ตัวอ่อนไดโนเสาร์ปริศนาในเปลือกไข่นั้นคือไดโนเสาร์ชนิดใด พบเป็นไดโนเสาร์นกยักษ์สปีชีส์ใหม่ที่ทำรังใหญ่กว่ารถบรทุก โดยเคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 90 ล้านปีก่อน และเป็นสปีชีส์ที่ 2 ของไดโนเสาร์คล้ายๆ กันนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ
“เป่ยเป่ยหลง ไซเนนซิส” (Beibeilong sinensis) เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์นกยักษ์ที่พบทางตอนกลางของจีน ตามรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ชื่อดังกล่าวมีความหมายว่า “ลูกมังกรจากจีน” โดยรายละเอียดของการศึกษาได้เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications)
ไดโนเสาร์ที่มีขนเหมือนนกนี้เป็นไดโนเสาร์ไจแอนท์โอวิแรปตอโรซอร์ (giant oviraptorosaur) สปีชีส์ที่ 2 ที่ค้นพบ และเคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 90 ล้านปีก่อน อีกทั้งจากการเปรียบเทียบญาติที่ใกล้ชิด คาดว่าไดโนเสาร์สปีชีส์นี้มีความยาวประมาณได้ถึง 8 เมตร และหนักได้ถึง 3,000 กิโลกรัม
ดาร์ลา เซเลนิตสกี (Darla Zelenitsky) นักบรรพชีวินวิทยาชาวแคนาดา จากมหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary) ผู้ร่วมศึกษาไดโนเสาร์นกยักษ์ชนิดนี้เผยแก่เอเอฟพีว่า ไดโนเสาร์เป่ยเป่ยหลงนั้นดูคล้ายนักยักษ์บินไม่ได้คล้ายๆ นกอีมู (emu) แต่มีขนาดใหญ่ยักษ์ และยังมีจงอยปากไร้ฟันที่แข็งแรง รวมถึงหงอนบนหัว
เซเลนิตสกีบอกอีกว่า เป็นปริศนามานานหลายปีว่าไดโนเสาร์สปีชีส์ไหนที่วางไข่ขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งจากการจำแนกโครงกระดูกลูกไดโนเสาร์ในการศึกษาครั้งนี้ เผยให้เห็นว่าไข่ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่นั้นเป็นของไดโนเสาร์ไจแอนท์โอวิแรปตอโรซอร์ โดยไดโนเสาร์กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย
การค้นพบครั้งนี้ได้จากศึกษาโครงกระดูกไดโนเสาร์และฟอสซิลไข่อันโด่งดังที่ชื่อว่า “เบบี้หลุย” (Baby Louie) ซึ่งเป็นหนึ่งในฟอสซิลที่อยู่รวมกับฟอสซิลไข่หลายพันฟองจากหินยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ที่ถูกขุดและเก็บโดยเกษตรกรท้องถิ่นในตอนหลางของมณฑลเหอหนาน (Henan province) เมื่อปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990
ในรายงานการศึกษาระบุด้วยว่าตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ถูกซื้อขายกันอย่างผิดกฎหมาย และถูกลักลอบนำเข้าสหรัฐฯ และจัดแสดงให้มวลชนชมกันที่พิพิธภัณฑ์เด็กอินเดียนา (Indianapolis Children's Museum) โดยในการซื้อขายอย่างผิดกฎหมายนั้นเกษตรกรชาวจีนได้พบตัวอ่อนไดโนเสาร์เป่ยเป่ยหลงและไข่ในมณฑลเหอหนาน จากนั้นได้ขายให้บริษัทซื้อขายฟอสซิลของอเมริกันชื่อ “เดอะสโตน” (The Stone Co.) ซึ่งนำฟอสซิลเข้าสหรัฐฯ
ภาพตัวอ่อนที่ขดตัวอยู่ในเปลือกไข่บนหน้าปกที่โด่งดังบนปกวารสารเนชันนัลจีโอกราฟิก (National Geographic) เมื่อปี 1996 คือภาพฟอสซิลที่ซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย และฟอสซิลนั้นก็ได้ชื่อเล่นว่า “เบบี้หลุย” แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าฟอสซิลดังกล่าวคือไดโนเสาร์ชนิดใด
ด้วยน้ำหนักไข่ที่มากถึง 11 ปอนด์ ทำให้ฟอสซิลดังกล่าวเป็นไข่ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกขุดพบ และบางคนก็เชื่อว่า ไข่ไดโนเสาร์นี้อาจเป็นของไทแรนนอซอร์ (tyrannosaur) หรือที-เรกซ์ (T-rex) และแม้รูปร่างหน้าตาของไข่จะคล้ายโอวิแรปตอโรซอร์ แต่ในยุค 1990 นั้นไข่ของโอวิแรปตอโรซอร์เล็กกว่าไจแอนท์โอวิแรปตอโรซอร์ถึง 10 เท่า และยุคนั้นยังพบโอวิแรปตอโรซอร์แค่สปีชีส์ที่มีขนาดเล็ก และไม่น่าจะวางไข่ที่หนัก 4-5 กิโลกรัมได้
กระทั่งเมื่อปี 2007 นักวิทยาศาสตร์ในจีนได้ค้นพบไจแอนท์โอวิแรปตอโรซอร์สปีชีส์แรก หลังจากรอถึง 12 ปี ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ทราบว่ามีโอวิแรปตอโรซอร์ที่สามารถวางไข่ขนาดใหญ่ได้ และหากรังของไดโนเสาร์นกยักษ์นี้เหมือนรังโอวิแรปตอโรซอร์ขนาดเล็ก ไจแอนท์โอวิแรปตอโรซอร์ก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เราทราบว่ากกไข่ด้วย
แม้ว่าทางพิพิธภัณฑ์เด็กอินเดียนาโพลิสจะแสดงเจตจำนงที่คืนฟอสซิลของจีนกลับคืนถิ่น แต่กว่าจะบรรลุข้อตกลงก็ใช้เวลาถึงปี 2013 และตอนนี้ฟอสซิลเบเบี้หลุยได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาเหอหนาน (Henan Geological Museum) แล้ว และด้วยปัญหาทางด้านกฎหมายกว่าที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนและแคนาดาจะได้เริ่มศึกษาฟอสซิลของเบเบี้หลุยและตัวอย่างอื่นๆ ก็ต้องรอให้ฟอสซิลกลับคืนถิ่นเรียบร้อยเสียก่อน