xs
xsm
sm
md
lg

ท่องไปในช่องว่างวงแหวนและดาวเสาร์ (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นาซาเผยคลิปขณะยานแคสสินีโคจรเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีแม้แต่ฝุ่นผง

คลิปใหม่จากองค์การบริหารการบินอวหาศสหรัฐฯ (นาซา) ใช้ภาพที่ยานอวกาศแคสสินี (Cassini spacecraft) บันทึกไว้เรียงต่อกันจนเป็นภาพเคลื่อนไหว และเผยให้เห็นมุมมองขณะยานผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ในภารกิจแกรนด์ฟินาเล่ (Grand Finale) ครั้งแรกเมื่อ 26 เม.ย.2017 ที่ผ่านมา



คลิปดังกล่าวรวมการสำรวจนาน 1 ชั่วโมงของยานแคสสินีระหว่างเคลื่อนที่จากเหนือลงใต้ไปรอบดาวเสาร์ โดยเริ่มต้นเผยให้เห็นพายุหมุนหกเหลี่ยมที่ขั้วเหนือของดาวเสาร์ และเคลื่อนเรื่อยๆ ออกไปจากขอบด้านนอกพายุ อีกทั้งนาซายังได้เปรียบเทียบภาพจากกล้องบนยานแคสสินีกับแอนนิเมชั่นขณะยานเคลื่อนที่ไปรอบดาวเสาร์

คูนิโอะ ซายานากิ (Kunio Sayanagi) ผู้ช่วยของทีมบันทึกภาพจากภารกิจยานแคสสินีซึ่งมีฐานปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยแฮมป์ตัน (Hampton University) ในเวอร์จิเนีย และเป็นผู้ช่วยผลิตคลิปใหม่นี้ กล่าวว่าสิ่งที่ประหลาดใจที่สุดคือรูปร่างของขอบด้านนอกพายุหมุนหกเหลี่ยมและผนังตาพายุที่ขั้วดาวที่มีหลายรูปร่าง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีบางอย่างที่ละติจูดต่างกันซึ่งช่วยคงขอบเหล่านั้นไว้

ส่วนท้ายๆ คลิปกรอบภาพหมุนไปตามการหมุนของยานที่ปรับจานรับสัญญาณ ซึ่งใช้เป็นเกราะป้องกันระหว่างเคลื่อนเข้าไปในระนาบของวงแหวนดาวเสาร์ ขณะที่ภาพถูกบันทึกนั้นความสูงของยานแคสสินีเหนือเมฆลดระดับลงจาก 72,400 กิโลเมตร ลงไปถึง 6,700 กิโลเมตร และความละเอียดของภาพเปลี่ยนจาก 8.7 กิโลเมตรต่อพิกเซล เป็น 810 เมตรต่อพิกเซล

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์จากนาซายังประหลาดใจเมื่อพบว่า บริเวณที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อนนี้เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีแม้แต่ฝุ่นอวกาศ

ทั้งนี้ ยานแคสสินีได้ทิ้งทวนด้วยภารกิจสุดท้ายที่เรียกว่าปฏิบัติการ “แกรนด์ฟินาเล่” (Grand Finale) ด้วยการโคจรเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ ครั้งแรกเมื่อ 26 เม.ย.และครั้งที่ 2 เมื่อ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับดาวเคราะห์ 77,000 ไมล์ต่อชั่วโมง และยานแคสสินีจะผ่านเข้าไปในช่วงว่างดังกล่าวทั้งหมด 22 รอบ ก่อนจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์เพื่อปิดฉากตัวเองในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

ยานแคสสินีสูง 6.7 เมตร ถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1997 และเริ่มเข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์เมื่อปี 2004 ซึ่งปฏิบัติการยาวนาน 20 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนาซา องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) และองค์การอวกาศอิตาลี (Italian Space Agency)






กำลังโหลดความคิดเห็น