xs
xsm
sm
md
lg

ยานแคสสินีพบช่องว่างดาวเสาร์และวงแหวน "ว่างเปล่า” ไม่มีแม้แต่ฝุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพเปรียบเทียบข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นเมื่อยานผ่านเข้าไปในส่วนที่บางที่สุดของวงแหวน (บน) และเมื่อยานผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ (ล่าง) - Credits: NASA/JPL-Caltech/University of Iowa
นาซาเผยผลจากการผ่านช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ของ “ยานแคสสินี” ที่ปฏิบัติการทิ้งทวนก่อนปิดฉากตลอดกาล พบช่องว่างดังกล่าวว่างเปล่าไม่มีแม้แต่ฝุ่น

นักวิทยาศาสตร์องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยว่าหลังจากยานแคสสินี (Cassini) ยานอวกาศไร้คนขับบินผ่านช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ไป 2 รอบแล้ว พวกเขาประหลาดใจเมื่อพบว่า บริเวณที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อนนี้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีแม้แต่ฝุ่นอวกาศ

เอิร์ล ไมซ์ (Earl Maize) ผู้จัดการโครงการแคสสินี ประจำห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันของนาซา ในพาสาดีนา แคลิฟอร์เนีย เผยหลังยานอวกาศผ่านช่องว่างดังกล่าวครั้งแรกเมื่อ 26 เม.ย.2017 ที่ผ่านมาว่า บริเวณระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์นั้น “ว่างเปล่า” อย่างปรากฏได้ชัด

สำหรับวงแหวนดาวเสาร์นั้นประกอบไปด้วยอนุภาคของน้ำแข็งและเศษซากอวกาศที่เคลื่อนที่ไวสูง ส่วนวงแหวนและชั้นบรรยากาศด้านบนสุดของดาวเสาร์นั้นมีช่องว่างกว้างประมาณ 2,400 กิโลเมตร

ยานแคสสินีได้ทิ้งทวนด้วยภารกิจสุดท้ายที่เรียกว่าปฏิบัติการ “แกรนด์ฟินาเล่” (Grand Finale) ด้วยการโคจรเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนและดาวเสาร์ ครั้งแรกเมื่อปลายเดือน เม.ย.และครั้งที่ 2 เมื่อ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความเร็วสัมพัทธ์กับดาวเคราะห์ 77,000 ไมล์ต่อชั่วโมงและยานแคสสินีจะผ่านเข้าไปในช่วงว่างดังกล่าวทั้งหมด 22 รอบ ก่อนจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์เพื่อปิดฉากตัวเองในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

ยานแคสสินีสูง 6.7 เมตร ถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1997 และเริ่มเข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์เมื่อปี 2004 ซึ่งปฏิบัติการยาวนาน 20 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนาซา องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) และองค์การอวกาศอิตาลี (Italian Space Agency)






กำลังโหลดความคิดเห็น