xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าสร้าง “หอดูดาวภูมิภาค” แห่งที่ 4 ที่พิษณุโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพร่าง) ผังแม่บทหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก
สดร. จับมือ ม.นเรศวร เดินหน้าก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 4 ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร หวังเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในเขตภาคเหนือตอนล่าง กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ประชาชนให้ทั่วถึง เล็งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการแห่งใหม่ของพิษณุโลก

มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) แถลงข่าวโครงการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก โดยรองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมแถลง ณ ห้องประชุมเสลา 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ 8 พ.ค.60

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สดร.​ ในฐานะองค์กรหลักด้านดาราศาสตร์ของประเทศ มีภารกิจหลักประการหนึ่งในการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินภารกิจของสถาบันฯ หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์สำคัญที่ สดร. กำหนดแผนก่อสร้างทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น

สำหรับจังหวัดพิษณุโลก นับเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ลำดับที่ 4 ที่อยู่ในแผนดำเนินการ สดร. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่อนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ในบริเวณมหาวิทยาลัยนเรศวร ประมาณ 25 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ของหอดูดาวฯ ทั้งนี้ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดตั้งและดำเนินงานก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พิษณุโลก กับมหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อวันที่ 30 มี.ค.60 ที่ผ่านมา

“นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเข้าสู่ กระบวนการวางแผนก่อสร้างหอดูดาวฯ ต่อไป ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างหอดูดาวฯ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ สำหรับประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง” รศ.บุญรักษาระบุ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พิษณุโลก เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 4 ที่อยู่ในแผนดำเนินการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่

1.หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2557

2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บริเวณ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อสร้างแล้วเสร็จ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการปลายปี 2560

3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตั้งอยู่บริเวณเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายใน ปี 2560

“สำหรับหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ทั้ง 5 แห่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานนามว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตามด้วยชื่อจังหวัดนั้นๆ” รศ.บุญรักษาระบุ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก ได้แก่

1.อาคารฉายดาว ประกอบด้วย โดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดม ดิจิทัล ความละเอียดมากกว่า 25 ล้านพิกเซล และส่วนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์

2.อาคารหอดูดาว ประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาส ทรงเปลือกหอยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร พร้อมอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ เช่น เครื่องถ่ายภาพซีซีดี สเปกโทรกราฟ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่นๆ มีส่วนระเบียงดาวภายใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกจำนวน 5-6 ชุด สำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้าและจัดกิจกรรมดาราศาสตร์

รศ.บุญรักษาระบุว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ พิษณุโลก จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคเหนือตอนล่าง กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการให้บริการทางดาราศาสตร์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้บริการถ่ายทอดความรู้ทางดาราศาสตร์ การให้บริการสารสนเทศดาราศาสตร์ การจัดค่ายดาราศาสตร์ การอบรมครูดาราศาสตร์ การจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ รวมถึงสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา

ด้าน ณฐกร โซ่จินดามณี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ให้ความเห็นว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ พิษณุโลกแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาทั้งความรู้ และพัฒนาคนในจังหวัดพิษณุโลก และในเขตภาคเหนือตอนล่าง นอกจากความรู้และความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังจะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

ส่วนกีรติ คำคงอยู่ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น เปิดเผยความรู้สึกในฐานะชาวพิษณุโลกว่า ในนามของคนพิษณุโลก ขอขอบคุณทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาด้านดาราศาสตร์โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประชาชนและคนในท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลก มุ่งปลูกฝังความรู้ด้านดาราศาสตร์และเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงคนในจังหวัดใกล้เคียง

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับประโยชน์ จากหอดูดาวเพื่อประชาชนแห่งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านกิจกรรมดาราศาสตร์ เครื่องมือทางดาราศาสตร์ และสื่อการสอนทางดาราศาสตร์ เพื่อให้เยาวชน ประชาชนในท้องถิ่นของเรา ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต” กีรติกล่าว
(ภาพร่าง) อาคารหอดูดาว หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พิษณุโลก
(ภาพร่าง) อาคารหอดูดาว หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พิษณุโลก

พื้นที่ก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่


กีรติ  คำคงอยู่ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น






กำลังโหลดความคิดเห็น