xs
xsm
sm
md
lg

ชมกันหรือยัง 5 ภาพวาดฝีมือหุ่นยนต์คนไทย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

King Bhumibol Adulyadej
แม้ว่าศิลปินจะล่วงลับไปแล้วแต่ในอนาคตทักษะของพวกเขาจะยังคงอยู่ ด้วยความฉลาดของหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สามารถเก็บข้อมูลรูปแบบการสร้างสรรค์งานศิลปะของพวกเขาไว้ได้ และห่นยนต์ผลงานคนไทยก็กำลังพัฒนาทักษะดังกล่าว

ผศ.ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข จากห้องปฏิบัติการวิจัย CMIT Haptics & Robotics Lab ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สร้างงานศิลปะภาพวาดเข้าประกวดในการแข่งขันโรบอทอาร์ต 2017 (Robot Art 2017) เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับนานาชาติ

การแข่งขันหุ่นยนต์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์เอไอ (AI) หรือการประมวลภาพ (Image Processing) กับงานศิลปะ ซึ่งมีสถาบันการศึกษาและห้องปฏิบัติการจากทั่วโลกรวม 38 ทีม สร้างสรรค์ผลงานศิลปะรวม 198 ผลงานเข้าแข่งขัน เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยโตรอนโต ศูนย์วิจัยเอบีบีคอร์ป (ABB Corp.) จากเยอรมนี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะส่งผลงานในรูปแบบคลิปแข่งขันทางเว็บไซต์ https://robotart.org/ โดยหุ่นยนต์จะต้องใช้พู่กันติดตั้งที่ปลายแขนหุ่นยนต์ ห้ามใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ และใช้สีได้ 8 สีในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ระหว่างการวาดภาพสามารถนำสีมาผสมกันเพื่อสร้างสีใหม่ออกมาได้ ใช้เวลาได้ไม่จำกัด ผลงานที่ส่งเข้าร่วมมี 2 ประเภทด้วยกันคือ 1.ทำซ้ำผลงานเดิมที่มีอยู่แล้ว (Re-interpreted Artwork) และ 2.สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคใหม่ (Original Artwork)

สำหรับห้องปฏิบัติการวิจัย CMIT Haptics & Robotics Lab ได้ส่งทีม CMIT ReArt เข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ โดยได้พัฒนาออกแบบสร้างหุ่นยนต์เดลตาโรบอท (Delta robot) และระบบการควบคุมสำหรับช่วยเหลือการทำงานมนุษย์ ซึ่งจุดเด่นของงานคือการใช้เทคโนโลยีแฮปติกส์ (Haptics) ในการส่งผ่านข้อมูลแรงสัมผัส และตำแหน่ง ของศิลปิน สามารถเก็บบันทึกทักษะการทำงานของคนเป็นไฟล์ดิจิทัลที่ตั้งชื่อว่าแฮปติกส์ไฟล์ (Haptics file) ออกมาและเล่นซ้ำได้

"เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลาย 100 ปี ก็ยังสามารถเล่นซ้ำการวาดภาพของศิลปินที่เคยสร้างสรรค์ไว้ในอดีตออกมาให้แก่คนรุ่นหลังเพื่อทำการศึกษาต่อไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลแรงสัมผัส และตำแหน่งมาวิเคราะห์ ตัดต่อ หรือปรับปรุงทักษะการทำงาน (Haptics Processing) ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อีกด้วย” ผศ.ดร.เชาวลิตระบุถึงข้อดีของเทคโนโลยีแฮปติกส์

ผศ.ดร.เชาวลิตระบุว่าว่าเทคโนโลยีนี้รวมข้อดีของคนและหุ่นยนต์ ในส่วนของคนนั้นมีทักษะและประสบการณ์ในทำงาน แต่คุณภาพของงานนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ ขณะที่หุ่นยนต์ไม่มีทักษะการทำงานและไม่เข้าใจงานศิลปะ แต่สามารถทำงานซ้ำๆ ได้ดีและถูกต้องแม่นยำกว่าคน ซึ่งเป้าหมายของเทคโนโลยีนี้จะช่วยรักษาเทคนิคการวาดของศิลปินในอนาคตแม้ว่าศิลปินลาจากโลกไปแล้ว อีกทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้หรือทำงานได้ดีกว่าศิลปิน

หุ่นยนต์ทั่วไปทำงานโดยอาศัยข้อมูลตำแหน่งเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับหุ่นยนต์วาดภาพที่ ผศ.ดร.เชาวลิต และทีม CMIT ReArt ออกแบบนั้น อาศัยทั้งข้อมูลตำแหน่งและข้อมูลแรงสัมผัสหรือการลงน้ำหนักหนักเบาของพู่กัน เพื่อบันทึกและวาดภาพซ้ำๆ ได้

ในการแข่งขันโรบอทอาร์ต 2017ครั้งนี้ หุ่นยนต์เดลตาโรบอทของทีม CMIT ReArt ได้วาดภาพทั้งหมด 5 ภาพ คือ ภาพ 1.King Bhumibol Adulyadej ซึ่งมีต้นแบบจากเหรียญ 5 บาทของไทย 2.Steve Jobs ภาพเหมือนของสตีฟ จ็อบส์ 3.The Starry night ภาพวาดราตรีประดับดาวซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent van Gogh) หรือที่คนไทยคุ้นในชื่อ วินเซนต์ แวน โก๊ะ 4.Bohr Model ภาพแบบจำลองอะตอมของ นีลส์ บอร์ (Neils Bohr) และ 5.Record เป็นภาพแผ่นเสียง

ในจำนวน 5 ภาพที่ทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ส่งเข้าประกวดนั้น มี 2 ภาพ คือ ภาพ Bohr Model และภาพ Record ที่ไม่มีศิลปินต้นแบบในการวาด และจัดอยู่ในประเภทสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคใหม่ของการแข่งขัน ซึ่ง ผศ.ดร.เชาวลิต ระบุว่าได้เพิ่มจานหมุนเพื่อช่วยในการวาด ทำให้วาดง่ายกว่าภาพที่ศิลปินทำมาก่อน เพราะมีจานหมุนด้านล่างช่วยวาดรูปให้กลม ส่วนภาพที่วาดยากที่สุดคือ ภาพ "ราตรีประดับดาว" เพราะต้องผสมสีระหว่างการวาดและไล่สีเป็นชั้นหลายๆ ชั้นด้วยกัน

“ภาพ "ราตรีประดับดาว" เป็นผลงานชิ้นเอกโดยแวนโก๊ะ ซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก และเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา ภาพนี้เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1889 โดยเป็นภาพภูมิทัศน์ในตอนกลางคืนนอกหน้าต่างสถานบำบัดที่ แซงต์ เรมี เดอ โพรวองซ์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหุ่นยนต์ได้ใช้เทคนิคระบายสีเป็นชั้นๆ ซ้อนกัน โดยใช้สี ขาว แดง เหลือง ดำ เขียวและน้ำเงิน และระหว่างการระบายสีได้ผสมสีใหม่ขึ้น เช่น สีเหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน และ น้ำตาล และใช้พู่กันเบอร์ 1 มาติดตั้งที่หุ่นยนต์ ซึ่งใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง 50 นาที ขนาดแฮปติกส์ไฟล์ขนาด 3.563 กิกะไบต์ ผลงานชิ้นนี้เป็นภาพวาดที่มีความยาก และซับซ้อนมากที่สุด” ผศ.ดร.เชาวลิตระบุ

ส่วนเกณฑ์ในการเลือกภาพวาดนั้น ผศ.ดร.เชาวลิตระบุว่า เลือกจากบุคคลที่สร้างแรงบรรดาลใจให้กับการดำเนินชีวิตครับ จึงวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นภาพแรก เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ส่วน สตีฟ จ็อบส์ เป็นนวัตกรชั้นนำของโลกผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลและสร้างแรงบัลดาลใจให้แก่คนสร้างนวัตกรรมรวมถึงบุคคลทั่วไป และเลือกวาดภาพราตรีประดับดาวเพราะเขาชื่นชอบเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานของแวนโก๊ะมานานแล้ว ภาพดังกล่าวยังเป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก และยังเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของแวนโก๊ะ

“สำหรับภาพแบบจำลองของบอร์เป็นภาพที่อธิบายลักษณะอะตอม มีนิวเคลียสขนาดเล็กล้อมรอบไปด้วยอิเล้กตรอนเคลื่อนที่เป็นวงโคจรเป็นชั้นๆ ด้วยขนาดและพลังงานคงที่ ภาพวาดชิ้นนี้ใช้สีที่เย็นและร้อนแรงแทนวงโคจรที่มีระดับพลังงานที่แตกต่างกัน และติดตั้งจานหมุนควบคุมความเร็วกับกระดานรองเขียนเพื่อช่วยในการระบายสีและ ผสมสี โครงสร้างของภาพเป็นวงกลมและมีความสมมาตร ใช้เทคนิคการระบายสีระหว่างการหมุน ทำให้ได้วงกลมที่มีความสมมาตร โดยมีสี ขาว เหลือง เขียว น้ำเงิน แดง และ ดำ ระหว่างการระบายสีได้มีการผสมสีใหม่เกิดขึ้น เช่น สีเทา สีเหลืองอ่อน และ สีม่วง" ผศ.ดร.เชาวลิตอธิบาย

ส่วนภาพ Record ซึ่งเป็นภาพแผ่นเสียงนั้นเป็นการเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์บันทึกประสบการณ์การสัมผัส ทักษะการทำงานของคน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเทคนิคการสร้างระบบควบคุมของหุ่นยนต์เดลตาโรบอท และได้ติดตั้งจานหมุนควบคุมความเร็วกับกระดานรองเขียนเพื่อช่วยในการระบายสี ทำให้ได้วงกลมที่มีความสมมาตร ใช้เทคนิคการระบายสีด้วยการลงน้ำหนักเบา แรง แตกต่างกันเพื่อสร้างน้ำหนักลายเส้นที่แตกต่างกันออกไป

“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือกลไกหุ่นยนต์ และ ระบบควบคุมช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์ ถูกออกแบบ และพัฒนาจากห้องปฏิบัติการของเราเองทั้งหมดครับ สามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับงานด้านอุตสาหกรรม และการแพทย์ได้ครับ” ผศ.ดร.เชาวลิตซึ่งจบปริญญาเอกด้านหุ่นยนต์เพื่อใช้งานด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนากาโอกะ (Nagaoka University of Technology) ประเทศญี่ปุ่นกล่าว
หุ่นยนต์เดลตาโรบอทวาดภาพ The Starry night
หุ่นยนต์เดลตาโรบอทวาดภาพ Record
หุ่นยนต์เดลตาโรบอทวาดภาพ Bohr Model
ภาพ Steve Jobs โดยหุ่นยนต์เดลตาโรบอท

ภาพ Bohr Model
ภาพ Record
ผู้สนใจติดตามผลงานภาพวาดของหุ่นยนต์เดลตาโรบอลได้ที่
1) King Bhumibol Adulyadej



(YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=44PVrilYm9g)

2) Steve Jobs



(Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=ollzO0X_Mmw)

3) The Starry night



(Youtube1: https://www.youtube.com/watch?v=3pgftBhorFY&t=309s)



(Youtube2: https://www.youtube.com/watch?v=j3GBlbAEgpo)

4) Bohr Model



(Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=g1yL2cHPV_M)

5) Record



(Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=vxmBbS6hXzw)

ร่วมโหวตและแชร์ผลงานของ CMIT ReArt จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการแข่งขันโรบอทอาร์ต 2017

วิธีการเข้าร่วม Vote
1.เข้าไปที่ https://robotart.org/ กดปุ่ม Sign up to vote
2.กดปุ่ม Sign in with Facebook จะได้รับ 20 Votes
3.เข้าไปที่ https://robotart.org/team/profile/cmit-reart/ หรือ กดเลือก Teams และ เลือก CMIT ReART
4. กดเลือกที่ผลงานศิลปะ และกดปุ่มVote up สีส้มด้านบน ผลงานศิลปะ 1 ชิ้นกด โหวตได้ 3 ครั้ง
5. โหวตได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2017






กำลังโหลดความคิดเห็น