วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามเตรียมพร้อมลงแข่งรถพลังงานแสงอาทิตย์อีกครั้งปลายปีนี้ที่ออสเตรเลีย หลังเคยลองสนามร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเมื่อปี 2558 ร่วมลุ้นผลงานเทคโนโลยีคนไทย ต.ค.นี้
เมื่อปี 2558 วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ได้ส่งรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-1ร่วมการแข่งขันในงาน World Solar Challenge 2015 ที่ออสเตรเลีย ร่วมกับคู่แข่งอีก 50 ทีมจาก 25 ประเทศ ซึ่งมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเข้าร่วมด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยแต่ละทีมต้องขับรถพลังงานแสงอาทิตย์จากเมืองดาร์วินทางเหนือสุดของออสเตรเลียสู่เมืองถึงเมืองอะดิเลดซึ่งอยู่ทางใต้สุด ร่วมเป็นระยะทาง 3,022 กิโลเมตร
ในการแข่งขันครั้งนั้นตัวแทนจากประเทศไทยไม่สามารถคว้ารางวัลใดๆ แต่ ดร.ฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี และผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เผยว่าประสบการณ์ครั้งนั้น อาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมทีมได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้เทคโนโลยี-นวัตกรรมของรถพลังงานแสงอาทิตย์จากมหาวิทยาลัยดังๆ ระดับโลก และนำมาสานต่อเป็นรถ STC-2 รถพลังงานแสงอาทิตย์ฝีมือคนไทยที่พร้อมจะแข่งขันในเวทีการแข่งขันระดับโลกอีกครั้ง
“ครั้งแรกเราเริ่มจากศูนย์เลยจริงๆ เราไม่รู้ว่ารถพลังงานแสงอาทิตย์ต้องเป็นอย่างไร มีโครงสร้างแบบใด เราสร้างจากการดูภาพผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ครั้งนี้จะมีความน่าตื่นเต้นมากกว่าครั้งก่อน เพราะเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราได้เห็นรถของจริงจากประเทศต่างๆ เรานำข้อบกพร่องของเราเมื่อครั้งก่อนมาปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นรถ STC-2” ดร.ฐกฤตกล่าว
สิ่งที่ ดร.ฐกฤตและทีมงานจะต้องปรับปรุงจากปัญหารถ STC-1 มีด้วยกัน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.เรื่องมอเตอร์ที่ออกแบบมาไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในทะเลทรายซึ่งมีอุณหภูมิสูงมาก ทำให้เกิดความเสียหายระหว่าง การแข่งขัน
2.น้ำหนักของรถที่มากเกินไปจากชุดแบตเตอรี่และโครงสร้างของรถ ซึ่งใน STC-2 จะถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมด
3.ระบบส่งถ่ายกำลังในการขับเคลื่อนซึ่งใน STC-1 พบว่ามีการสูญเสียพลังงานจำนวนมากจากระบบส่งถ่ายกำลัง ซึ่งใน STC-2 จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด
4.ระบบกลไกในการเลี้ยวและเคลื่อนที่ ซึ่งใน STC-2 จะถูกออกแบบให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ในปี 2559 นี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามจะส่งรถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 ลงแข่งขัน World Solar Challenge 2017 ณ ประเทศออสเตรเลียอีกครั้ง โดยการแข่งขันจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-15 ต.ค.60
ตัวแทนจากประเทศไทยจะส่งรถพลังงานแสงอาทิตย์ลงแข่งขันทั้งหมด 2 คัน คือ STC-2 เอดิสัน (STC-2 Edison) จะลงแข่งในรุ่น Challenger Class ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพของรถ ความเร็ว และอื่นๆ โดยคันถึงเส้นชัยก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ อีกคันคือ STC-2 นิโคล่า (STC-2 Nikola) จะลงแข่งขันในรุ่น Curiser ซึ่งเป็นการแข่งขัน เน้นในเรื่องของการออกแบบรถให้สามารถใช้งานได้จริงตามท้องถนน และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า 1 คน เกณฑ์การแข่งขันจะวัดที่เรื่องการจัดการพลังงาน เทคโนโลยี ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย
รถพลังงานแสงอาทิตย์ STC-2 ทั้ง 2 รุ่นถูกออกแบบให้มีความเร็วเฉลี่ย 70-80 กม./ชม. (km/h) โดยตั้งงบประมาณในการสร้างไว้คันละประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งแต่ละทีมได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วและเริ่มสร้างได้ในเดือน เม.ย.นี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน หลังจากนั้นจะนำไปทดลองวิ่งที่สนามบินโพธาราม จ.ราชบุรี เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อทดสอบสมรรถนะ และหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไข ก่อนส่งไปประเทศออสเตรเลียทางเรือ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
“เราต้องเดินทางไปก่อนถึงวันแข่งขัน เพื่อนำรถไปทดสอบสมรรถนะให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายที่ทางกรมขนส่งทางบกของประเทศออสเตรเลียกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบความปลอดภัย การขับเคลื่อน การเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวาง การหยุดรถ ฯลฯ หลังจากทดสอบแล้วรถที่ผ่านการทดสอบจะได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขัน และจะได้ติดทะเบียนรถตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย” ดร.ฐกฤตระบุ
นอกจากนี้ระหว่างการแข่งขันทีมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามยังเปิดช่องทางสื่อสารให้แก่ผู้สนใจได้ร่วมติดตามข่าวคราวการแข่งขัน 4 ช่องทาง คือ 1.เฟซบุ๊กในชื่อ STC2 Nikola และ STC2 Edison 2.ทางเว็บไซต์ http://wsc.siamtechno.ac.th/ 3.อินสตาแกรมในชื่อ stc2.nikola และ stc2.edison และ4.ทวิตเตอร์ @Stc2Nikola และ @Stc2Edison พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์ทางเฟซบุ๊กตลอดการแข่งขันด้วย