xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประตูดาราศาสตร์ให้ “พนมเปญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม  เข้าพบและรายงานถึงการลงนามความร่วมมือระหว่าง  สดร.และมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ
แนวโน้มของโลกยุคใหม่คือการทลายกำแพงระหว่างชาติด้วยความรู้ ยิ่งไทยแลนด์จะเดินหน้าสู่เส้นทาง “4.0” แต่เพื่อนบ้านยังไปไม่ถึงไหน เราก็เองก็คงไปได้ไม่ไกล การแบ่งปันโอกาสทางดาราศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยพยุง “เขา” และ “เรา” ให้ก้าวไปด้วยกัน

ด้วยฐานะที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) องค์การมหาชนสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ได้รับหน้าที่ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก และเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีบทบาทในการสร้างความตระหนักและกระจายองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างทั่วถึง

สดร.ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการจัดประชุมเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จึงต้องเดินสายสรรหาผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางดาราศาสตร์ โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับตัวแทนจากประเทศลาว และเมื่อปี 2559 ได้ลงนามความร่วมมือกับพม่าและเวียดนาม

สำหรับปี 2560 นี้ สดร.เพิ่งลงนามบันทึกความเข้าใจด้านดาราศาสตร์กับมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ (Royal University of Phnom Penh) ของกัมพูชาเมื่อ 29 มี.ค.60 ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา หลังจากเมื่อ 7 ปีก่อนในการประชุมเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นขาดผู้แทนและผู้ประสานงานจากกัมพูชา ลาวและบรูไน จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือครั้งนี้

หลังการลงนามความร่วมมือแล้ว รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษเพื่อแนะนำสถาบันฯ และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์ของไทย ให้แก่นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญรับฟัง โดยหนึ่งในไฮไลท์คือหอดูดาวแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ที่มีกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร และสามารถควบคุมทางไกลได้ทั่วโลกผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต

นอกจากหอดูดาวแห่งชาติแล้ว รศ.บุญรักษาให้ข้อมูลเพิ่มว่า ไทยยังมีหอดูดาวภูมิภาคที่ให้บริการประชาชนและนักเรียนนักศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และไทยกำลังจะสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 40 เมตร เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก และเพื่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและทางด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก เช่น การเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิ

ไม่เพียงแค่กล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ไทยยังมีกล้องโทรทรรศน์อยู่ในต่างประเทศ เช่น ชิลี จีน ซึ่ง ผอ.สดร.กล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดาราศาสตร์เพราะเราต้องใช้ข้อมูลที่ดีเพื่อการศึกษาดาราศาสตร์ นอกจากนี้ สดร.ยังเป็นสถาบันแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องทำงานโดยแสวงหาความร่วมมือ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนนี้ สดร.ได้มีความร่วมมือด้านดาราศาสตร์กับนานาชาติ เช่น ยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดาและสหรัฐฯ

ทางด้าน นายเมียก คาเมแรน (Meak Kamerane) คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ บอกว่าดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา โดยในมหาวิทยาลัยมีเปิดสอนดาราศาสตร์เป็นเพียงรายวิชาหนึ่งของสาขาฟิสิกส์เท่านั้น และดาราศาสตร์ยังต้องอาศยโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก แต่ก็จะได้พัฒนาศาสตร์ทางด้านนี้เป็นขั้นๆ และคาดหวังว่าอนาคตจะได้ตั้งเป็นสถาบันเหมือน สดร.

ส่วน นายซอ จำรง (Sar Chamrong) นักศึกษาฟิสิกส์ชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ บอกว่าเขาได้เรียนดาราศาสตร์เพียงรายวิชาเดียวเท่านั้น และก็ไม่มีความรู้เรื่องการใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์เลย แต่หลังได้ฟังบรรยายจาก รศ.บุญรักษาแล้วทำให้เขาสนใจและอยากมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ของไทย และถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้ทุนไปศึกษาดาราศาสตร์ที่ไทย

ในความสนใจส่วนตัวนั้น ซอบอกว่าเราสนใจด้านไฟฟ้าและได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเซนเซอร์ชีวภาพ ซึ่งหลังจากเรียนจบแล้วจะทำอะไรต่อไปนั้นก็ต้องดูสถานการณ์ต่อไป โดยเขากำลังเตรียมสอบครูซึ่งเป็นอาชีพที่นักศึกษากัมพูชาให้ความสนใจ แต่หากสอบไม่ได้ก็จะพิจารณาเรียนต่อ และอาจพิจารณาด้านดาราศาสตร์ด้วย

ขณะที่ น.ส.วรรณ ธิดา (Voeun Thida) นักศึกษาฟิสิกส์ชั้นปีที่ 4 เพื่อร่วมชั้นของซอบอกว่า ดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นดี ได้ฟังบรรยายจาก รศ.บุญรักษาแล้วทำให้สนใจกล้องโทรทรรศน์และอยากใช้งานบ้าง และถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนต่อปริญญาโททางด้านดาราศาสตร์ แต่ตอนนี้กำลังเตรียมสอบครูและหากมีโอกาสก็อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

“จริงๆ เราก็เป็นเด็กต่างจังหวัด แต่เมื่อย้ายมาเรียนในเมืองหลวงเราก็ไม่มีโอกาสได้ดูดาว มีโอกาสได้กลับบ้านก็จะดูดาวบ้าง แต่ก็ดูเพื่อความสวยงาม และสอบถามข้อมูลจากพ่อแม่เกี่ยวกับตำนานดวงดาว ส่วนเรื่องในเชิงวิทยาศาสตร์นั้นเราไม่ค่อยรู้ความหมายเท่าไร นอกจากนี้เรายังชอบดูข้อมูลดาราศาสตร์ผ่านช่องทางยูทิวบ์ ชอบดูภาพแสงออโรราเพราะสวยดีด้วย” ซอและวรรณร่วมให้ข้อมูล

การไปเยือนพนมเปญครั้งนี้ รศ.บุญรักษาพร้อมคณะยังได้เข้าพบ นายดามพ์ บุญธรรม อัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เพื่อรายงานถึงการลงนามความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ ซึ่งนายดามพ์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาว่าในช่วงสถานการณ์ดีขึ้นมาก ทั้งปัญหาบริเวณชายแดนที่เริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา

“บรรยายภาพอย่างนี้ไม่มีมานานแล้ว” นายดามพ์เล่าภาพรวมในความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างไทยและกัมพูชาว่า นักเรียนนักศึกษาในกัมพูชาให้ความสำคัญต่อทุนการศึกษาพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทุนการศึกษาพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ปีละ 250-300 ทุน และเป็นทุนให้เปล่าแบบไม่มีข้อผูกมัดใดๆ

“ชาวกัมพูชาให้ความสนใจทุนนี้มาก แต่ละปีมีการแข่งขันสูงมาก เพราะเป็นทุนที่ไม่มีพันธะเลย ไปเรียนที่เมืองไทย พอจบกลับมาจะเลือกทำงานที่ไหนก็ได้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน” อัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญระบุ

นายดามพ์ให้ข้อมูลต่อว่า กัมพูชาเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตมาไม่นาน ในช่วงทศวรรษ 1960-1980 เป็นช่วงที่กัมพูชาขาดกำลังคน ประเทศต้องสร้างตัวขึ้นหลังจากสงครามที่เพิ่งสิ้นสุดไม่นาน ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 70% อายุน้อยกว่า 30 ปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ปี และอยู่ในช่วงวัยเรียนและวัยทำงาน

สำหรับภาพรวมด้านการศึกษาและบรรยากาศทางวิชาการของกัมพูชานั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 4 ด้าน ที่เรียกว่า “จตุโกณ” ด้านแรกคือการเกษตรซึ่งเป็นพื้นฐานของประเทศ ด้านที่สองคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ด้านที่สามคืออุตสาหกรรมที่เน้นการจ้างงาน และด้านที่สี่คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งความสนใจของเด็กจะสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เด็กและผู้ปกครองจะเลือกเรียนด้วยเป้าหมายว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีงานทำ

“อย่างด้านการเกษตรกัมพูชาก็ส่งออกข้าวและมันสำปะหลังที่มีคุณภาพเยอะ เขามีข้าวผาลำดวนเป็นข้าวที่ชนะข้าวหอมมะลิของไทย และได้จากการวิจัยการเกษตร ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเรียนทางด้านวิศวกรรมโยธาจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมาก เด็กจำนวนหนึ่งก็สนใจเรียนด้านการท่องเที่ยวและบริการกันมาก” นายดามพ์กล่าว

ทั้งนี้มีหลายชาติที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือกัมพูชา แต่สำหรับความช่วยเหลือทางด้านดาราศาสตร์นั้นนายดามพ์กล่าวว่ายังไม่เคยมี ซึ่งความร่วมมือระหว่าง สดร.และมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ ทางสถานทูตจะช่วยผลักดันให้ฝ่ายบริหารของกัมพูชารับทราบด้วย
การลงนามความร่วมมือดาราศาสตร์ระหว่าง สดร.และมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม บรรยายแนะนำสถาบันวิจัยดาราศาสตรื และโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ของไทย

นายเมียก คาเมแรน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ
นายเมียก คาเมแรน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ






กำลังโหลดความคิดเห็น