สดร.จัดกิจกรรม “ดาวพฤหัสฯ ใกล้โลก” ที่สุดในรอบปีกลางลานกิจกรรมห้างพารากอน ตั้งกล้องรอส่อง “สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสฯ”และ “จุดแดงใหญ่” หรือพายุใหญ่บนดาวพฤหัสฯ พร้อมตั้งโมเดลดาวเคราะห์ และกางโดมท้องฟ้าจำลองฉายภาพยนตร์สั้นดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดกิจกรรม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2560” วันที่ 8 เม.ย.60 ระหว่าง 18.00-22.00 น. ณ พาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ โดยมีนิทรรศการดาวพฤหัสฯ, ท้องฟ้าจำลองฟูลโดมดิจิทัล ซึ่งฉายภาพยนตร์สั้นดาราศาสตร์รอบละ 15 นาที เข้าชมได้รอบละ 40 คน และโมเดลจำลองดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ทั้งนี้ ดาวพฤหัสฯ เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2560 วันที่ 8 เม.ย.60 เวลา 04.28 น. ที่ระยะทางประมาณ 667 ล้านกิโลเมตร โดยจะปรากฏสว่างมากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงรุ่งเช้า โดยมีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (สำหรับความสว่างปรากฏของจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ พาทัวร์กิจกรรม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2560”
อย่างไรก็ตาม นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร.กล่าวว่า หากมองด้วยตาเปล่าอาจไม่เห็นความแตกต่างนัก แต่ในกิจกรรมครั้งนี้ได้ตั้งกล้องส่องปรากฎการณ์บนดาวพฤหัสฯ ที่น่าสนใจ 2 ปรากฎการณ์คือ ปรากฎการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสฯ จากการผ่านหน้าของดวงจันทร์ไอโอ (Io) ช่วงเวลา 19.00-20.00 น. และจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสฯ ช่วงเวลา 19.00-21.00 น.
ทว่าท้องฟ้าบริเวณจัดกิจกรรมที่พาร์คพารากอนนั้นถูกเมฆบดบังจึงไม่เห็นดาวพฤหัสฯ ได้ด้วยตาเปล่า แต่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร.เผยว่าพื้นที่จัดกิจกรรมของ สดร.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ อีก 3 จุดหลัก คือ เชียงใหม่ นครราชสีมาและฉะเชิงเทรานั้น สังเกตเห็นได้ พร้อมทั้งเผยแพร่ภาพของดาวพฤหัสฯ ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทัศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ที่ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์
นอกจากนี้ในช่วงเช้าของวันที่ 9 เม.ย.60 เวลาประมาณ 06.14 น.ยังสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์บริวารหลักของดาวพฤหัสฯ 4 ดวง ที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean Moons) คือ ไอโอ, ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymede) และคัลลิสโต (Calisto) รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี หากส่องด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก และหากสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้อง 8 นิ้วหนือกำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสได้อย่างชัดเจน
สำหรับจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสฯ นั้น ดร.ศรัณย์ อธิบายว่าเป็นพายุขนาดใหญ่ที่เกิดบนดาวพฤหัสฯ มาเป็น 100 ปี นับเป็นปรากฎการณ์ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจ หลังจากนี้ดาวพฤหัสฯ จะเข้าโลกมากที่สุดในรอบปีอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ค.61
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร. ให้สัมภาษณ์